อ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร...อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

คอลัมน์สุขทั้งแผ่นดิน/เสกสรร  สิทธาคม

อ่างเก็บน้ำคลองหลวงความจุน้ำประมาณ 110 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่กรมชลประทานจะก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำคลองหลวงขึ้นที่พิกัด 47 PQQ 546-804 แผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ระวาง 5235 และมีระบบส่งน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำโดยตรง  เพื่อส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกประมาณ 32,000 ไร่ ตามโครงการที่วางไว้ได้ จุดประสงค์หลักที่ได้วางโครงการก็เพื่อจะได้ก่อสร้างอย่างประหยัดและรวดเร็ว เป็นการแก้ไขการขาดแคลนน้ำ และยังช่วยบรรเทาอุทกภัยในฤดูน้ำอีกด้วย

พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเกี่ยวกับงานชลประทาน เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2525 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 

สุขทั้งแผ่นดิน ผมได้ไปยังพื้นที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อาณาบริเวณอยู่ในพื้นที่บ้านคลอง ตำบลท่าบุญมี อำเภอเกาะจันทร์  จังหวัดชลบุรี มาราวๆ สามครั้ง ล่าสุดไปมาเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 ไปกับกรมชลประทาน

เมื่อตอนต้นเดือนมกราคม 2559 สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ก็พาสื่อมวลชนไปเยี่ยมเยือนอ่างคลองหลวงฯ ไปดูศักยภาพแหล่งกักเก็บน้ำที่ก่อประโยชน์แก่ประชาชนมากมายมหาศาล อันเกิดจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการมาตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2508

เป็นการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนที่นำไปสู่การป้องกันน้ำท่วม เก็บกักน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งด้วยระบบท่อส่งน้ำและคลองดั้งเดิม ที่ทำให้หลายอำเภอของจังหวัดชลบุรี ซึ่งมีพื้นที่ลุ่มต่ำ ประชาชนทำการเกษตรเป็นหลัก หลุดพ้นความทุกข์เดือดร้อนซ้ำซากมาชั่วนาตาปีได้แล้ว

วันนี้อ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ถือว่าการจัดสร้างระบบการกักเก็บน้ำน่าจะเกือบสมบูรณ์แบบ แม้ว่าตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะยังต้องดำเนินการต่อไป เพราะยังมีรายละเอียดที่ต้องดำเนินการ ที่สำคัญระบบการส่งการระบายน้ำไปยังพื้นที่การเกษตร ซึ่งวันนี้อ่างเก็บกักและส่งน้ำให้ราษฎรได้แล้ว

เป็นแหล่งพัฒนาอาชีพได้แล้วในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อเป็นทั้งแหล่งอาหาร แหล่งอาชีพประมง น้ำเพื่อการเกษตรทั้งระยะสั้นและระยะยาว ไปจนถึงน้ำเพื่อการบริโภคอุปโภค น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม

นายชยันต์ เมืองสง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน สรุปข้อมูลให้ฟังว่า

“กว่าจะเป็นอ่างเก็บน้ำคลองหลวงฯอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ที่เกือบจะสมบูรณ์แล้วในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วมแก้ปัญหาภัยแล้งที่ประสบมายาวนาน กรมชลประทานได้ใช้เวลากว่า 50 ปี นั่นคือกรมชลประทานมีแผนดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2508 แผนก่อสร้างอ่างตั้งแต่ปี พ.ศ.2514

แต่พอปี พ.ศ.2515 ต้องชะลอโครงการ ต้องศึกษาปัญหาด้านวิศวกรรมเพิ่มเติม การพิจารณาองค์ประกอบโลหะหนักในแหล่งน้ำ ไปจนกระทั่งการจัดหาพื้นที่ให้ชาวบ้านที่ต้องถูกเวนคืน เพื่อให้เกิดความเหมาะสม ก่อประโยชน์สูงสุด มีผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด 

สุขทั้งแผ่นดิน จนถึงปี พ.ศ.2552 มติคณะรัฐมนตรีจึงได้อนุมัติดำเนินการก่อสร้าง กำหนดเวลาแล้วเสร็จ 7 ปี คือระหว่างปี พ.ศ.2553-2559 ด้วยวงเงิน 6,700 ล้านบาท และในปี พ.ศ.2558 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีอนุมัติกรอบวงเงินเพิ่มเพื่อขยายเวลาดำเนินการจาก 7 ปี เป็น 10 ปี จากปี พ.ศ.2553 เป็นปี พ.ศ.2562 ด้วยวงเงิน 9,341,364,700.00  บาท ที่จะต้องดำเนินการพัฒนาระบบท่อส่งน้ำ การดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดิน 

ไปจนกระทั่งการสร้างถนนรอบอ่าง เพื่อเป็นแนวป้องกันการบุกรุกในกาลข้างหน้าต่อไป”

นายชยันต์ บอกว่า ลุ่มน้ำคลองหลวงมีพื้นที่ประมาณ 1,800 ตารางกิโลเมตร เป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำบางปะกงตอนบน ครอบคลุมพื้นที่ 6 อำเภอ คือบ้านบึง พานทอง พนัสนิคม เกาะจันทร์ บ่อทอง และอำเภอเมืองชลบุรี 

ประโยชน์พื้นที่ที่จะได้รับคือ 44,000 ไร่ สามารถเก็บกักน้ำได้ถึง 98 ล้าน ลบม. ซึ่งนายชยันต์บอกว่า ประโยชน์ของอ่าง คือบรรเทาการเกิดอุทกภัยที่เกิดจากฝนตกหนักจนกลายเป็นน้ำป่าไหลหลากมาท่วม

“คลองหลวงเดิมไม่อาจระบายน้ำได้ทัน พื้นที่ประสบปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นอำเภอพานทอง และพนัสนิคม ซึ่งคลองหลวงรัชชโลทรฯจะช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวได้อย่างดีที่สุด แล้วในอนาคตเมื่อมีประชากรมากขึ้น ความต้องการน้ำก็มีมากขึ้น  ดังที่ผ่านมาโดยภาพรวมทุกภาคส่วนจะมีความต้องการใช้น้ำถึง 100 กว่าล้าน ลบม. และในปี พ.ศ.2559 ก็คาดว่าจะมีความต้องการใช้น้ำในทุกภาคส่วนในลุ่มน้ำคลองหลวงถึง 200 ล้าน ลบม.

นี่คือพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีพระวิสัยทัศน์ด้วยพระราชหฤทัยห่วงใยที่พระราชทานพระราชดำริให้จัดสร้างอ่างดังกล่าว” ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน กล่าว

การลงพื้นที่ทำให้ผมเห็นสภาพจริงว่า ในช่วงเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา น้ำกักเก็บไว้มีปริมาณที่มากพอสมควรทีเดียว ชาวบ้านสามารถได้รับประโยชน์  โดยเฉพาะเก็บกักน้ำ และช่วยบรรเทาอุทกภัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 ผ่อนคลายปัญหาน้ำท่วมพนัสนิคมและอำเภอพานทองได้ในระดับหนึ่งทีเดียว  

รวมทั้ง ณ วันนี้ ยังมีการจัดกลุ่มอาชีพต่างๆ หลากหลาย กลุ่มเพื่อร่วมกันพัฒนาอาชีพเสริมและอาชีพหลัก โดยมีกรมพัฒนาชุมชนเข้าไปพัฒนาอาชีพให้ เรียกว่าพัฒนาอาชีพคนขอบอ่าง 

เริ่มจากการส่งเสริมอาชีพเกษตร นำไปฝึกอบรมดูงาน เวลานี้จึงเกิดอาชีพหลักขึ้นแล้ว ณ อ่างเก็บน้ำคลองหลวง คือทำแพปลา มีถึงประมาณ 200 แพ ทำให้มีการจับปลาขาย นำไปแปรรูป เพราะสามารถจับปลาได้วันละหลายตัน มีเรือประมงในอ่างจับปลา แต่ห้ามใช้เครื่องมือไฟฟ้าเด็ดขาด แล้วนำไปขายที่แพเท่านั้น

ส่วนหนึ่งของปลานำไปสู่กลุ่มแม่บ้านที่เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน อย่างกลุ่มแม่บ้านเกษตรบ้านหนองชุมเห็ด ก็รวมกลุ่มกันนำปลาไปแปรรูปต่างๆ เช่น ปลาร้า ปลาส้ม  ที่ใช้ปลานิล ปลายี่สก ปลาขาว ปลากระดี่ เป็นต้น ขายปลีกกิโลกรัมละ 100  บาท  ขายส่งก็ตก 80 บาท

หรืออย่างกลุ่มบ้านหนองมะนาว ก็นำเอาสมุนไพรต่างๆ มาทำผลิตภัณฑ์แปรรูปเช่น ข้าวเกรียบ

กลุ่มน้ำพริก ก็ทำทั้งน้ำพริกเครื่องแกง หรือนำเอาพืชผักที่ปลูกมาเพิ่มมูลค่าโดยการแปรรูป เช่น นำเห็ดมาทำน้ำพริก เป็นน้ำพริกเห็ด คือกลุ่มแม่บ้านทำน้ำพริกเห็ดหมู่ 15 ที่รวมตัวกัน 10 คน กำลังปรุงน้ำพริกเห็ดที่นำเอาเห็ดนางฟ้า เห็ดขอน  เห็ดฟาง มาปรุงเป็นน้ำพริกที่รสชาติออกสามรส เก็บได้ราวหนึ่งอาทิตย์ ขาย กก.ละ 200 บาท แบ่งเป็นกระปุกก็ตก 2 ขีด ขาย 20 บาท 

นี่เป็นอาชีพเสริมตอนว่างงานหลัก

อีกราย เป็นเกษตรกรที่เคยอยู่หมู่ 15 แต่พื้นที่ถูกเวนคืน เพราะต้องเป็นส่วนหนึ่งของอ่าง ย้ายไปอยู่หมู่ 10 ทำนา ปลูกถั่ว ปลูกมะนาวแป้นพิจิตร วันนี้ผลผลิตขายได้แล้วผลละ 4 บาท ถ้าเผื่อไปรับสวนอื่นมาขายก็รับมา 3 บาท แล้วเอามาขายต่อ 4 บาท แต่เห็นว่าส่วนใหญ่ปลูกไว้กินเองมากกว่าจะขาย เว้นแต่ว่าจะมีคนมาซื้อก็ขาย

“แต่จะว่าไป ก็ทำทุกอย่างนะ เป็นเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ ตามที่ในหลวงทรงแนะนำ ขึ้นอยู่ว่าเราขยันมั้ย เราต้องคิดถึงแนวพระราชดำริพอเพียงให้มาก วันนี้มีที่ว่างก็ปลูกหมด เช่น พริกก็ปลูก ข้าวโพดอ่อน พริกกับข้าวโพดนี่ขายได้ ตอนแรกก็เป็นทุกข์ ที่โครงการเข้ามา กระทบเลยหละ 

แต่พอเราคิดถึงว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทำเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม เราเองถึงจะกระทบ แต่ก็ได้ประโยชน์ด้วย ไม่ใช่ไม่ได้ จึงยอมรับแล้วที่สุดก็ภูมิใจที่ทรงมีพระเมตตาแก่พวกเราทุกคน และคนไทยทั้งประเทศ

ชาวบ้านที่ต้องย้ายที่คนหนึ่งพูดด้วยรอยยิ้ม พร้อมย้ำว่า ไปอยู่กับเพื่อนบ้านใหม่เขาต้อนรับดีมาก มีอะไรเขาเอื้อเฟื้อหมด

สำหรับชื่อ “อ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร” เป็นชื่อที่ชนะการประกวดจากการที่จังหวัดชลบุรีจัดขึ้น ชื่อดังกล่าวสำนักราชเลขาธิการได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว

ลองไปดูจุดที่เป็นประตูระบายน้ำเดิมคลองหลวง ห่างจากตัวอ่างประมาณ 8  กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่บ้านท่าบุญมี ตำบลท่าบุญมี ชาวบ้านเรียกฝายทุ่งสะเดา 

นายสมชาย บุญเอี่ยม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 บ้านท่าบุญมี พร้อมชาวบ้านอีกราว 6-7  คน มารอต้อนรับ เพราะนัดหมายกับคณะเราไว้ บอกว่า “ก่อนที่จะมีพระราชดำริให้จัดสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร เวลาน้ำไหลบ่าในช่วงหน้าฝน คลองหลวงเดิมนี่ก็รับไม่ไหว น้ำหลากมาล้นเข้าท่วมพื้นที่ ท่วมข้าว ท่วมผลผลิตเสียหาย

พอหมดฝนน้ำก็ไหลไปหมด ชาวบ้านก็ได้แต่นั่งมองตาปริบๆ เพราะประตูฝายนี่เก็บกักน้ำไว้ได้นิดหน่อย พอได้ใช้บ้างในช่วงหน้าแล้ง เพราะน้ำจะไม่แห้ง แต่มีไม่มีมาก

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 มา ทำนาปรังได้ เพราะอ่างกักเก็บน้ำได้แล้ว และน้ำไม่ท่วมอีกเลย อ่างอันเนื่องมาจากพระราชดำรินี่เป็นผลดีกับชาวบ้านจริงๆ เฉพาะพื้นที่ 8  ก.ม. จากอ่างมาถึงบ้านท่าบุญมีนี่ทั้งสองฝั่งคลองพื้นที่ทำนาได้รับประโยชน์ 2 พัน 9  ร้อยไร่

ก่อนมีอ่างทำนาได้ปีละครั้ง และใช่ว่าจะได้ผลสมบูรณ์ ปีไหนเจอน้ำมากก็เสียหายเหมือนกัน แต่หลังมีอ่าง ทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง ตอนน้ำแห้งคลองก็ปล่อยน้ำจากอ่างมา ตอนนี้ทำอะไรเป็นระบบเป็นความร่วมมือกันพร้อมใจกันของชาวบ้าน 

นี่ก็ด้วยเพราะพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แท้ๆ เลย  ตอนนี้ไม่ห่วงอะไรแล้ว ห่วงอย่างเดียวอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นอีกในย่านนี้ ที่อาจจะต้องแย่งน้ำไป”

ผู้ใหญ่สมชายบอกว่า ตอนนี้ก็พยายามสร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน ช่วยกันดูแลบริหารจัดการน้ำ ให้เห็นคุณค่าของน้ำ ต้องใช้อย่างมีคุณค่า 

สุขทั้งแผ่นดิน “ชาวบ้านซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ รู้ว่าพระองค์พระราชทานพระราชดำริมานานและเกิดผลแล้ว พวกเราชาวบ้านพร้อมใจจะตอบแทนพระคุณ โดยการดำรงชีวิตอยู่แบบวิถีพอเพียง ทำอะไรให้พอเพียงตามที่ทรงสอน ต้องช่วยเหลือตัวเองให้มาก พึ่งพาตัวเองให้ได้ก่อน ก่อนที่จะไปพึ่งพาภายนอก ช่วยกันดูแลรักษาวิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของชุมชน 

เป็นแบบอย่างที่ดีของลูกหลาน เยาวชนรุ่นต่อไปได้เอาเป็นแบบอย่าง และดึงเข้ามาร่วมสืบสานมรดกของชาติ บ้านเมือง ให้รู้จักคุณค่าความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แหล่งน้ำ โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มรดกของคนชลบุรีและคนไทยทั้งประเทศ” ผู้ใหญ่สมชายกล่าวทิ้งท้าย

ทางด้าน นายสัญชัย เกตุวรชัย รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง กรมชลประทาน ที่นำคณะเรามาเยือนอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรฯ บอกว่า เมื่อปี พ.ศ.2556 อ่างยังสร้างไม่เสร็จ แต่ปีนั้นฝนตกหนัก น้ำท่วมหลายแห่ง ทั้งอำเภอเกาะจันทร์ พนัสนิคม นิคมอมตะ

กรมชลฯจึงตัดสินใจให้เก็บน้ำไว้ในอ่าง ทั้งๆ ที่ยังสร้างไม่เสร็จ  แต่ตัวเขื่อนที่สร้างนั้นแข็งแรงและสูง มีความปลอดภัย ตอนนั้นเก็บกักน้ำไว้ได้ถึง 70 ล้าน ลบม.ไม่เช่นนั้นน้ำที่หลากมาก็ไหลไปลงด้านท้าย คือนิคมอมตะ แล้วพอหมดฝนก็มีน้ำเก็บกักไว้ใช้ได้ตั้งแต่นั้นมา

“ประโยชน์อีกด้านหนึ่งของอ่าง คือผันน้ำไปลงที่เขื่อนบางพระได้ เพราะปรกติฝนไม่ค่อยตกลงพื้นที่ตรงเขื่อนบางพระ ทำให้น้ำน้อย และในอนาคตสามารถที่จะต่อเชื่อมไปเพิ่มเติมน้ำกันได้ เทคนิคก่อสร้างไม่เยอะ อันจะทำให้ระบบน้ำอุปโภคบริโภค กระทั่งน้ำเพื่อการเกษตร อุตสาหกรรมใน จ.ชลบุรีสมบูรณ์ทีเดียว ทั้งนี้ ก็ด้วยเพราะพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยเพราะพระบารมี”

รองอธิบดีกรมชลประทานบอกอีกว่า ที่สำคัญอีกอย่างของอ่างเก็บน้ำฯ คือเป็นแหล่งประมงขนาดใหญ่ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำที่ดีมาก ที่จะทำให้ประชาชนมีแหล่งอาหาร และแหล่งงานประมง นี่ก็เป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นความสำคัญด้วย

หัวใจสำคัญตามแนวพระราชดำริ คือต้องมีน้ำ ถ้าไม่มีน้ำ มะเขือต้นเดียวก็ปลูกไม่ได้ นายสัญชัย เกตุวรชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวทิ้งท้าย