“ม.อุบลฯ” อบรม STEM Education บูรณาการความรู้ 4 ศาสตร์ เพิ่มขีดความสามารถทางการศึกษา


มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยคณะวิทยาศาสตร์ จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการสะเต็มศึกษา ในหัวข้อ “STE(A)M Education in Teaching and Learning Science in South Korea” ณ ห้องประชุม สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีวิทยากรจากประเทศสาธารณรัฐเกาหลี 

ทั้งนี้ รศ.ดร.อุทิศ อินทรประสิทธิ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวเปิดการอบรม ซึ่งมีอาจารย์และนักศึกษาเข้าร่วมอบรมจำนวนมากว่า สะเต็มศึกษา (STEM Education) เป็นนวัตกรรมการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งที่บูรณาการความรู้ใน 4 ศาสตร์ ที่มีความสำคัญอย่างมากกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ การพัฒนาคุณภาพชีวิต และความมั่นคงของประเทศ

ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรม (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) บูรณาการเข้าด้วยกัน ให้ผู้เรียนนําความรู้ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง รวมทั้งการพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อการดําเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ ผ่านประสบการณ์ในการทํากิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning) หรือกิจกรรมการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning)  

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์ศึกษา และ สาขาคณิตศาสตร์ศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับสะเต็มศึกษา ในหัวข้อ “STE(A)M Education in Teaching and Learning Science in South Korea” วิทยากรหลักประกอบด้วย

1) Mr. Eun Seung Lee, International Marketing Director, Korea Digital Co., Ltd ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี  บรรยายการใช้อุปกรณ์ตรวจวัดแบบดิจิตัลและอุปกรณ์บันทึกอัตโนมัติ เพื่อจัดการการเรียนรู้แบบ STE(A)M

2) Mr.Kim, Byoung Heoun, Chairman of Top Science Co., Ltd., ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี บรรยายการประยุกต์ใช้สื่อการเรียนรู้แบบผู้เรียนลงมือทำ ตามแนว STE(A)M 3) อาจารย์ภูดิท พรรักษมณี กรรมการผู้จัดการ บริษัท Learn Power ประเทศไทย บรรยายแนวทางการจัดการเรียนรู้แบบ Smart Classroom

และ 4) ผศ.วรรณวไล อธิวาสน์พงศ์ และ ผศ.ดร.สุระ วุฒิพรหม อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์ศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และบรรยายผลการประยุกต์ใช้สื่อการเรียนรู้ของบริษัท Top Science ในการอบรมครูเพื่อสอนตามแนวทาง STEM Education

ในส่วนของผู้เข้ารับการอบรมแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 นักศึกษาชั้นปีที่ 1-3 และศิษย์เก่าในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์ศึกษา และสาขาคณิตศาสตร์ศึกษา ซึ่งทั้งสองหลักสูตรเป็นหลักสูตรที่ตอบสนองความต้องการของครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์และได้รับความนิยมอย่างมากมีนักศึกษาที่มาจากทั่วประเทศ

กลุ่ม 2 ผู้เข้ารับการอบรมจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประกอบด้วย 1) คณะอาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติ 2) Mr. Soukthakhane SINGSONESACK เจ้าหน้าที่จากกระทรวงวิทยาศาสตร์ลาว (อดีตนักเรียนค่ายโอลิมปิกส์วิชาการสาขาเคมี ของ คณะวิทย์ ม.อุบลฯ) และ 3) คณะครูจากโรงเรียน School for Gifted and Ethnic Students

กลุ่ม 3 คณะผู้บริหารและครูโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร นำทีมโดย นายชาตรี ประดุจชนม์ ผู้อำนวยการโรงเรียน และกลุ่ม 4 อาจารย์และเจ้าหน้าที่จากคณะวิทยาศาสตร์ รวมทั้งสิ้นกว่า 140 คน

สำหรับการขยายผลต่อจากการอบรมในครั้งนี้ จะมีการดำเนินการทั้งในส่วนของคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์สะเต็มศึกษาของ สสวท. โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยมุกดาหาร ซึ่งเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค หนึ่งใน 12 แห่งของไทย และหน่วยงานทั้ง 3 แห่งจาก สปป.ลาวต่อไปด้วย