45 ปีจากวค.-มรภ.ภูเก็ต ผู้บริหารเน้นย้ำพาเยาวชนเดินตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯ

สุขทั้งแผ่นดิน/เสกสรร  สิทธาคม

 “... ผู้ที่เป็นครูอาจารย์นั้น ใช่ว่าจะมีแต่ความรู้ในทางวิชาการและในทางการสอนเท่านั้นก็หาไม่ จะต้องรู้จักอบรมเด็กทั้งในด้านศีลธรรม จรรยาและวัฒนธรรม รวมทั้งให้มีความสำนึกรับผิดชอบในหน้าที่ด้วย…. ”

  พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร วิทยาลัยวิชาการศึกษา ๑๕ ธันวาคม ๒๕๐๓     

             วันนี้คนที่รู้ว่ามหาวิทยาลัยราชภัฎรากฐานเดิมมาจากวิทยาลัยครู(วค.) จะมีสักกี่มากน้อยนี่คือประวัติศาสตร์ที่ต้องจารึก  และสำคัญเหนืออื่นใดชื่อ “ราชภัฏ”เป็นนามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

            มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตก็เกิดมาจากวิทยาลัยครูภูเก็ตก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่  14  มิถุนายน  2514  เป็นสถานศึกษาหรือสถาบันการศึกษาผลิตครูและบุคลากรทางการศึกษาสู่วงการศึกษาของชาติของประเทศ  เป็นครูผู้อบรมบ่มนิสัยเยาวชนลูกหลานไทยตั้งแต่ยังเล็กดูแลปลูกฝังความเป็นคนดี  ความรู้ความสามารถเพื่อเป็นกำลังสร้างฐานะครอบครัวให้เจริญงอกงามบนรากฐานความดีความสุจริตยุติธรรม  เป็นกำลังร่วมพัฒนาชาติบ้านเมืองสังคมไทยให้เข้มแข็งบนรากฐานแห่งความดีงามเพื่อสุขสงบเกิดขึ้นในภาพรวม

สุขทั้งแผ่นดิน

วางรากฐานการสร้างคนเป็นครูผู้ที่ต้องมีจิตวิญญาณในการที่มีจิตใจสละสุขส่วนตนอุทิศการถ่ายถอดความดีงามความรู้ความชำนาญในศาสตร์ต่างๆเพื่อที่จะได้คนเป็นครูที่จะไปถ่ายทอดความดีงามและการประกอบอาชีพสร้างความเจริญให้ครอบครัว  ชุมชนและชาติบ้านเมือง แก่คนรุ่นต่อรุ่นโดยยึดหลักความเป็นคนมีคุณธรรมจริยธรรมตามรอยพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  พระผู้ทรงเป็นครูของแผ่นดินที่พระราชทานการแบบอย่างในการถ่ายทอดความรู้แก่ประชาชนผ่านต้นแบบคือโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆที่พระราชทานไว้ทั่วประเทศเกิน  4  กว่าโครงการ  และพระราชทานแนวทางดำเนินชีวิตแก่ราษฎร  อย่างเช่นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นต้น

จนถึงวันที่  14  กุมภาพันธ์  2535  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามวิทยาครูใหม่ว่า สถาบันราชภัฏ  นั่นจึงเป็นเป็นที่มาว่าวิทยาลัยครูภูเก็ตมาเป็นสถาบันราชภัฏภูเก็ตและเปลี่ยนสภาพเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต(มรภ.)จนถึงปัจจุบัน  ที่นับอายุต่อเนื่องแล้ว  45  ปีในวันที่  14  ก.พ.2559 

สุขทั้งแผ่นดิน วิทยาลัยครูหรือสถาบันราชภัฏภูเก็ต  จุดเริ่มของสถานศึกษาที่กล่อมเกลาเยาวชนในหลายจังหวัดในหลายท้องถิ่นที่ต่อเชื่อมจังหวัดภูเก็ตและหรือในภูมิภาคที่ห่างไกลออกไปอีกหลายๆจังหวัดของไทย  ให้เป็นคนดีมีคุณธรรมจริยธรรม  มีความเข้มแข็งในความรู้ความสามารถทางวิชาการด้านการประกอบอาชีพกล่าวได้ว่าเป็นสถานศึกษาที่เป็นที่พึ่งพิงของเยาวชนในครอบครัวที่ตั้งอยู่ในท้องถิ่นภูมิภาคที่จะมีโอกาสเข้าไปศึกษาหาวิชาความรู้ หลอมตัวเป็นคนดี หรือพูดได้เต็มปากว่าเป็นตักศิลาของลูกหลานคนในท้องถิ่นน่าจะไม่ผิด

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยพระวิสัยทรรศน์ด้วยพระอัจฉริยภาพแห่งความเป็นครูของแผ่นดิน  จึงพระราชทานชื่อให้วิทยาลัยครูเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ  เพื่อให้ชาวราชภัฏมีความภาคภูมิใจพร้อมที่จะทุ่มเทหัวใจเป็นที่พึ่งของลูกหลานในครอบครัวท้องถิ่น  ในชุมชนห่างไกล  ส่งเสริมการศึกษาที่มุ่งเน้นการอบรมบ่มนิสัยให้เยาวชนเติบโตขึ้นเป็นคนหนักแน่นด้วยคุณธรรมจริยธรรม หนักแน่นด้วยทักษะฝีมือด้านอาชีพผ่านรากฐานการซึมซับวิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามภูมิปัญญาของท้องถิ่น  เดินเคียงคู่ไปกับนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่จะเป็นเครื่องมือนำพัฒนาท้องถิ่นไทย หนักแน่นด้วยความรู้วิชาการและความสามารถทางทักษะฝีมือในการทำกิจกรรมต่างๆ  ทำการงานเพื่อเยาวชนถวายต่างพระเนตรพระกรรณ

สุขทั้งแผ่นดิน วันที่  14  กพ.59  ที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบ  45  ปีมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตจัดงาน “จากวค.-มรภ.ภูเก็ต”   มีศิษย์เก่าศิษย์ปัจจุบันรวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องมารวมกันที่กล่าวได้ว่าเป็นครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง  นอกจากกิจกรรมทางวิชาการภายใต้แนวคิด “สร้างสรรค์การศึกษา  พัฒนาวัฒนธรรม  ใช้นวัตกรรมนำสังคม”  กิจกรรมที่บ่งบอกถึงการอนุรักษ์สืบสานวิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของความเป็นท้องถิ่นก็คือ  นิทรรศการที่มุ่งเน้นสื่อสารให้ผู้เข้าไปร่วมไม่ว่าจะเป็นเยาวชนหรือคนทั่วไป  ครูอาจารย์ได้ตระหนักคือ “นิทรรศการหลักการดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

นิทรรศการดังกล่าวเป็นกิจกรรมหรือเป็นส่วนหนึ่งในภาควิชาที่มีการจัดการเรียนการสอนปรกติและลงมือปฏิบัติเป็นปรกติ  ทั้งในสายอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรม  ไปจนถึงในภาควิชาศิลปหัตถกรรมส่วนหนึ่งในโครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเช่นการทำลายผ้าปาเต๊ะ(บาติก)  ไปจนกระทั่งทักษะวิชาการแปรรูปอาหารล้วนเป็นจุดเน้นที่มรภ.ภูเก็ตถ่ายเทไปสู่เยาวชนนักศึกษา ประชาชน โดยมีครูภูมิปัญญาเข้ามามีส่วนร่วม  ในเวลาเดียวกันนักศึกษาได้นำเอาวิชาการย้อนกลับไปถ่ายทอดสู่ชุมชนด้วยเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึมซับวิถีดำเนินชีวิตกันและกัน

สุขทั้งแผ่นดิน หลักดังกล่าวอธิการบดีผศ.ดร.ประภา  กาหยีบอกว่าเป็นการเดินตามรอยพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  ด้วยสำนึกว่าพระองค์คือพระผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐแก่มหาวิทยาลัยและแก่ปวงชนชาวไทย

“จากวิทยาลัยครูมาจนถึงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏเมื่อวันที่  14  กพ. 2535  มหาวิทยาลัยได้ดำเนินงานจัดการศึกษามุ่งพัฒนานักศึกษาให้มีคุณภาพ  มาตรฐาน  และที่สำคัญมุ่งเน้นให้นักศึกษามีคุณธรรม  จริยธรรม  มีจิตอาสา”  ผศ.ดร.ประภา  กาหยี กล่าวตอนหนึ่งในการรายงาน

ขณะที่ดร.ประเจียด  อักษรธรรมกุล  รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตในนามผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานได้กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า การจัดงานครบรอบ  45  ปีมรภ.ภูเก็ตครั้งนี้ภายใต้แนวคิดสร้างสรรค์การศึกษา  พัฒนาวัฒนธรรม  ใช้นวัตกรรมนำสังคม  สะท้อนถึงภารกิจสำคัญที่มหาวิทยาลัยได้ดำเนินงานมายาวนานด้วยความมุ่งมั่น  ทุ่มเท  เพื่อให้การศึกษาดำเนินไปได้อย่างสร้างสรรค์  เหมาะสมและสอดรับกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป  นอกจากยังมุ่งเน้นการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมเพื่อสื่อความเป็นตัวตน  ความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นตลอดถึงความเป็นไทยที่น่าภาคภูมิใจ รวมถึงการให้ความสำคัญกับนวัตกรรมที่จะช่วยพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้า  ก้าวไกลได้อย่างเหมาะสม โดยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริมาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน

สุขทั้งแผ่นดิน ภายในงานครบ  45  ปีมีนิทรรศการทั้งที่เป็นวิชการและด้านการส่งเสริมอาชีพที่สืบวิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามที่มหาวิทยาลัยส่งเสริมสนับสนุนให้เป็นทั้งอาชีพเสริมหรืออาชีพก็ได้และสืบสานวิถีชีวิตอย่างเช่นการอนุรักษ์สืบสานลายผ้าปาเต๊ะ  โดยเชิญภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสอนนักศึกษา  และนักศึกษาย้อนกลับไปสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนในชุมชน ที่ร่วมกับหลายชุมชนเช่นกลุ่มเกาะสืเหร่รวมใจพัฒนา  กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพ้นท์ผ้าถุงลูกปัดบางโรง และหรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบางหวานพัฒนา 

ด้วยเห็นความสำคัญที่เป็นวิถีอันดีงามของท้องถิ่นมหาวิทยาลัยให้ทุนวิจัยเพื่อนำไปส่งเสริมชุมชน  ส่งเสริมชาวบ้านที่สนใจ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักศึกษากับชุมชน  โดยมีภูมิปัญญาเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้

อีกด้านหนึ่งเป็นพื้นที่นอกอาคาร  โครงการนิทรรศการเศรษฐกิจพอเพียงฯ โดยมีผู้รับผิดชอบคือผอ.กองพัฒนานักศึกษานายอรุณ  แป้นคง เป็นการนำเอาผลผลิตจริงที่มรภ.ภูเก็ตให้นักศึกษาตั้งแต่ปีหนึ่งเข้ามามีส่วนร่วมในการลงมือทำและร่วมดูแลรับผิดชอบ  ในพื้นที่สำหรับทำตัวอย่างด้านเกษตรกรรม

“เราเน้นให้นศ.ในกลุ่มกู้ยืมเรียนมาเข้าร่วมกิจกรรมคือปลูกไม้ผลแล้วดูแลรับผิดชอบของใครของมัน  คือคอยรดน้ำ  พรวนดิน  ดูแลไปจนจบปี 4  แล้วรุ่นต่อไปก็มาปลูกและดูแลต่อ นี่เป็นกิจกรรมหนึ่ง  แล้วมีแปลงปลูกผักให้รวมกลุ่มกันทำ  ทางมรภ.ยังได้ให้ประชาชนที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วม ประชาชนเกษตรกรมีความชำนาญภาคปฏิบัติแต่ขาดหลักวิชาก็มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน  นักศึกษาก็ได้ประโยชน์  ชาวบ้านก็ได้ประโยชน์”

สุขทั้งแผ่นดิน ผอ.อรุณบอกว่าที่เน้นในการอบรมบ่มนิสัยนศ.คือเน้นย้ำให้ตระหนักว่ารู้จักประหยัด  ใช้วัตถุสิ่งของที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด  อย่าเห่อเหิม  ต้องขยัน  อดทน  แล้วอย่าโลภ  ก็จะมีกินมีเก็บ

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะทรงแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรให้หลุดพ้นจากความอดอยากขาดแคลนในการดำเนินชีวิตผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่พระราชทานไว้ทั่วประเทศ  เพื่อให้เข้าไปศึกษาเรียนรู้แล้วนำไปประยุกต์ในการดำเนินชีวิตเพื่อให้เกิดความพออยู่พอกินมีความสุขได้อย่างยั่งยืน  นั่นคือการเดินตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระราชทานไว้  เพื่อให้แนวพระราชดำริและหลักการทรงงานสามารถถ่ายทอดสู่นักศึกษาที่เป็นคนรุ่นใหม่ได้มีส่วนสืบสาน  เพื่อประโยชน์ของตัวเองและขยายผลสู่คนรอบข้างสู่ชุมชน  องค์การบริหารนักศึกษาและกองพัฒนานักศึกษามรภ.ภูเก็ตจึงได้เน้นย้ำน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในงานครบรอบ  45  ปีมรภ.ภูเก็ต  เพื่อขยายผลต่อยอดการเรียนรู้หลักการทรงงาน  เรียนรู้หลักการขยัน  อดทน  ไม่โลภ  มีความรักสามัคคีมีเมตตาต่อกันสู้เยาวชนและประชาชนทั่วไปที่มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมในพื้นที่จำลองหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯนี้”ผอ.อรุณ  แป้นคงกล่าว