“หมอกำจร”แจงข้อดีร่าง รธน.มาตรา 54 บัญญัติรัฐต้องจัดการศึกษา 12 ปี ตั้งแต่อนุบาลถึง ม.3


รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 กรณีมีเสียงคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ...(ฉบับลงประชามติ) ในมาตรา 54 ที่บัญญัติว่า “รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับ อย่างมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” ว่า ถึงแม้ในร่างรัฐธรรมนูญระบุให้รัฐต้องจัดการศึกษา 12 ปี ตั้งแต่อนุบาลถึงชั้น ม.3 ก็ไม่ได้หมายความว่าจะจำกัดไม่ให้รัฐสนับสนุนการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)

เรื่องนี้อยู่ที่รัฐบาลที่จะออกเป็นนโยบาย แต่อย่างน้อยก็ถือว่าเป็นการบังคับรัฐบาลว่า จะต้องดูแลจัดการศึกษาให้ประชาชนตั้งแต่ชั้นอนุบาล-ม.ต้น ซึ่งรัฐบาลก็มีสิทธิ์จะสนับสนุนการจัดการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นได้

อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบายของรัฐบาลได้ด้วย เช่น ในอนาคตหากรัฐบาลต้องการเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพมากกว่าสายสามัญ ก็สามารถลดเงินอุดหนุนรายหัวสายสามัญลงได้ เพื่อไปเพิ่มเงินอุดหนุนให้กับสายอาชีพ เป็นต้น

 “โดยส่วนตัวผมขอพูดในฐานะนักวิชาการว่า รัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมามีทั้งข้อดีและข้อเสีย ไม่มีฉบับใดที่ไม่มีตำหนิเลย เพราะฉะนั้น ประชาชนจะต้องใช้วิจารณญาณในการอ่านและทำความเข้าใจกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า มีข้อดี ข้อด้อยอย่างไร ซึ่งถ้ามีข้อดีมากกว่า ก็น่าจะพอรับได้”

ปลัด ศธ.กล่าวด้วยว่า กระทรวงศึกษาฯกำลังเตรียมนำร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับลงประชามติ) มาดำเนินการจัดพิมพ์เป็นฉบับประชาชนเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้อ่านและทำความเข้าใจก่อนจะมีการลงประชามติ โดยจะเน้นใช้ภาษาที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย

ด้านนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 54 ว่า ขณะนี้ต้องฟังเสียงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อน ขณะเดียวกันทางสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็จะจัดทำข้อมูลการจัดการศึกษา 15 ปี เสนอฝ่ายเกี่ยวข้องในระหว่างการทำความเข้าใจในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย เพราะขณะนี้ถือว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่สะเด็ดน้ำ