รพ.จุฬาลงกรณ์ ร่วมกับคณะแพทย์ จุฬาฯ เปิดตัววารสาร “ฬ.จุฬา” เผยแพร่นวัตกรรมทางการแพทย์-ความรู้เรื่องโรค


โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำคลังความรู้ ผนึกเนื้อหาความเป็นเลิศและกิจกรรมทางการแพทย์ของสองสถาบัน ลงในวารสาร “ฬ.จุฬา” ฉบับปฐมฤกษ์ โดยจัดงานเปิดตัวไปเมื่อเร็วๆ นี้

โดย ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เป็นสถาบันต้นแบบทางการแพทย์ที่มีคุณธรรมด้วยคุณภาพ และมาตรฐานระดับนานาชาติ ซึ่งทั้งสองสถาบันได้ทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวนานถึง 102 ปีแล้ว และล่าสุดทั้งสองหน่วยงานได้ร่วมมือกันจัดทำวารสาร “ฬ.จุฬา” เพื่อรวบรวมเรื่องราวต่างๆ ถ่ายทอดเป็นหนังสือที่มีคุณค่า

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวเสริมว่า วารสาร “ฬ.จุฬา” มุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ร่วมกันผ่านวารสาร “ฬ.จุฬา” ภายใต้ Concept “One Chula” เพื่อเผยแพร่ให้บุคลากรและประชาชน ได้รับข่าวสารเรื่องราวดีดีของสองสถาบัน

ตั้งแต่โรงพยาบาลเริ่มให้บริการในวันที่ 30 พฤษภาคม 2457 และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เริ่มเปิดการเรียนการสอนในวันที่ 11 มิถุนายน 2490 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของโรงพยาบาล จากตึกอำนวยการ ซึ่งเป็นตึกแรกของโรงพยาบาล ไปจนถึงตึกที่ครบครันและทันสมัยที่สุดในอาเซียน อย่างอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์

อีกทั้งเรื่องราวของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ที่มีการค้นคว้าวิจัย การนำนวัตกรรม  เทคนิค และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยจนประสบผลสำเร็จเป็นครั้งแรกมาบรรจุอยู่ในวารสาร “ฬ.จุฬา”



ผศ. (พิเศษ) นพ.สุรินทร์ อัศววิทูรทิพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ด้านภาพลักษณ์องค์กร กล่าวว่า การเปิดตัววารสาร “ฬ.จุฬา” ฉบับปฐมฤกษ์อย่างเป็นทางการเล่มนี้ ถือเป็นฤกษ์มหามงคลอย่างยิ่ง เพราะเป็นเดือนแห่งวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์อุปนายิกา ผู้อำนวยการสภากาชาดไทย

ทั้งนี้ ในวารสาร “ฬ.จุฬา” ยังได้รับพระเมตตาจากสมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ผ่านบทความให้ข้อคิดเตือนใจในคอลัมน์ “มรสุมทางใจ” นอกจากนี้เนื้อหาที่จัดพิมพ์ภายในวารสาร “ฬ.จุฬา” ทั้ง 28 หน้า กอปรไปด้วยข่าวนวัตกรรมทางการแพทย์ และเรื่องราวความเป็นเลิศในด้านต่างๆ ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ รวมถึงให้ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องโรค ที่คัดสรรเนื้อหาเป็นอย่างดีลงในคอลัมน์ต่างๆ ถึง 14 คอลัมน์ เป็นต้น