“หมอกำจร” บรรยายทิศทางการขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค


รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) บรรยายทิศทางการบริหารราชการ ศธ. และแนวปฏิบัติราชการของส่วนราชการในจังหวัดและภูมิภาค ตามแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ.ในภูมิภาค ให้แก่ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ประธานกรรมการอาชีวศึกษาภาค

และประธานกรรมการอาชีวศึกษาจังหวัด ตลอดจนผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ณ วิทยาลัยพณิชยการเชตุพน และโรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2559

โดย ปลัด ศธ.กล่าวว่า การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ.ในภูมิภาคนั้น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดควบคุมดูแลการบริหารจัดการ เพราะมีบารมีมากที่สุดในจังหวัด การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ตลอดจนการศึกษาเอกชน โดยจะมีศึกษาธิการจังหวัดดูแลครอบคลุมการศึกษาทั้งจังหวัด

อาทิ คุณภาพการศึกษา ปัญหาขาดแคลนครู เป็นหน้าที่ของพื้นที่ อยู่ในความรับผิดชอบของจังหวัดนั้นๆ ถ้าจังหวัดใดขาดครู ก็สามารถนำครูจากจังหวัดอื่นๆ เข้ามาสอนได้ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้พิจารณาเกลี่ยอัตรากำลังจากโรงเรียนในจังหวัดต่างๆ มาลงในจังหวัดที่ขาด

ในส่วนของผู้ประกอบการไทยจะพอใจบัณฑิตไทยมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับธุรกิจของเขา เพราะแต่ละจังหวัดมีทรัพยากรต่างกัน บางแห่งเป็นเกษตรกร บางแห่งทำประมง จังหวัดมีหน้าที่บอกความต้องการของแรงงาน ที่จะนำมาเป็นแนวนโยบายในการจัดการศึกษา

ที่ผ่านมาปลัดกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการได้หารือกันในเรื่องนโยบายว่า จะสร้างคนแบบไหนอย่างไร โดยจะดูความต้องการของท้องถิ่น ส่วนในเรื่องของความรับผิดชอบโดยศึกษาธิการภาค ซึ่งประกอบด้วยผู้แทน สพฐ.และผู้แทนแท่งต่างๆ ที่จะเข้าไปทำงานในจังหวัด เน้นคนในพื้นที่

ในคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) จะมีกรรมการ 22 คน คนในกระทรวงศึกษาธิการเป็นคณะกรรมการและเป็นเลขา 7-8 คน หลักใหญ่ของคนในกระทรวงศึกษาธิการคือ ขับเคลื่อน

กศจ.มีบทบาทหน้าที่ติดตามการทำงานในพื้นที่ นอกเหนือจากบริหารงานบุคคล หลักใหญ่ต้องมีข้อมูลการศึกษาระดับจังหวัด อาทิ จำนวนโรงเรียน ขนาดของโรงเรียน ตลอดจนจำนวนครูและนักเรียน ในจังหวัดของตน เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถนำข้อมูลมาใช้ในการบริหารจัดการและพัฒนา สามารถระบุปัญหาได้  และหาแนวทางแก้ไขปัญหาได้ถูกต้อง

ส่วนปัญหาการย้าย การรับสินบน ยังเป็นปัญหาในอดีต ปลัดกระทรวงศึกษาธิการขอความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่ทุกคนประพฤติดี และป้องกันไม่ให้คนอื่นประพฤติมิชอบในหน้าที่ อำนาจต้องคู่กับความรับผิดชอบ อย่าทำผิดเอง หรืออย่าใช้ให้คนอื่นทำผิด ต่อไปคนที่ถูกกล่าวหาจะต้องพิสูจน์ตนเองภายใน 15 วัน จะไม่มีการสอบวินัย ถ้าพิสูจน์ไม่ได้จะถูกปลดออกก่อนเพื่อให้งานเดิน

ศึกษาธิการภาคมาจากผู้ตรวจราชการภาค (ผู้ตรวจราชการเดิม) ดูแล 3-5 จังหวัด มีหน้าที่กำกับดูแลศึกษาธิการจังหวัด ส่วนการประชุมนัดแรก สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนเมษายน ผู้ว่าราชการจังหวัดจะประชุมร่วมกับศึกษาธิการภาค ผู้แทนหน่วยงานของ สพฐ. สกอ. สอศ. กศน. สช. กคศ. และผู้แทนหอการค้า เพื่อสรรหาผู้แทนภาคประชาชน

ทั้งนี้ เพื่อให้ครบองค์ประกอบ และชี้แจงบทบาทหน้าที่ของผู้แทนแต่ละคน อาทิอาชีวศึกษาก็ต้องเตรียมข้อมูลของอาชีวศึกษาทั้งหมด ผู้แทน สพฐ. ทำหน้าที่แทนเลขาธิการ สพฐ.ด้วย สำนักงานเขตพื้นที่ทำหน้าที่รายงานการประชุมไปที่ศึกษาธิการภาค เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะ

รศ.นพ.กำจรกล่าวตอนท้ายว่า นโยบายของจังหวัดจะดำเนินตามนโยบายของรัฐบาล โดยภาคธุรกิจกับภาคประชาชนเข้ามาร่วมงานกับรัฐบาล และให้ทุกคนพัฒนาและเสริมสร้างความมั่นใจในด้านภาษาอังกฤษ จัดทำคู่มือของศึกษาธิการจังหวัด และมีธรรมาภิบาลในการบริหาร