“ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย” ฉายภาพ! การปฏิรูปโครงสร้างการบริหาร ศธ.ในภูมิภาค ตามคำสั่ง คสช. สอดคล้องทิศทาง “สกว.”

ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)ในฐานะองค์กรศูนย์รวมงานวิจัยชุมชนของประเทศ เปิดเผยกับ “สำนักข่าวการศึกษา สยามเอ็ดดูนิวส์” ว่า สกว.ได้สนับสนุนงานวิจัยการพัฒนาพื้นที่ ซึ่ง สกว.เห็นว่าเป็นคำตอบของการสร้างความเปลี่ยนแปลงในบ้านเมือง ซึ่งมีหลายประเด็น เราเรียกสั้นๆ ว่างาน ABC (Area-Based Collaborative Research)

ซึ่งพบว่า มีแนวคิดเครื่องมือในการสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง หากมีข้อมูล การหาภาคีในพื้นที่ร่วมมือกัน ระหว่างหน่วยงานรัฐ ชุมชน เอกชน วิชาการ ท้องถิ่น บางทีก็มีสื่อ พระเข้ามาร่วมด้วย แล้วแต่ว่าเป็นเรื่องอะไร

บนแนวคิด ABC เราเปิดงานที่เป็น ABE (Area-Based Education Research) ต่อ และเราขอให้สถาบันรามจิตติเป็นผู้ประสานงานในการเลือกพื้นที่ทำวิจัยเพื่อนำร่อง

ปัจจุบันก็มีการทำอยู่ใน 3 จังหวัด คือ ลำปาง ยะลา สุโขทัย และแนวคิด ABE ก็ไปเชื่อมโยงกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ซึ่งทาง สสค.ก็เอาแนวคิดของ ABE ไปขยายการทำงานต่ออีก 12 จังหวัด รวมแล้วมีการขับเคลื่อนไปด้วยกันถึง 15 จังหวัด

ดร.สาลีภรณ์กล่าวต่อว่า ในแง่ของงานวิจัยก็มีคำถามและคำตอบในตัว เช่น รู้เหตุปัจจัย และอธิบายได้ว่า ทำไมเป็นแบบนี้ ใน 3 จังหวัดของ สกว.ก็ต้องมีความเข้มข้น สกู๊ป แวดวงการศึกษา สำหรับโครงการที่ลงไป 3 จังหวัดนี้ ใช้เวลา 2 ปี เริ่มประมาณเดือนกันยายน 2557 ถึงเดือนกันยายน 2559 ใช้งบประมาณ 2-3 ล้านบาทต่อจังหวัด ในการขับเคลื่อนงาน ซึ่งไม่ถือว่ามาก

อย่างเช่นที่ จ.ยะลา เขาได้ทำวิจัยหรือแผนในการแก้ปัญหาการศึกษาของเด็กใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นที่ จ.ยะลาเป็นต้นแบบ โดยเขาตั้งเป้าร่วมกับภาคีในพื้นที่

โดยก่อนที่จะตั้งเป้าร่วมกับภาคีในพื้นที่ 1.เขาจะต้องไปสร้างเวทีให้เกิดภาคี 2.ทำข้อมูลเพื่อให้ภาคีมานั่งพูดคุยกันว่า ตกลงจะพาเด็กยะลาไปที่ไหน โดยเขาปักธงไว้ว่า เด็กระดับประถมศึกษา จ.ยะลาต้องมีอัตลักษณ์รักการอ่าน สื่อสารดี การแก้ปัญหาเรื่องการอ่านออกเขียนได้เป็นหัวใจของการศึกษา

เมื่อเขาตั้งเป้าเสร็จแล้วเขาก็มาทำแผน โดยมี 7 ด้าน อาทิ การพัฒนาครูประจำการ การทำสื่อ แหล่งเรียนรู้ รณรงค์สังคม การช่วยเหลือนักเรียน เป็นต้น เขาก็ลงมือปฏิบัติตามแผนนั้น

เช่น การสร้างเวทีการจัดการความรู้ต่างๆ เพื่อพัฒนาครูในโรงเรียน มีกิจกรรมพัฒนาสื่อ กิจกรรมรณรงค์ให้เด็กออกมาสื่อสาร เพราะอัตลักษณ์ของเขาคือ รักการอ่าน สื่อสารดี ให้เด็กได้ออกวิทยุมาเล่าเรื่องราวต่างๆ ว่าเขาทำอย่างไร ซึ่งขณะนี้ทำไปได้ 16 โรงเรียน และมีอีก 16 โรงเรียนที่อยากเข้ามาทำด้วย

จากภาคีกลไกข้อมูลนำไปสู่แผนของการพัฒนาคุณภาพของเด็กยะลาในด้านรักษาอ่านและทักษะการสื่อสาร งานแบบนี้เราเห็นว่าเป็นโมเดลได้เลยว่า เมื่อ คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ออกคำสั่งปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค คือเน้นการจัดการระดับจังหวัด

“ก็หมายความว่า คสช.ให้การยอมรับและเห็นด้วยกับการจัดการในพื้นที่โดยต้องทำให้เบ็ดเสร็จ”

นอกจากนี้ ในพื้นที่ จ.สุโขทัย ที่เขาทำเรื่องการอ่านออกเขียนได้ของเด็ก ป.3 โดยเด็กทั้งจังหวัดจะต้องอ่านออกเขียนได้ให้หมด ตนอยากให้กระทรวงศึกษาธิการนำโมเดลจังหวัดสุโขทัยเข้ามาใช้ในการแก้ปัญหาพื้นที่ ซึ่งจากการวิจัยเขาบอกว่า เป็นเมืองพ่อขุนราม ดังนั้น เด็กที่จบ ป.3 ต้องอ่านหนังสือได้ทุกคน 100%

โดยเริ่มจาก ผอ.เขต 2 ซึ่งเขาบอกว่าลองท้าทำทั้งจังหวัด เขาไปคุยกับเขต 1 และขยายทำทั้งจังหวัดแล้ว ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดก็รับรู้ด้วย เพราะเขามีฐานข้อมูลตัวเลขในระดับที่ไล่ได้เลยว่า เด็กทั้งจังหวัดจำนวนเท่าไร และระดับความสามารถการอ่านออกเขียนได้ด้านภาษาไทยมีระดับดีเยี่ยม ดีมาก ดี พอใช้ ปรับปรุง ยังอ่านไม่ได้ เขียนไม่ได้ เท่าไร ของเขาทำได้ขนาดนั้นเลย

สกู๊ป แวดวงการศึกษา หรือกรณี จ.ลำปาง ทำเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำของสถานศึกษา เป็นต้น เมื่อทำเป้าชัดแล้ว ใครทำอะไรตรงไหน จะคลี่ออกมาและเห็นภาพว่า ใครขาดอะไร ใครต้องการอะไร ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการดึงทรัพยากรเข้ามาอีก และนี่คือแผนพัฒนาการศึกษาในจังหวัด แต่เป็นแผนเล็กๆ ที่ทำเป็นด้านๆ ไป

รองผู้อำนวยการ สกว. กล่าวด้วยว่า ตอนที่มีการปฏิรูปการศึกษา เมื่อปี พ.ศ.2540 โดยมีการตั้งเขตพื้นที่และยุบระบบศึกษาธิการจังหวัดไป ซึ่งปัญหาของระบบเขตพื้นที่ฯนั้น คนไม่เคยพูดว่ามีปัญหาอะไรกันบ้าง จังหวัดมีทั้งหมด 77 จังหวัด กลายเป็น 225 เขต ซึ่งเยอะมาก แล้วต้นทุนการบริหารจัดการต้องใช้มากเท่าไหร่ เอาคนไปกองเป็นนักบริหารเท่าไหร่

ขณะที่เราขาดครู และระบบการแต่งตั้งโยกย้ายครูที่ไม่ข้ามเขตกัน ยังไม่นับกรณีมีคนที่ร้องเรียนกันมากเกี่ยวกับ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งดิฉันเห็นด้วยกับการเคลียร์ปัญหาเหล่านี้ได้ ถือว่าเป็นบุญ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรรีบทำคือ การวางระบบ เพราะขณะนี้อยู่ในสภาพคลายตัวระบบเก่าที่มีปัญหาออกไป แต่ถ้าทิ้งไว้นานก็จะกลับมาสู่ระบบเดิม ซึ่งสิ่งที่จะแก้ไขได้คือ งานข้อมูล และเอาภาคีหลากหลายใหม่ๆ เข้าไปใช้ประโยชน์

เมื่อถามว่าคนในแวดวงการศึกษาหลายคนบอกว่า เป็นการถอยหลังเข้าคลองหรือไม่นั้น ดร.สีลาภรณ์ กล่าวว่า ชื่อโครงสร้างการบริหารคงใช้ อาจจะดูเป็นเรื่องเก่าที่เคยทำแล้ว แต่เราสามารถทำสิ่งใหม่ๆ ใส่ลงไปในขวดเก่าได้ แต่ถ้าบอกว่าแย่ยิ่งกว่าไหมกับตอนที่เราเปลี่ยนขวดใหม่มาเป็นเขตพื้นที่ฯ แล้วของในขวดเน่าลง อยากถามว่าคุณยังอยากอยู่ในนั้นต่อหรือไม่

ในสภาพที่เกิดความสับสน สิ่งที่สามารถสร้างขึ้นมาได้คือ การสร้างระเบียบใหม่ให้เกิดกระบวนการทำแผนที่ดี เกิดประชารัฐด้านการศึกษา ซึ่งคือโอกาสที่เปิดให้กับคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด หรือ “กศจ.”  คุณจะทำประชารัฐเข้าไปตรงนี้ก็ได้ และตั้งเป้าให้ชัด แต่ต้องมาจากข้อมูลวิจัย ถ้าสามารถเชื่อมโยงอันนี้ได้ก็จะได้ของใหม่ที่ดีมาก

ดร.สาลีภรณ์กล่าวตอนท้ายว่า ตัวชี้วัดของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) คือ มหาวิทยาลัย ต่อไปจะต้องสัมพันธ์กับการยกระดับการศึกษาพื้นฐานของคนในพื้นที่ว่า ถ้ามหาวิทยาลัยได้คนสนับสนุนมากมาย แต่โรงเรียนในพื้นที่ไม่ดี ตัวชี้วัดถือว่าตกไปด้วย ซึ่งมีแรงบีบหลายทางให้ภาคีในพื้นที่ต้องมาเชื่อมกัน

ดิฉันคิดว่าปัญหาทางด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาฯซับซ้อนมาก และข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อาจจะยังไม่ฟันธงเท่าที่รัฐบาลทำด้วยซ้ำไป คิดว่ารัฐบาลกล้าฟันทำมากกว่าที่ สปช.เสนอ ที่ สปช.เสนอคือแบบควรจะให้มีการสร้างการมีส่วนรวม ซึ่งไม่ใช่ตัวโครงสร้าง แต่สิ่งที่รัฐบาลทำตามมาตรา 44 คือการจัดการโครงสร้าง

และเชื่อว่าคงมีหมัดที่ 2 มารองรับแล้วว่า จะต้องทำอย่างไรต่อ ถ้าเป็นไปได้ตนอยากเห็นโมเดลที่ จ.สุโขทัย หรือยะลาไปเป็นหมัดตาม ถ้าตามได้จะสวยมากเลย