“บิ๊กหนุ่ย” นำทีมชี้แจงทุกความเห็นต่าง พร้อมแถลงความคืบหน้าการขับเคลื่อนบริหารราชการ ศธ.ในภูมิภาค


พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วย พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. และผู้บริหาร ศธ. ร่วมแถลงชี้แจงการดำเนินงานตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค เมื่อวันจันทร์ที่ 28 มีนาคม 2559

โดย พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวว่า จากการที่ คสช.ได้มีคำสั่งเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างเพื่อบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคนั้น ศธ.ได้รับเสียงสะท้อนกลับมาในหลากหลายรูปแบบ ทั้งคำชื่นชม ความเห็นต่าง ซึ่งก็มีทั้งเจตนาบริสุทธิ์และบางส่วนก็มีเจตนาที่จะบิดเบือน จึงขอเรียนชี้แจงใน 4 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

1.ประเด็นที่มีความคลาดเคลื่อนและการสร้างความกังวลใจให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา

ซึ่งเกิดจากข้อมูลในแหล่งต่างๆ ที่มีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของครูที่จะต้องโอนไปอยู่ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.), การเปลี่ยนตำแหน่งครูเป็นพนักงานราชการ, จะไม่มีเงินวิทยฐานะ, ไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ, ในส่วนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาก็จะถูกยุบให้เหลือจังหวัดละเขต, จะมีมาเฟียเพิ่มขึ้นในแต่ละจังหวัด, กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาเดิมอาจกลับเข้ามารับตำแหน่งอีก,

ผู้บริหารโรงเรียนจะถูกประเมินโดยคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.), การยุบคณะกรรมการคุรุสภาและคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.), ยกเลิกโครงการเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ครอบครัว (ช.พ.ค.), ในอนาคตรัฐจะจัดการศึกษาโดยใช้คูปอง และจะมีโรงเรียนเอกชนเกิดขึ้นในทุกตำบลนั้น

รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวว่า ข้อมูลต่างๆ ข้างต้นล้วนแล้วแต่ไม่เป็นความจริงทั้งสิ้น จึงขอให้ครูและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่าได้หลงเชื่อหรือตื่นตระหนก และอย่าได้กังวลใจใดๆ เพราะขณะนี้ครูและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายังคงอยู่ โดยมีตำแหน่งและสถานะเหมือนเดิม รวมทั้งสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และ สกสค.เช่นกัน

ในส่วนของการประเมินผู้บริหารโรงเรียนนั้น ยังคงอยู่ในอำนาจบริหารจัดการของกระทรวงศึกษาธิการตามลำดับชั้น ได้แก่ ศึกษาธิการภาคเป็นผู้ประเมินศึกษาธิการจังหวัด, ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประเมินผู้บริหารโรงเรียน และผู้อำนวยการโรงเรียนจะเป็นผู้ประเมินครู

นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัด ที่มีการบิดเบือนข้อมูลว่ายังไม่มีความเหมาะสมทางวิชาการและไม่มีประสบการณ์ด้านการศึกษานั้น เชื่อว่าด้วยอำนาจหน้าที่ที่ระบุในคำสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการการศึกษาในแต่ละจังหวัดในรูปแบบขององค์คณะบุคคล

ประกอบกับผู้ว่าราชการจังหวัดในยุคนี้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ รู้บทบาทของตนเอง และรู้ปัญหาจุดอ่อนในพื้นที่เป็นอย่างดี ย่อมจะช่วยบูรณาการงานด้านการศึกษาทุกส่วนในจังหวัดได้เป็นอย่างดี ดังนั้นจึงต้องขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดที่เข้ามาช่วยงานด้านการศึกษา ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลจะพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

2.ข้อเสนอแนะของนักวิชาการและนักการเมือง

ซึ่งได้ให้ข้อเสนอแนะในหลายประเด็น อาทิ การปฏิรูปเช่นนี้เป็นแบบกลับหัวกลับหาง ไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรทำ, ไม่มีการกระจายอำนาจไปสู่โรงเรียน, มีการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษด้วยแอพพลิเคชั่นแบบหลงทิศทาง, มีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีบ่อยครั้ง, เด็กได้อะไรจากการปรับระบบบริหารราชการในภูมิภาค เป็นต้น

ในส่วนนี้ รมว.ศึกษาธิการกล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการพยายามที่จะหลุดออกจากวังวนเดิม เพื่อเดินหน้าปฏิรูปการศึกษา ซึ่งในเรื่องของครูถือเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูป และเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าการปรับโครงสร้างในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อนักเรียนและครูอย่างแน่นอน เพราะทำให้การเกลี่ยครูและการบรรจุแต่งตั้งในพื้นที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เช่น สามารถใช้บัญชีครูและผู้บริหารในการบรรจุแต่งตั้งในพื้นที่ขาดแคลนได้อย่างคล่องตัว โรงเรียนได้ครูที่ตรงกับความต้องการ ทำให้มีครูครบชั้นเรียน มีครูสอนตรงวิชาเอกและครูมีมาตรฐานมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของนักเรียนโดยตรง

นอกจากนี้ ระบบการบริหารราชการใหม่ ได้มีการกระจายอำนาจไปยังระดับจังหวัด ซึ่งมีจำนวนผู้เกี่ยวข้องมากขึ้นกว่าเดิมด้วย ส่วนจะกระจายอำนาจไปยังโรงเรียนได้อย่างไรนั้น จะใช้แนวทางด้านความพร้อมเป็นตัวกำหนด หากโรงเรียนใดพร้อมก่อนก็จะกระจายอำนาจไปให้ แต่จะไม่ใช้ปัจจัยด้านเวลามาเป็นตัวกำหนด

ส่วนการใช้แอพพลิเคชั่นภาษาอังกฤษ หรือ Echo English นั้น ออกแบบมาเพื่อใช้ฝึกภาษาอังกฤษแก่ประชาชนทั่วไปให้ง่ายต่อการฝึกฟัง พูด อ่าน เขียน การใช้คำศัพท์หรือประโยคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันผ่านสมาร์ทโฟนผ่านระบบปฏิบัติการ Android และ iOS แต่ในส่วนของการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียน ยังคงสอนโดยครูตามปกติ พร้อมทั้งมีการสนับสนุนส่งเสริมผ่านกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ และมีการพัฒนาครูสอนภาษาอังกฤษ (Boot Camp) 350 คน โดยวิทยากรจากต่างประเทศ 30 คน และจะขยายผลต่อเนื่องให้มีการพัฒนาครูผู้สอนภาษาอังกฤษจำนวน 3,000 คนภายในปี 2559 ด้วย

3.การขับเคลื่อนการบริหารงานของกระทรวงศึกษาธิการในระดับภูมิภาค

พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการได้เตรียมดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนการบริหารงานในระดับภูมิภาคหลายส่วน อาทิ หลักเกณฑ์การสรรหากรรมการและวาระการดำรงตำแหน่ง, คู่มือการบริหารงานบุคคลในศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งมอบให้สำนักงาน ก.ค.ศ. เร่งดำเนินการจัดทำ เพื่อกำหนดเป็นแนวปฏิบัติต่อไปในทุกระดับ

ตัวชี้วัด (KPI) เพื่อประเมินการทำงานในทุกระดับ ตั้งแต่ศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด ผู้บริหารโรงเรียนในระดับเล็ก-กลาง-ใหญ่-ใหญ่มาก ซึ่งจะต้องมีการหารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทยต่อไปด้วย

การออกคำสั่งให้ อ.ก.ค.ศ.หน่วยงานอื่นๆ ทำหน้าที่เช่นเดิมทุกประการ ยกเว้น อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาที่ยุบไปเท่านั้น, ประชุมหารือกับสำนักงาน ก.พ. และ ก.พ.ร. เพื่อเกลี่ยอัตรากำลังในระดับภาคและจังหวัด จากนั้นจะออกคำสั่งแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่ทุกตำแหน่งอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งศึกษาธิการภาคและศึกษาจังหวัดด้วย

การบรรจุแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ  หากเป็นการย้ายในสังกัด สพป. ให้เป็นไปตามเดิมคือ สพป.พิจารณาย้ายภายในจังหวัด ส่วนสังกัด สพม. หากย้ายภายในจังหวัดให้ กศจ.พิจารณาอนุมัติ แต่หากย้ายข้ามเขตจังหวัด ให้ สพม. พิจารณาคัดเลือกรายชื่อ แล้วเสนอขึ้นมาให้ส่วนกลางอนุมัติ

การสอบบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วย หลักเกณฑ์การสอบต่างๆ ที่ได้ประกาศไปแล้ว ยังใช้หลักเกณฑ์เดิมในการสอบทุกประการ จึงย้ำว่าผู้เข้าสอบไม่ต้องกังวล, การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งนี้ อาจจะดูเหมือนทำให้สายการบังคับบัญชายาวขึ้น แต่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการบริหารงาน ซึ่งหลักการสำคัญของกฎหมายใดๆ ที่ออกมาใหม่ คือ จะไม่ให้คนเดิมเสียสิทธิ์

4.ฝากสื่อมวลชนเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องต่อสาธารณชน

โดย รมว.ศึกษาธิการได้กล่าวฝากให้สื่อมวลชนช่วยเป็นแรงสนับสนุนในการนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดำเนินงานในเรื่องนี้ให้ประชาชนและสังคมได้รับรู้ โดยเฉพาะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่ต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดความกังวลใจหรือหลงเชื่อข้อมูลที่ถูกบิดเบือนจากคนบางกลุ่ม

ซึ่งตนพร้อมยินดีที่จะรับฟังข้อเสนอและข้อมูลที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษา แต่หากเป็นข้อมูลที่ไม่สร้างสรรค์หรือมีเจตนาสร้างความเคลื่อนไหวใดๆ ขอเตือนว่าอย่าได้ทำ แต่ขอให้มาช่วยกันทำงาน ช่วยกันปฏิรูปการศึกษาให้ก้าวไปข้างหน้า

ทั้งนี้ ศธ.จะเปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะการบริหารงานบุคคลและขับเคลื่อนการทำงานในการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค จำนวน 2 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ และสายด่วน 1579 ตลอด 24 ชั่วโมง

อนึ่ง ในวันจันทร์ที่ 4 เมษายนนี้ เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมกระทรวงมหาดไทย รมว.ศึกษาธิการ และ รมว.มหาดไทย จะประชุมทางไกล (VDO Conference) ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ