ชี้แนวโน้ม สพฐ.ไม่ยกเลิกจับสลากเข้า ม.1 “การุณ” เล็ง!ชงบอร์ด กพฐ.ถกโควตาผู้มีอุปการะคุณ


รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ( ศธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีมูลนิธิเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น (มตช.) เสนอแนวทางแก้ปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์ “แป๊ะเจี๊ยะ” แลกการเข้าเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2559 ว่า ตนได้รับข้อเสนอดังกล่าวแล้วและจะนำเสนอ พล.อ.ดาว์พงษ์  รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. พิจารณา ซึ่งเท่าที่ดูมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ แต่อาจเป็นมุมของการป้องกันปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นเพียงมิติเดียว ยังขาดเรื่องมิติด้านสังคม การดูแลเด็ก

โดยเฉพาะข้อเสนอที่ให้ยกเลิกการจับสลากเข้าเรียน ซึ่งคงต้องมาดูถึงเหตุผล เพราะเดิมเป้าหมายที่ให้มีการจับสลากเพื่อดูแลเด็กที่เรียนไม่เก่งให้ได้รับโอกาสเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงด้วย และวิธีการพิจารณาที่ถือว่าโปร่งใสที่สุดก็คือการจับสลาก 

ปลัดศธ.กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนอให้รัฐรับผิดชอบค่าบำรุงการศึกษา โดยให้มีการจัดเก็บภาษีการศึกษานั้น ก็ต้องหากลไกมาสนับสนุนงบประมาณ ซึ่งหลักใหญ่ที่ทำให้เป็นช่องทางให้เกิดปัญหาการรับแป๊ะเจี๊ยะ เพราะสถานศึกษาได้รับงบฯไม่เพียงพอต่อการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ ดังนั้น คำถามคือต้องใช้งบฯเท่าไรจึงจะเพียงพอ ซึ่งต้องมาช่วยกันคิดและหาทางออกร่วมกัน

ด้าน นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า โดยหลักการของการจับสลาก คือให้โอกาสเด็กในเขตพื้นที่บริการหรือบ้านใกล้โรงเรียน ซึ่งที่ผ่านมาจะมีการจับสลากเฉพาะโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง 282 แห่งทั่วประเทศ

แต่วันนี้อัตราการเกิดลดลง ประชากรในวัยเรียนจึงลดลง ทำให้เด็กในพื้นที่บริการก็ลดลง โรงเรียนส่วนใหญ่จึงไปเพิ่มการรับนักเรียนในสัดส่วนการสอบแข่งขันมากขึ้น จนวันนี้ในกรุงเพทฯเหลือโรงเรียนที่ยังใช้วิธีการจับสลากเด็กในพื้นที่บริการเพียง 5 โรงเรียนเท่านั้น ได้แก่ โรงเรียน (ร.ร.) เตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า ร.ร.เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ร.ร.นวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า ร.ร.บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2 และ ร.ร.สุรศักดิ์มนตรี ส่วนต่างจังหวัดเหลือโรงเรียนที่จับสลากอยู่เพียง 13 โรงเรียนเท่านั้น

ดังนั้น การจับสลากเข้าเรียนจึงไม่น่าจะเป็นปัญหาแล้ว แต่เมื่อมีข้อเสนอมาให้ยกเลิกก็ยินดีนำไปเสนอให้คณะกรรมการ กพฐ.พิจารณา แต่สุดท้ายก็ต้องสอบถามความเห็นจากคณะกรรมการสถานศึกษา และฟังเสียงประชาชนด้วย

“ส่วนกรณีที่เสนอให้ยกเลิกการรับเด็กของผู้มีอุปการะคุณ เช่น ผู้บริจาคที่ดิน เป็นต้น นั้น จะต้องไปพิจารณาข้อตกลงเบื้องต้นของผู้บริจาคที่ดินด้วย รวมถึงต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด กพฐ. และรับฟังความเห็นจากประชาชนเช่นกัน” นายการุณกล่าว