“บิ๊กหนุ่ย” ถกกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ สั่ง! “สอศ.” ร่วมทีดีอาร์ไอ เร่งทำกรอบวิชาชีพสายอาชีวะ


พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2559 ที่ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เมื่อเร็วๆ นี้

โดย พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวว่า กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (National Qualifications Framework : NQF) คือ ระบบที่จะเชื่อมโยงระหว่างผลลัพธ์การเรียนรู้ตามระดับคุณวุฒิการศึกษา กับระดับสมรรถนะในการปฏิบัติงาน ดำเนินการโดย 1) คณะกรรมการที่ปรึกษาการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน 2) คณะกรรมการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ มีเลขาธิการสภาการศึกษาเป็นประธาน

เพื่อขับเคลื่อนและสร้างความเชื่อมโยงระหว่างระดับคุณวุฒิการศึกษากับระดับสมรรถนะในการทำงานในประเทศไทยกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และเทียบเคียงกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (ASEAN Qualifications Reference Framework : AQRF) ด้วย

ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมา คณะกรรมการทั้งสองชุดได้มีการประสานงานและดำเนินงานมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในหลายส่วน แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่า  ยังไม่มีความเชื่อมโยงกันระหว่างหลักสูตรกับค่าตอบแทนที่จะได้รับ

ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีความเห็นตรงกันว่า คณะกรรมการเดิมอาจมีอำนาจไม่มากพอ ทำให้การขับเคลื่อนไม่มีมากนัก ควรมีกลไกและกรอบการทำงานใหม่ขึ้นมารองรับ เพื่อให้คณะกรรมการมีอำนาจในการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม หากจำเป็นต้องเสนอความเห็นชอบนายกรัฐมนตรีให้ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ก็จะต้องทำ

ในส่วนของคณะกรรมการเดิมนั้นก็ยังคงอยู่ และได้มอบโจทย์ให้ สอศ.หารือกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เพื่อพิจารณาถึงอาชีพที่ควรจะต้องเร่งทำกรอบคุณวุฒิวิชาชีพให้แล้วเสร็จก่อน โดยเฉพาะสายอาชีวะที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญมาก 

เพราะหากสามารถจัดทำกรอบคุณวุฒิวิชาชีพให้สอดคล้องกับรายได้ ก็จะเป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจในการเรียนสายอาชีพต่อไป พร้อมทั้งให้มีการหารือกับภาคเอกชนเพื่อร่วมพิจารณาถึงการเทียบเคียงกับกรอบคุณวุฒิวิชาชีพแห่งชาติในแต่ละระดับเชื่อมโยงกับค่าตอบแทนที่สถานประกอบการจะต้องจ่ายให้กับบุคลากร

ทั้งนี้ จะมีการดำเนินการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิทางการศึกษาแห่งชาติไทยกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างกัน รวมถึงมีการสื่อสารเรื่องมาตรฐานฝีมือแรงงานเป็นภาษาเดียวกันด้วย

อนึ่ง กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (National Qualifications Framework : NQF) เกิดขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2556 ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 โดยขับเคลื่อน 4 ยุทธศาสตร์ คือ การพัฒนาความร่วมมือกับสถานประกอบการ, การพัฒนาหลักสูตร, การพัฒนาระบบทดสอบวัดประเมินผล และการเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถให้แก่สถาบันการศึกษา