อยากรู้? ข้าราชการครูฯ ณ ปัจจุบัน มีเส้นทางรายได้รวมกันแล้วเท่าไหร่ คลิกอ่าน!เลย


ผู้สื่อข่าวประจำ “สำนักข่าวการศึกษา สยามเอ็ดดูนิวส์” สำรวจข้อมูลเส้นทางความก้าวหน้าวิชาชีพครู ที่ ณ ปัจจุบัน ใครๆ ก็มองว่า อาชีพข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีรายได้ค่าตอบแทน โดยเฉพาะฐานเงินเดือนและเงินวิทยฐานะค่อนข้างสูงมาก ตั้งแต่เริ่มแรกที่สอบบรรจุเข้ารับราชการครูในตำแหน่ง “ครูผู้ช่วย” จนถึงรับเงินเดือนแท่ง คศ.5 และเงินตอบแทนวิทยฐานะตั้งแต่ “ครูชำนาญการ” จนถึงครูเชี่ยวชาญพิเศษ

แต่เหตุใดข้าราชการครูฯจำนวนมาก นับหลายแสนคนจึงยังประสบกับปัญหาภาวะหนี้สินล้นตัว ซึ่งคงไม่ได้มีสาเหตุแค่กู้เงินมาทำธุรกิจแล้วเจ๊งเท่านั้น สาเหตุนี้น่าจะมีเพียงจำนวนน้อยนิด ไม่น่าจะใช่ครูจำนวนเรือนหมื่นเรือนแสน!

จากนั้นเข้ากระบวนการสรรหา โดยต้องมีคุณสมบัติตามมาตรฐาน ได้แก่ ตำแหน่งครูผู้ช่วย ซึ่งต้องเข้ารับการสอบแข่งขัน(บุคคลทั่วไป) การคัดเลือก(กรณีพิเศษ เนื่องจากการสอบแข่งขันอาจทำให้ไม่ได้บุคคลต้องตามประสงค์ของทางราชกร กรณีนักเรียนทุน ครูอัตราจ้าง พนักงานราชการ ฯลฯ

สำหรับรายได้ค่าตอบแทนข้าราชการครูฯที่เป็นเงินเดือน และเงินวิทยฐานะ (ไม่นับรวมรายได้จากการสอนพิเศษ หรือเป็นติวเตอร์กวดวิชาในแต่ละเดือน) นั้น

เริ่มจากเมื่อสอบแข่งขันผ่านการคัดเลือกและบรรจุแต่งตั้งในตำแหน่ง “ครูผู้ช่วย” ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการเตรียมความพร้อมและพัฒนาตนเองในวิชาชีพครูฯอย่างเข้มข้นภายใน 2 ปี หรือจะเรียกว่าเป็นช่วงเวลาการทดลองงานก่อนจะรับเงินเดือนในตำแหน่ง “ครู” แท่งบัญชี คศ.ต่างๆ ตามคุณวุฒิที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนด ในช่วงเวลานี้จะได้รับเงินเดือนขั้นต่ำ 15,050 บาท ขยับเรื่อยไปจนถึงเงินเดือนขั้นสูงสุดของตำแหน่งครูผู้ช่วย 24,750 บาท

หลังจากนั้นเป็นช่วงของการดำรงตำแหน่ง “ครู” จะเริ่มรับเงินเดือนในอันดับที่เรียกว่าบัญชีเงินเดือนแท่ง คศ.1-คศ.5 โดยมีอัตราเงินเดือน คศ.1 ขั้นต่ำ 15,440 บาท ขั้นสูง 34,310 บาท, คศ.2 ขั้นต่ำ 16,190 บาท ขั้นสูง 41,620 บาท, คศ.3 ขั้นต่ำ 19,860 บาท ขั้นสูง 58,390 บาท, คศ.4 ขั้นต่ำ 24,400 บาท ขั้นสูง 69,040 บาท และสูงสุด คศ.5 ขั้นต่ำ 29,980 บาท ขั้นสูง 76,800 บาท

นอกจากนี้ ผู้ที่ดำรงตำแหน่ง “ครู” ยังสามารถทำผลงานขอประเมินรับวิทยฐานะ ได้รับเงินตอบแทนพิเศษเพิ่มเติมจากเงินเดือนได้อีก

เริ่มตั้งแต่วิทยฐานะ “ชำนาญการ” ขยับขึ้นไปจนถึง “เชี่ยวชาญพิเศษ” ซึ่งสามารถจะข้ามเป็นสายบริหารก็ได้ เช่น รองผู้อำนวยการ (ผอ.) สถานศึกษา ผอ.สถานศึกษา หรือ รอง ผอ.สพท./รอง ผอ.กศน.จังหวัด ผอ.สพท./ผอ.กศน.จังหวัด หรือแม้แต่จะเป็นศึกษานิเทศก์(ศน.) โดยวิทยฐานะและเงินตอบแทนที่ได้รับจะยังตามติดตัวไปด้วย

ครูที่ผ่านการประเมินรับวิทยฐานะ “ชำนาญการ” จะได้เงินวิทยฐานะนี้ในอัตรา 3,500 บาทต่อเดือน โดยยังไม่มีเงินค่าตอบแทนพิเศษเพิ่มเติมให้ จะต้องผ่านการประเมินรับวิทยฐานะตั้งแต่ “ครูชำนาญการพิเศษ” จนถึง “ครูเชี่ยวชาญพิเศษ” เสียก่อน ถึงจะได้รับเงินตอบแทนพิเศษเพิ่มเติมดังกล่าวอีก

“ครูชำนาญการ” จะได้รับเงินเดือนแท่ง คศ.2 และได้รับเงินวิทยฐานะในอัตรา 3,500 บาทต่อเดือน และหลังจากมีวิทยฐานะ “ชำนาญการ ” ครบ 1 ปี สามารถเสนอขอรับการประเมินเพื่อเลื่อนเป็นวิทยฐานะ “ครูชำนาญการพิเศษ” ได้ หรือครูบางคนที่มีวิทยฐานะครูชำนาญการมา 5 ปี ก็สามารถเสนอขอรับการประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะเป็น “ครูเชี่ยวชาญ” ได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด

เมื่อรับการประเมินเลื่อนเป็นวิทยฐานะ “ชำนาญการพิเศษ” แล้ว จะได้รับเงินวิทยฐานะนี้ 5,600 บาทต่อเดือน บวกเงินค่าตอบแทนพิเศษอีก 5,600 บาทต่อเดือน รวมได้รับเงินวิทยฐานะบวกเงินค่าตอบแทนพิเศษ จำนวน 11,200 บาท นอกเหนือจากที่ได้รับเงินเดือนแท่ง คศ.3

และเมื่อมีวิทยฐานะเป็นครูชำนาญการพิเศษมา 3 ปี สามารถจะเสนอขอรับการประเมินเพื่อนเลื่อนวิทยฐานะเป็น “ครูเชี่ยวชาญ” ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ก.ค.ศ.กำหนด

หากได้รับการประเมินเลื่อนเป็นวิทยฐานะ “ครูเชี่ยวชาญ” แล้ว จะได้รับเงินวิทยฐานะนี้จำนวน 9,900 บาทต่อเดือน และเงินค่าตอบแทนเพิ่มเติม 9,900 บาทต่อเดือน รวมเงินวิทยฐานะบวกเงินค่าตอบแทน จำนวน 19,800 บาท นอกเหนือจากที่ได้รับเงินเดือนแท่ง คศ.4 

ภายหลังจากมีวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญมา 2 ปี สามารถเสนอขอรับการประเมินเพิ่มเลื่อนเป็นวิทยฐานะ “ครูเชี่ยวชาญพิเศษ” ได้อีก ซึ่งจะได้รับเงินวิทยฐานะนี้ 13,000 บาทต่อเดือน บวกเงินค่าตอบแทนเพิ่มเติมอีก 13,000 บาทต่อเดือน รวมเงินวิทยฐานะบวกเงินค่าตอบแทน จำนวน 26,000 บาท นอกเหนือจากที่ได้รับเงินเดือนในแท่ง คศ.5

นอกจากนี้ “ครูเชี่ยวชาญพิเศษ” ที่ได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นสูงของแท่งบัญชี คศ.4 ยังจะได้รับเงินวิทยฐานะปรับขึ้นไปเป็น จำนวน 15,600 บาท และปรับขึ้นเงินค่าตอบแทนเป็น 15,600 บาทต่อเดือน ด้วย รวมเงินวิทยฐานะบวกเงินค่าตอบแทนจำนวน 31,200 บาท

ตอนท้ายนี้ ผู้สื่อข่าวประจำ “สำนักข่าวการศึกษา สยามเอ็ดดูนิวส์” ได้สำรวจข้อมูลจำนวนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตามทะเบียนประวัติปี พ.ศ.2558 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 409,499 คน โดยอยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 392,061 คน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จำนวน 14,552 คน สังกัดสำนักงาน กศน. จำนวน 2,671 คน และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (โรงเรียนสาธิต) จำนวน 215 คน