“บิ๊กหนุ่ย” สั่ง สอศ.ตรวจสอบสถานศึกษาอาชีวะส่งกลิ่น! เปิดสอน ปวช.-ปวส.เทียบโอนประสบการณ์นอกที่ตั้ง จบใน 1 ปี


ความคืบหน้าภายหลัง “สำนักข่าวการศึกษา สยามเอ็ดดูนิวส์” ในคอลัมน์เสวนากับบรรณาธิการ ได้ลงเผยแพร่สถานการณ์ช่วงชิงเพื่อการอยู่รอดของเหล่าสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน ด้วยการเข้าไปจับคู่กับสถานศึกษาอาชีวะบางแห่งในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เปิดเป็นศูนย์สอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในหลักสูตรภาคสมทบ แบบเทียบโอนประสบการณ์ในหลากหลายหลักสูตร เรียนเฉพาะวันอาทิตย์ รวมทั้งมีที่เรียนผ่านทางไกลออนไลน์ สอบเดือนละ 1 ครั้งที่ศูนย์สมัครเรียน จบภายใน 1 ปีนิดๆ

โดยมีการโฆษณาอย่างโจ่งครึ่มทางอินเตอร์เน็ต ระบุค่าเรียนตลอดหลักสูตร ปวช.ทุกสาขา 9,450 บาท และระดับ ปวส.เฉลี่ยสาขาวิชาละ 2 หมื่นกว่าบาทนั้น

ล่าสุด ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2559 ว่า ในวงประชุมเชิงปฏิบัติการการบริหารจัดการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและเอกชน มี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน เมื่อเร็วๆ นี้ มีผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวะเอกชนแห่งหนึ่งแสดงความห่วงใย กรณีมีสถานศึกษาอาชีวะบางแห่งเปิดสอน ปวช.และ ปวส.แบบเทียบโอนประสบการณ์ และมีการโฆษณาชวนเชื่อว่า สามารถเรียนจบและได้รับวุฒิการศึกษาภายใน 1 ปี

ทำให้ พล.อ.ดาว์พงษ์เป็นห่วงว่าจะส่งผลกระทบกับคุณภาพการอาชีวะโดยรวม จึงมอบหมายให้ สอศ.ตรวจสอบข้อเท็จจริง และแก้ไขปัญหาดังกล่าว เบื้องต้นในส่วนของสถานศึกษาอาชีวะภาครัฐนั้น ไม่พบว่ามีสถานศึกษาแห่งใดเปิดสอนในลักษณะดังกล่าว

ส่วนสถานศึกษาอาชีวะเอกชน ทาง สอศ.ยังไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลในเชิงลึก แต่เบื้องต้นพบมีการส่งข้อมูลผ่านไลน์เป็นรูปใบปลิวรับสมัครเข้าเรียน ปวช.และ ปวส.ระบบเทียบโอนประสบการณ์ในสาขาวิชาต่างๆ อาทิ บัญชี การจัดการทั่วไป คอมพิวเตอร์ธุรกิจ และช่างไฟฟ้า ฯลฯ

โดยข้อความยังระบุว่าสามารถสมัครได้โดยตรงหลายสถานที่ เช่น ที่โรงเรียนย่านแจ้งวัฒนะ จ.นนทบุรี, ใน อ.พานทอง จ.ชลบุรี, อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา และที่ห้างสรรพสินค้าย่านหลักสี่กรุงเทพฯ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ทาง สอศ.ลงพื้นที่ตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน ถ้าเป็นกรณีโรงเรียนถูกแอบอ้างชื่อเป็นสถานที่สมัครหรือสถานที่เรียน ทางโรงเรียนก็ต้องแจ้งความดำเนินคดีในฐานะผู้เสียหาย

“สอศ.จะทำหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานที่มีสถานศึกษาเปิดสอนหลักสูตร ปวช.และ ปวส. ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงาน กศน. ขอให้ตรวจสอบว่ามีสถานศึกษาในสังกัดเปิดสอนในระบบเทียบโอนประสบการณ์นอกสถานที่ตั้งหรือไม่ ถ้ามี เปิดสอนถูกต้องหรือไม่ ซึ่ง สอศ.จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบมาตรฐานการจัดการเรียนการสอน ทั้งด้านหลักสูตร จำนวนครูอาจารย์ และสถานที่ตั้ง ว่าได้มาตรฐานหรือไม่”

เลขาธิการ กอศ.กล่าวต่อว่า โดยหลักการ การเรียนในระบบเทียบโอนประสบการณ์มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะเรียนจบ ปวช.หรือ ปวส.ภายใน 1 ปี ซึ่งแสดงว่าผู้เรียนจะต้องมีความรู้ความสามารถในสาขาวิชาชีพนั้นค่อนข้างมาก และที่สำคัญจะต้องได้มาตรฐานตามที่ สอศ.กำหนด และต้องเปิดสอนถูกกฎหมายด้วย

อย่างไรก็ดี สอศ.ไม่มีนโยบายให้สถานศึกษาอาชีวะทั้งภาครัฐและเอกชนไปเปิดสอนในระบบเทียบโอนประสบการณ์นอกสถานที่ตั้ง หากพบว่ามีสถานศึกษาในสังกัดแห่งใดไปเปิดสอนโดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวะรัฐ จะต้องถูกลงโทษทางวินัย ส่วนสถานศึกษาอาชีวะเอกชนจะถือว่ากระทำผิด พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 มีโทษถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งสถานศึกษา

ทั้งนี้ ผู้ที่ทราบเบาะแสมีการเปิดสอนระบบเทียบโอนประสบการณ์ และสงสัยว่าเปิดสอนไม่ถูกต้อง สามารถติดต่อแจ้ง สอศ.ให้ไปตรวจสอบได้ ที่อีเมล roy2559@vec.go.th