อาจารย์จุฬาฯวิจัย “อิเหนา” พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2...ตอบโจทย์ความสัมพันธ์วรรณกรรมไทย-อาเซียน


“อิเหนา” เป็นวรรณกรรมที่เป็นมรดกร่วมของกลุ่มประเทศอาเซียน มีที่มาจาก นิทานปันหยี ซึ่งแพร่หลายตั้งแต่สมัยอยุธยา ต่อมาได้กลายเป็นวรรณคดี ถ่ายทอดผ่านการแสดงและศิลปะต่างๆ

เรื่องปันหยีของไทยที่สมบูรณ์ที่สุดคือ พระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 มีลักษณะสำคัญคือ ใช้เพื่อเล่นละครใน เป็นละครรำของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเมื่อเข้ามาในสังคมไทย ได้นำมาใช้ในวัตถุประสงค์เฉพาะ ได้แก่ การนำมาใช้ในการแสดงที่มีขนบการประพันธ์และขนบการแสดงเฉพาะตัว

เรื่องอิเหนาจึงมีมิติในวรรณคดีต่างชาติและวรรณคดีการแสดงของไทยผสมผสานอยู่ด้วยกัน

ผศ.ดร.ธานีรัตน์ จัตุทะศรี ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า นิทานปันหยีเป็นนิทานวีรบุรุษของชวา ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 12 โดยกำเนิดของนิทานมาจากพระมหากษัตริย์ของชวาตะวันออก 2 พระองค์ วีรกรรมที่เป็นต้นกำเนิดคือ การรบ การปกครองอาณาจักรให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง

รวมถึงเรื่องราวความรักที่กษัตริย์ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงต่างเมืองที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน เกิดการหลอมรวมอาณาจักร ซึ่งเป็นต้นกำเนิดสำคัญที่ในเวลาต่อมาได้นำมาผูกเป็นเรื่องเล่า ผสมกับจินตนาการ กลายเป็นนิทานวีรบุรุษที่เรียกว่า นิทานปันหยี 

นิทานเรื่องนี้มีความสำคัญในเชิงของศิลปะ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินในการสร้างงานศิลปกรรมต่างๆ ทั้งในด้านวรรณกรรม ประติมากรรม จิตรกรรมและการแสดงต่างๆ 

ในชวามีการนำเรื่องนี้ไปเล่นหนัง เล่นหุ่น ละครรำ ละครหน้ากากต่างๆ  ขณะที่มลายูนำไปเล่นหนัง เล่นละคร ส่วนในประเทศไทยนำมาเล่นละครใน อีกทั้งยังมีการแสดงประเภทอื่นๆ ที่นำนิทานเรื่องนี้ไปเล่น เช่น ละครดึกดำบรรพ์ หมอลำซิ่ง ละครรำ ละครพูด ละครเวทีต่างๆ 

ผศ.ดร.ธานีรัตน์ กล่าวต่อว่า จากการศึกษาวิจัยได้ค้นพบว่า อิเหนาในพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2 มีแก่นสำคัญของนิทานปันหยี เรื่องราวที่เชิดชูวีรกรรมของตัวละครเอก ความรัก ความกล้าหาญ มีการสืบทอดอนุภาคสำคัญของนิทานปันหยีไว้ รวมถึงบทบาทหลักของตัวละคร แต่แสดงเอกลักษณ์แบบไทยไว้ มีการตัดแต่งต่อเติม ปรับเรื่องให้สอดคล้องกับละครใน

เช่น การปรับแต่งให้เป็นบทพรรณนาให้เป็นไปตามแบบแผนของวรรณคดีบทละครใน มีการประพันธ์ด้วยภาษาที่งดงามในวรรณศิลป์และเอื้อต่อการแสดงละครใน เต็มไปด้วยโวหารที่มีความหมายทิ้งท้ายลึกซึ้งตลอดทั้งเรื่อง หรือที่เรียกว่าวรรคทอง

มีการเล่นเสียงสัมผัส การสรรคำ การเล่นคำ หรือการใช้คำเปรียบที่ใช้ความหมาย และมีการดัดแปลงและสร้างสรรค์ใหม่หลายตอน เพื่อความสนุกและความสมเหตุสมผล เอื้อแก่การแสดงละครรำแบบละครใน

“ประโยชน์ที่ได้จากการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ จะช่วยตอบโจทย์และขยายความเข้าใจในเรื่องของวัฒนธรรมมากขึ้น ได้เรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมไทยและวรรณกรรมอาเซียน ได้เห็นความหลากหลายของวัฒนธรรมในอาเซียน ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชนในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งจะเป็นประชาคมที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งกันและกัน” ผศ.ดร.ธานีรัตน์กล่าว