สพฐ.สำรวจภาวะทุพโภชนาการนักเรียนในสังกัดทั่ว ปท. พบ 4 จังหวัดต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานกว่า 1 แสนคน มีทั้ง “ผอม-เตี้ย”


นายทรงวุฒิ มลิวัลย์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากิจกรรมนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงภาวะทุพโภชนาการนักเรียนในสังกัด สพฐ.ทั่วประเทศ ที่ยังต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานจำนวนมากว่า จากการสำรวจข้อมูลนักเรียนชั้น ป.1-ป.6 ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ร่วมกับโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ทั่วประเทศ พบว่ายังมีโรงเรียนที่ต้องดำเนินการเฝ้าระวังภาวะทุพโภชนาการของนักเรียนในสังกัดอยู่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตาก (พื้นที่ชาวเขา) และพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

สำหรับข้อมูลการสำรวจนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาตั้งแต่ชั้น ป.1- ป.6 ในพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังภาวะทุพโภชนาการในโรงเรียน 4 จังหวัดดังกล่าว มีจำนวนโรงเรียนทั้งสิ้น 1,104 โรง นักเรียน จำนวน 100,593 คน โดยพบว่าอยู่ในภาวะผอม จำนวน 24,898 คน, ค่อนข้างผอม จำนวน 26,867 คน, เตี้ย จำนวน 54,993 คน และค่อนข้างเตี้ย จำนวน 39,193 คน

ภาวะทุพโภชนาการดังกล่าวส่วนใหญ่พบในนักเรียนเพศชายมากกว่าเพศหญิง สาเหตุหลักๆ เกิดจากการบริโภคอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ รวมถึงการรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ปัญหาสุขภาพ และการพัฒนาทางร่างกายและสติปัญญาของเด็ก

นายทรงวุฒิกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทางคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนประถมศึกษา ซึ่งมีเงินกองทุนประมาณ 6,000 ล้านบาท ได้มีความเห็นชอบให้จัดสรรเงินดอกผลกองทุนฯ จำนวนกว่า 100 ล้านบาท ให้กับโรงเรียนในพื้นที่ 4  จังหวัดดังกล่าวได้ดำเนินการเฝ้าระวังภาวะทุพโภชนาการของนักเรียนในโรงเรียน

นอกจากนี้ สพฐ.ได้ร่วมกับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ผ่านโครงการ “ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต” โดยมีวิทยากรเข้าไปสอนการเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ การทำเกษตรให้กับโรงเรียน เพื่อนำผลผลิตเหล่านี้มาทำเป็นโครงการอาหารกลางวัน โดยนำร่องไปแล้ว 67 โรงเรียน

อีกทั้ง สพฐ.ยังร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในโครงการเด็กไทยแก้มใส เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 60 พรรษา วันที่ 2 เมษายน 2558 ภายใต้การบูรณาการงาน 8 กิจกรรม ได้แก่ 1.เกษตรในโรงเรียน 2.การจัดการเรียนรู้เกษตร โภชนาการ และสุขภาพ 3.การจัดบริการอาหารของโรงเรียน 4.สหกรณ์นักเรียน 5.การติดตามภาวะโภชนาการนักเรียน 6.การพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน 7.การพัฒนาสุขนิสัยนักเรียน และ 8.การจัดบริการสุขภาพในโรงเรียน 

“เชื่อว่าการดำเนินโครงการต่างๆ ของ สพฐ. จะช่วยทำให้นักเรียนในสังกัด สพฐ.ทั่วประเทศมีภาวะโภชนาการที่ดีขึ้นแบบยั่งยืนแน่นอน” นายทรงวุฒิกล่าว