ประเมินผล “คุ้ม-ไม่คุ้ม” เปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียน...วิเคราะห์ได้! จากทรรศนะ รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ


รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวถึงการเลื่อนการเปิด-ปิดภาคเรียนตามระบบอาเซียนว่า หลังจาก มทร.ธัญบุรี ได้ดำเนินการเรื่องนี้มาเป็นเวลา 2 ปี พบว่าในปีแรกจะพบปัญหาในช่วงรอยต่อของการปรับระบบ โดยเฉพาะนักศึกษาที่เข้าใหม่ แต่เมื่อเข้าสู่ระบบเต็มตัวแล้วก็ไม่ได้มีปัญหาหรืออุปสรรคอะไรมากนัก

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวผมเห็นว่าระบบการเปิด-ปิดเรียนของไทยในขณะนี้ ยังคงเป็น 2 ระบบอยู่ คือ การศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิด-ปิดระบบเดิม แต่ระดับอุดมศึกษาส่วนใหญ่เป็นแบบเดียวกับอาเซียน ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมไม่เกิดผลดีกับนักเรียนชั้น ม.6 หรืออาชีวศึกษา ที่จะเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา เพราะจะมีรอยต่อของระยะเวลาในการเข้าเรียนต่อนานมากกว่ามหาวิทยาลัยจะเปิดเทอม

ดังนั้น จึงอยากให้มีการจัดระบบการเปิด-ปิดเทอมเป็นระบบเดียวแบบทุกระดับชั้น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวต่อการจัดการศึกษา

หลังจากเปิด-ปิดเทอมตามอาเซียน ปรากฏว่านักเรียนชั้น ม.6 หรืออาชีวศึกษาที่จะเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา จะมีรอยต่อของระยะเวลาในการเข้าเรียนต่อหลายเดือน มทร.ธัญบุรี จึงได้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยให้นักเรียนที่เข้าเรียนต่อกับมหาวิทยาลัย ใช้ช่วงเวลาที่ว่างนั้นเรียนปรับพื้นฐานในวิชาภาษาอังกฤษหรือคณิตศาสตร์

ส่วนในนักเรียนที่เข้าเรียนต่อในคณะวิศวกรรมศาสตร์ หรือคุรุศาสตร์อุตสาหกรรม ให้เรียนปรับพื้นฐานวิชาช่าง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดเรียน

อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวอีกว่า ส่วนที่หลายๆ มหาวิทยาลัยมองว่า การเปิดภาคเรียนตามอาเซียนจะช่วยรองรับนักศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น ในส่วนของ มทร.ธัญบุรีมีตัวเลขนักศึกษาจากประเทศในกลุ่มอาเซียนเข้ามาเรียนเพิ่มไม่มาก เมื่อเปรียบเทียมกับการเปิดเทอมแบบระบบเก่า โดยส่วนใหญ่นักศึกษาจะมาจากประเทศอินโดนีเซีย และกัมพูชา

นอกจากนี้ ยังพบปัญหานักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีที่ต้องการจะไปศึกษาต่อในต่างประเทศ หลังจากที่มีการเปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียนปรากฏว่ามีเวลาในการเตรียมตัว เช่น การปรับพื้นฐานภาษาอังกฤษน้อยลง จากเดิมที่มีเวลาเตรียมตัวถึง 3 เดือน เหลือเวลาเตรียมตัวเพียง 1 เดือนเท่านั้น ทำให้บางคนต้องยอมเสียเวลา 1 เทอมเพื่อเรียนภาษาเพิ่มเติม

ดังนั้น ผมจึงอยากเห็นการตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดระบบการศึกษาของไทยเป็นแบบใดแบบหนึ่ง และเชื่อว่าแต่ละมหาวิทยาลัยคงไม่สามารถจัดกิจกรรมเพื่อรองรับในช่วงเวลาที่ว่างให้กับนักศึกษาได้