อ่านรายละเอียดคำสั่ง คสช.! ให้สถานศึกษาอาชีวะรัฐ-เอกชนขึ้นตรง สอศ. ...ประเดิมปรับปรุงโครงสร้าง ศธ.


ข่าวจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แจ้งว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559 ได้เผยแพร่คำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 8/2559 เรื่องการบริหารจัดการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการเกิดประสิทธิภาพ และมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการในการรวมการบริหารจัดการสถานศึกษาอาชีวศึกษา ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน และมีความคล่องตัวยิ่งขึ้น เป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านการศึกษา

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้โอนบรรดาอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินงานโรงเรียนในระบบประเภทอาชีวศึกษา ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และของข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของ สช.ในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินงานโรงเรียนในระบบ ประเภทอาชีวศึกษา ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ไปเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) หรือของข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของ สอศ.แล้วแต่กรณี

ข้อ 2 ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้ ภาระผูกพัน ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง และอัตรากำลังของ สช.ในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินงานโรงเรียนในระบบประเภทอาชีวศึกษา ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ไปเป็นของ สอศ. ทั้งนี้ ตามบัญชีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศกำหนด

ข้อ 3 บรรดาอำนาจหน้าที่ของเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) และพนักงานเจ้าหน้าที่ของ สช. ในการอนุญาต การมอบหมาย หรือการปฏิบัติการอื่นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินงานโรงเรียนในระบบ ประเภทอาชีวศึกษา ให้โอนไปเป็นอำนาจหน้าที่ของเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของ สอศ.แล้วแต่กรณี

ในการมอบหมายตามวรรคหนึ่ง เลขาธิการ กอศ.จะมอบหมายให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นแทนการมอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาก็ได้

ข้อ 4 บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีใดที่อ้างถึง สช. หรือข้าราชการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของ สช.ดังกล่าว ในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินงานโรงเรียนในระบบ ประเภทอาชีวศึกษา ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ให้ถือว่าอ้างถึง สอศ.หรือข้าราชการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของ สอศ.ดังกล่าว แล้วแต่กรณี

ข้อ 5 บรรดาใบอนุญาตที่ผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนในระบบประเภทสามัญศึกษา หรืออาชีวศึกษา และได้รับอนุญาตให้จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรการอาชีวศึกษา หรือหลักสูตรสามัญศึกษา แล้วแต่กรณีด้วย ให้ผู้รับใบอนุญาตมีสิทธิดำเนินการต่อไปตามที่ได้รับอนุญาต และให้ สอศ. หรือ สช. แล้วแต่กรณี ดำเนินการออกใบอนุญาตให้ใหม่ตามที่จำเป็นโดยเร็ว

ข้อ 6 บรรดาคำขออนุญาตหรือคำขออื่นใดในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินงานโรงเรียนในระบบประเภทอาชีวศึกษา ที่ได้ยื่นไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ ให้เป็นอันใช้ได้  และให้ สช.ส่งมอบให้เลขาธิการ กอศ.เพื่อดำเนินการต่อไป

ข้อ 7 ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ข้อ 8 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา (กกศ.) ให้สัมภาษณ์กับ “สำนักข่าวการศึกษา สยามเอ็ดดูนิวส์” ฉายภาพความคืบหน้าการปรับปรุงโครงสร้างบริหารกระทรวงศึกษาธิการยุคใหม่ ที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการในยุคของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในขณะนี้ ตอนหนึ่งว่า “ในเรื่องระบบการบริหารจัดการหรือโครงสร้างองค์กรบริหารใน ศธ. ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าโครงสร้างองค์กรจะมีผลต่อประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 3 ส่วนที่มีภาพปรากฏออกมา อาทิ ภาพที่ 1 รัฐมนตรีเองและฝ่ายบริหารใน ศธ.เห็นว่า ควรจะมีการนำวิทยาลัยอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชนมารวมกัน และให้ไปอยู่ในแท่งของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และให้มีการจัดตั้งกรมวิชาการขึ้นมาใหม่ เพื่อมาทำหลักสูตรในภาพรวมของประเทศ

“ภาพนี้มีความชัดเจนพอสมควร และกำลังเสนอไปที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ประกาศตั้งเลย เพราะทุกคนเห็นร่วมกันแล้วว่าดี แต่ทาง คสช.เห็นว่าเรื่องนี้ละเอียดอ่อน เกี่ยวพันกับหลายเรื่อง ก็ส่งไปให้กฤษฎีกาไปดูอีกครั้งว่า เหมาะสมหรือไม่”