เปิดเวทีผู้นำทางศาสนา “เรียนรู้ เข้าใจ เข้าถึง” เพื่ออยู่ร่วมกันบนความเชื่อที่แตกต่าง...ปลูกฝังได้! ในโรงเรียน

 

เป็นที่ทราบกันดีว่าโลกของเราในปัจจุบันมีหลายศาสนาที่คนศรัทธานับถือ เฉพาะในประเทศไทยมีด้วยกัน 5 ศาสนา ได้แก่ พุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดู และซิกข์ ซึ่งหัวใจสำคัญของทุกศาสนาคือ สอนให้ทุกคนเป็นคนดี

สกู๊ป แวดวงการศึกษา แต่หลายครั้งที่ความแตกต่างทางด้านความเชื่อนี้ นำมาซึ่งความไม่เข้าใจ จนลุกลามบานปลายกลายเป็นความแตกแยก และเกิดโศกนาฏกรรมทั่วทุกมุมโลก ดังที่เราเห็นกันจนชินตาตามหน้าหนังสือพิมพ์

ด้วยเล็งเห็นและตระหนักในปัญหาดังกล่าว บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด จึงจัดงานสัมมนา “เรียนรู้ เข้าใจ เข้าถึงศาสนาและวัฒนธรรมที่สำคัญของโลก พุทธ คริสต์ อิสลาม” ขึ้น ณ อาคารนานมีบุ๊คส์เฮ้าส์ ซอยสุขุมวิท 31 กทม. เมื่อเร็วๆ นี้ โดยเชิญผู้บริหารและคณาจารย์จากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศเข้าร่วมงาน

เพื่อนำแนวคิดจากผู้นำทางศาสนาที่มาร่วมเสวนาไปเผยแพร่ให้กับนักเรียน ซึ่งถือว่าเป็นเป็นผ้าขาวและเป็นอนาคตสำคัญของชาติ ให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องสำคัญและละเอียดอ่อนเช่นนี้

ซึ่งปลูกฝังได้ในโรงเรียน ยิ่งเริ่มต้นเร็วเท่าไรยิ่งดี

สกู๊ป แวดวงการศึกษา เริ่มต้นด้วย สุวดี จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานว่า หลักคำสอนสำคัญที่สอดคล้องกันของทุกศาสนาคือสอนให้ทุกคนเป็นคนดี รู้จักรัก และให้อภัยกัน ทั้งยังสอนให้เปิดใจกว้างยอมรับความเชื่อและความเห็นที่แตกต่าง ทุกศาสนามีคุณค่าเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคน ช่วยให้จิตใจสงบ หล่อหลอมจิตใจให้มีคุณธรรม ศีลธรรม และจริยธรรม เป็นจุดกำเนิดให้เกิดความรัก ความสามัคคี ซึ่งเป็นพื้นฐานสังคมที่จะช่วยทำนุบำรุงสังคมให้ดีขึ้น 

“การจัดงานในครั้งนี้จึงไม่เพียงเป็นการเผยแพร่แนวคิด หลักคำสอน และแก่นของแต่ละศาสนาเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้บุคคลต่างศาสนาได้ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ที่สำคัญยังเป็นการปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่ยอมรับความแตกต่างทางศาสนาที่หลากหลายอีกด้วย”

นายวีระ โรจพจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ที่ให้เกียรติมากล่าวเปิดงานและแสดงปฐกถาในหัวข้อ ศาสนา...พื้นฐานสำคัญสู่บทบาทการเป็น active citizen” ว่า ตอนนี้กระทรวงวัฒนธรรมมีนโยบายให้นำศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมมาสร้างคนให้เป็นคนดี สร้างสังคมให้เป็นสังคมแห่งความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ปรองดอง สมานฉันท์ และใช้วัฒนธรรมในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สร้างเกียรติภูมิของไทยและภาพลักษณ์ไทยในเวทีโลก 

การสร้างคนให้เป็นคนดีและสร้างสังคมให้เป็นสังคมที่ดีนั้น สามารถนำศาสนาและวัฒนธรรมมาเป็นเครื่องมือ ศาสนิกชนที่อยู่ในเมืองไทยทั้ง 5 ศาสนาเราต่างอยู่ร่วมกันอย่างสันติมาก เมื่อมีความเดือดร้อนเกิดขึ้นผู้นำศาสนาทั้ง 5 ศาสนาก็จะมาร่วมมือกันรณรงค์จัดงานการกุศล เพื่อระดมทุนช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านที่เดือดร้อน เช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เฮติ สึนามิที่ญี่ปุ่น และแผ่นดินไหวที่เนปาล 

“และภารกิจสำคัญอย่างหนึ่งของกระทรวงวัฒนธรรมคือสืบทอดและถ่ายทอดค่านิยม 12 ประการ ซึ่งจะครอบคลุมให้ทุกคนเป็นคนดี โดยที่ผ่านมาเราได้รณรงค์และจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้คนเป็นคนดีอย่างสม่ำเสมอ”

สกู๊ป แวดวงการศึกษา สันติ เสือสมิง ประธานคณะอนุกรรมการคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ อัสสะลามุ อะลัยกุม...วิถีแห่งอิสลาม ว่า การทักทายสำหรับชาวมุสลิมทั่วโลก ไม่ว่าจะภาษาใด สีผิวใด เวลาเจอกันหรือจากลากันจะมีประโยคที่ใช้เฉพาะซึ่งเป็นคำภาษาอาหรับหรือภาษาอารบิก นั่นคือคำว่า ‘อัสซาลามมาเลกุม’ ซึ่งแปลว่า สันติจงมีแด่ท่าน ซึ่งเป็นการอวยพร

“ไม่ว่าจะเป็นคนจีนพูดภาษาจีน หรือเป็นคนมุสลิมที่อยู่ในประเทศจีน เป็นชาวเวียดนามที่นับถือศาสนาอิสลาม หรือเป็นชาวจามที่อยู่ในประเทศกัมพูชา เป็นคนอัฟริกัน หรือลาตินอเมริกา หรือคนในยุโรปตะวันออกหรือตะวันตก หรืออยู่ในประเทศที่ลงท้ายด้วยสถานทั้งหลาย เวลาเจอหน้ากันถ้าเขารู้ว่าเป็นมุสลิม เขาก็จะทักทายด้วยคำว่า ‘อัสซาลามมาเลกุม’  ซึ่ง ‘ซาลาม’ แปลว่า สันติ’”

มุขนายกยอแซฟ ชูศักดิ์ สิริสุทธิ์ เลขาธิการสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ศาสนาคริสต์กับการอยู่ร่วมกันในสังคมว่า หน้าที่ของเราที่เด่นมากในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา คือการส่งเสริมสันติภาพ เราจะเห็นความขัดแย้งที่มาสู่ความรุนแรงและการคุกคามของสงครามให้เห็นอย่างต่อเนื่อง เราจึงถูกเรียกร้องให้มีพันธะผูกพันให้อยู่ร่วมกันแบบใหม่

ถ้าต่างคนต่างศรัทธาจะไม่พอแล้ว ถ้าไม่เข้าใจคนอื่น ไม่รู้วิธีที่จะผูกมิตรสร้างพลังที่จะผูกมิตรจะไม่พอแล้ว ท่านพุทธทาสได้บอกไว้ว่า ‘เราเป็นมิตร ศัตรูที่แท้จริงคือเอามนุษย์ออกจากโลกของศาสนา’ ดังนั้น ศาสนิกชนในยุคนี้ไม่ได้มีหน้าที่แข่งขันกันอีกต่อไป แต่จะต้องหาความร่วมมือพัฒนาสังคมโลกให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป  และเกิดสันติสุขอย่างแท้จริง

เราต้องยอมรับว่าศาสนาก็เป็นต้นเหตุของสงครามและความขัดแย้งไม่ใช่น้อย การยึดเอาแต่พวกพ้องของตัวเองแบบนี้เป็นการนับถือศาสนาที่ผิด ยึดแต่ว่าเราถูกต้องจนเกิดการใช้ความรุนแรง ซึ่งผิดกับคำสอนศาสนาอิสลาม สอนว่าพูด คิด และปฏิบัติต้องสันติ ศาสนาคริสต์สอนว่า ความรักต้องพูดออกมาให้ชัดเจน แล้วคุณก็ทำออกมา ซึ่งก็ตรงกับคำสอนของศาสนาพุทธว่า พูดและสอนต้องลงมือทำ 

“ยุคของเราเป็นยุคที่ต้องชำระศาสนา และจะต้องปฏิบัติอย่างถูกต้องไม่สุดโต่ง ทุกศาสนาเคยสร้างรอยด่างไว้ทุกมุมโลก พระเยซูเคยกล่าวว่า ‘ใครที่สร้างสันติย่อมเป็นสุข’ คำสอนนี้เพื่อมนุษยชาติ พระศาสนจักรสอนไว้ว่า ‘การแบ่งแยกหรือเบียดเบียนรังแกใดๆที่กระทำต่อมนุษย์ เพราะเรื่องชาติ ผิว ชั้น วรรณะ ศาสนาของเขานั้นเป็นการผิดต่อจิตตารมย์ของพระเยซูเจ้า’”

สกู๊ป แวดวงการศึกษา ศาสนาจารย์ ดร.ศึกษา เทพอารีย์ ศิษยาภิบาลคริสตจักรวัฒนา ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ หลักความรัก...บทบัญญัติสำคัญของศาสนาคริสต์ ว่า ครูมีความรับผิดชอบในการสอนการสร้าง ต้องรักในการสร้างคน หลักคำสอนของคริสต์ศาสนาคือต้องรักในสิ่งทำ รักในสิ่งที่เป็นหน้าที่ รักในสิ่งที่เป็นความรับผิดชอบของเรา เพราะเรากำลังสร้างคนดีเพื่อไปสร้างประเทศชาติต่อไป

การสร้างคนจะต้องใช้จริยธรรมในการสร้าง แม่พิมพ์เป็นอย่างไรลูกพิมพ์ก็จะเป็นอย่างนั้น ครูจึงต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าตนเองดีพอหรือยังที่จะสร้างเด็กๆขึ้นมาในสังคม

ผมขอเสนอทฤษฎีของ Howard Gardner ปรมาจารย์ด้านห้าจิตคิด (Five Minds for the Future) โดยเริ่มจากสอนให้มีจิตคิดเรื่องทักษะ (Disciplinary Mind) คือการมีวินัยในการเรียนรู้ จากนั้นก็จะนำไปสู่การมีจิตสังเคราะห์ (Synthesizing Mind) เราจะสอนยังไงให้ลูกศิษย์ของเรารู้จักแยกแยะว่า อะไรคือความดี อะไรคือความชั่ว อะไรคือหลักกฎหมาย อะไรคือหลักจริยธรรม ต่อมาคือจิตสร้างสรรค์ (Creating Mind) คือ การคิดต่อยอด จะคิดสร้างสรรค์ให้สังคมดีกว่านี้ได้อย่างไร อีกข้อคือจิตเคารพ (Respectful Mind)

“ทั้ง 3 ศาสนาต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน สุดท้ายคือจิตรู้จริยธรรม (Ethical Mind) ซึ่งเป็นสิ่งที่สูงที่สุด และจิตรู้จริยธรรมในทางศาสนาคริสต์คือเรื่องของความรัก ทั้งห้าลักษณะนี้สามารถสร้างคนให้เป็นคนดี การปลูกฝังการยอมรับซึ่งกันและกัน พระเยซูเจ้าสอนว่าถ้าเราปรารถนาให้คนอื่นทำอะไรให้กับเรา เราจะต้องทำอย่างนั้นกับคนอื่นก่อน ถ้าครูอยากให้นักเรียนประพฤติตัวดี ครูก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี จึงมีคำพูดหนึ่งที่ว่า อย่าทำตามที่ครูทำ จงทำตามที่ครูสอน”

พระศรีธรรมภาณี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ มัชฌิมาปฏิปทา...แนวทางแห่งพุทธ ว่า สัมมาทิฏฐิเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว ก่อนที่จะมาเป็นสัมมาทิฏฐิคิดดีคิดชอบมีอยู่ 2 ส่วน คือ มีมิตรดี (กัลยาณมิตร) พระก็เป็นมิตร ครูก็เป็นมิตร พ่อแม่ก็เป็นมิตร เพื่อนหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวก็เป็นมิตร

เพราะฉะนั้น ครูจึงได้ชื่อว่าเป็นกัลยาณมิตรส่วนหนึ่งของทั้งชีวิตของคน บทบาทของครูคือผู้ที่ชี้แนะแนวทาง หรือชี้นำความสว่างไสวให้กับลูกศิษย์ พุทธปรัชญาการศึกษาบอกไว้ว่า ครูจะต้อง ‘แนะให้ทำ นำให้ดู อยู่ให้เห็น เย็นให้ลูกศิษย์สัมผัส สำเร็จได้’ หนึ่งพันคำพูดก็ไม่เท่ากับหนึ่งพฤติกรรมที่ทำให้ดู บทบาทของครูคือ ผู้ที่ชี้แนะแนวทาง หรือชี้นำความสว่างไสวให้กับลูกศิษย์

สังคมสมัยนี้เริ่มไหลไปกับสังคมโลก เราต้องปลูกฝังเรื่องดีๆ ให้เด็ก เพื่อให้เขาอยู่ได้ในสังคมอย่างเก่ง ดี มีความสุข ผ่านการกิน อยู่ ดู ฟัง อย่างมีสติ สิ่งเหล่านี้ต้องสอนเมื่อเขายังเล็ก แล้วก็ปรับพฤติกรรมเรื่องระเบียบวินัย เอาวัฒนธรรมเข้าไปใส่ ผอ. ครู ยันภารโรงต้องปลอดอบายมุข กิน คือกินอย่างมีสติ อยู่ คืออยู่อย่างมีจิตอาสา ดู คือดูแล้ววิเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ และฟัง คือฟังให้เป็น

“เรื่องการศึกษาวิถีพุทธคือการเอาหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญาเข้าไปบูรณาการจัดการการศึกษาทั้ง 8 กลุ่มสาระ เพราะศีล สมาธิ ปัญญาคือการดำเนินชีวิตของคน

สกู๊ป แวดวงการศึกษา

ปิดท้ายงานสัมมนาครั้งนี้ด้วย คุณคิม จงสถิตย์วัฒนา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด ที่กล่าวได้อย่างน่าคิดว่า ในยุคโลกาภิวัฒน์คนเราจะได้พบเจอและติดต่อกับคนต่างวัฒนธรรม จึงควรเรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมอื่นที่ต่างจากเรา สีผิวที่ต่างกัน ภาษาที่ต่างกัน ฐานะทางบ้านที่ต่างกัน ศาสนาที่ต่างกัน ล้วนเป็นสิ่งที่เด็กๆ ทุกคนจะต้องเจอ

ฉะนั้น การฝึกเด็กๆ ให้รู้จักคิดวิเคราะห์จึงสำคัญมาก เพราะการใช้ชีวิตโดยยึดถือตนเองเป็นศูนย์กลางอาจทำให้เกิดความขัดแย้งจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมได้ ซึ่งคุณลินดา นักเขียนของหนังสือพิมพ์ Washington Post เขียนในบทความว่า ‘โรงเรียนไม่ควรเทศ แต่ควรสอนเด็กๆเกี่ยวกับศาสนา’ การสอนเรื่องศาสนาต่างๆในโรงเรียนจะช่วยให้เด็กๆ สร้างความคิดเห็นแบบมีความรู้ และปลูกฝังให้พวกเขาเป็นพลเมืองของโลกที่มีสำนึกรู้ได้

สกู๊ป แวดวงการศึกษา

นอกจากนี้ คุณลินดายังบอกอีกว่า ในการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศ จำเป็นที่ต้องคุยกันถึงวิธีการสอนศาสนาแบบ best practice จะพัฒนาครูอย่างไร ควรเริ่มสอนตั้งแต่เมื่อไร เราต้องเข้าใจว่าการสอนศาสนาในโรงเรียนไม่ใช่แค่เป็นเรื่องที่โอเค แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำ เพราะถึงแม้ว่าระบบการศึกษาไม่อาจขจัดความขลาดเขลาได้ แต่อย่างน้อยก็ช่วยลดระดับได้ ซึ่งหนังสือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังที่จะสร้างคนในสังคมให้ยอมรับ และชื่นชมความแตกต่างได้ 

“ดังนั้น เมื่อจะสอนให้เด็กเป็นคนที่มีสิทธิเสรีภาพ ก็ต้องสอนให้เขารู้จักคิด มีสายตากว้างไกล รู้จักตัดสินด้วยตัวเอง และไม่ตกเป็นทาสความคิดของคนอื่น’ และนี่ก็เป็นสิ่งที่ดิฉันอยากแบ่งปันกับทุกท่านว่า ‘หนังสือเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังที่จะสร้างสังคม ที่ยอมรับและชื่นชมความแตกต่าง’ ขอให้ทุกคนเพลิดเพลินกับการอ่านค่ะ” คุณคิม กล่าวปิดท้าย

สรุปได้ว่า ในยุคโลกาภิวัฒน์ ทุกคนมีสิทธิ์นับถือศาสนาที่ตนชอบ หรือจะไม่นับถือศาสนาใดเลยก็ได้ แน่นอนว่าเราจะได้พบเจอและติดต่อกับคนต่างศาสนาและต่างวัฒนธรรม แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือการเปิดใจเรียนรู้ เข้าใจ และยอมรับความแตกต่างทางความเชื่อ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในยุคแห่งความหลากหลาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เริ่มปลูกฝังได้ตั้งแต่ในโรงเรียน

โดย สุวพันธ์ ชัยปัจชา