ครูของแผ่นดิน ตอนที่3

พระผู้ทรงเป็นครูฯ “การศึกษาตามอัธยาศัย”

            การเสด็จพระราชดำเนินไปยังท้องถิ่นต่างๆทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย  ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบถึงความเดือดร้อนของพสกนิกรหลายด้าน

            ด้านหนึ่งที่พระองค์ทรงตระหนักเป็นพิเศษคือ  การพระราชทานความรู้และการศึกษาตามอัธยาศัยแก่ประชาชนผ่านศูนย์การศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่พระองค์ทรงตั้งขึ้น  เพื่อให้เป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตในภูมิภาคต่างๆ  สำหรับให้ประชาชนเข้าไปศึกษาความรู้ตามอัธยาศัย  สามารถนำความรู้ตางๆไปปรับประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้

            ทั้งนี้ได้พระราชทานหลักการดำเนินชีวิตเพื่อการนำสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างมีประสิทธิผล  ที่เป้าหมายอันมุ่งหวังและได้ประสบความสำเร็จตามนั้นคือความสุขอย่างยั่งยืนในครอบครัว  ในชุมชนด้วยเพราะการหลุดพ้นจากความอดอยากขาดแคลนที่เกาะกุมครอบครัวชุมชนมาเนินนานได้แก่หลักการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  อันมีฐานของคุณธรรมนำขับเคลื่อนการประกอบอาชีพคือความขยัน  อดทน  อดออม  ไม่โลภ  มีความรักสามัคคีกัน  มีความเมตตากรุณาต่อกันมั่นอยู่ในความกตัญญูรู้คุณ

            การศึกษาตามอัธยาศัยผ่านศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่พระราชทานไว้มี  6  แห่งทั่วประเทศคือศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ตำบลเขาหินซ้อน  อำเภอพนมสารคาม  จังหวัดฉะเชิงเทราจัดตั้งตามพระราชดำริเมื่อวันที่  8  สิงหาคม 2522

            ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ตำบลกลุวอเหนือ  อำเภอเมือง  จังหวัดนราธิวาสจัดตั้งตามพระราชดำริเมื่อวันที่  18  สิงหาคม- 3  ตุลาคม  2524

            ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ตำบลสนามไชย  อำเภอท่าใหม่  จังหวัดจันทบุรี

            ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  บ้านนานกเค้า  ตำบลห้วยยาง  อำเภอเมือง  จังหวัดสกลนคร

            ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ป่าขุนแม่กวง  อำเภอดอยสะเก็ด  จังหวัดเชียงใหม่

            ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ตำบลสามพระยา  อำเภอชะอำ  จังหวัดเพชรบุรี

สุขทั้งแผ่นดิน

พระราชทานทุนการศึกาและโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน

            ในการส่งเสริมการศึกษาของชาติให้มีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศด้วยการพัฒนาศักยภาพมนุษย์นั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ

            ทรงริเริ่มโครงการที่ส่งเสริมการศึกษาและการจัดตั้งทุนการศึกษา  โดยทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้งกองทุนต่างๆเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาของชาติอย่างหลากหลาย  อาทิ ทุนมูลนิธิ “ภูมิพล”

            มูลนิธิอานันทมหิดล  ,  มูลนิธิช่วยครูอาวุโส , ทุนเล่าเรียนหลวง  , ทุนพระราชทานแก่นักเรียนชาวเขา ,ทุนปริญญาเอกกาญจนาภิเษก  เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ  50  ปี

ฯลฯ

พระผู้ทรงเป็นครูของแผ่นดิน

            พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิใช่เพียงพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ที่ทรงดำรงในทศพิธราชธรรมเป็นแบบอย่างอันสมบูรณ์แก่พสกนิกรเท่านั้น  หากแต่พระราชกรณียกิจทุกอย่างของพระองค์คือ พระราชภารกิจต้นแบบที่ดีงามของความเป็นครูทั้งสิ้น 

            เพราะถึงแม้พระองค์จะมิได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงสอนหนังสือเหมือนครูในระบบอื่นๆ  แต่พระองค์ทรงทำหน้าที่ของครูมาในทุกช่วงของพระชนมายุ  ทรงเป็นครูของพสกนิกรทุกหมู่เหล่าที่ทรงให้การอบรมบ่มเพาะทั้งเรื่องชีวิต  การศึกษา  ศาสนา  วัฒนธรรม  ประเพณีครบถ้วนสมบูรณ์ในทุกมิติของชีวิต

            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแนวพระราชดำริในเรื่องหน้าที่ของครูไว้อย่างชัดเจนว่า

            “หน้าที่ของครูคือ การสร้างเสริมรากฐานอันแข็งแรง  สมบูรณ์  ให้แก่เยาวชน  ทั้งในด้านร่างกาย  จิตใจ  และความรู้ความฉลาด  และที่สำคัญที่สุดจะต้องฝึกอบรมให้รู้จักความรับผิดชอบชั่วดี  รู้จักตัดสินใจด้วยเหตุผล  และรู้จักสร้างสรรค์ตามแนวหน้าที่สุจริตยุติธรรม”

            พระราชดำรัสพระราชทานเมื่อวันที่  27  กรกฎาคม  2525

            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญกับจุดมุ่งหมายของการสอนว่า  การสอนคือการอบรมสั่งสอนให้คนได้เรียนดี  เพื่อที่สามารถทำงานสร้างตัวและดำรงตนให้เป็นหลักเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมได้

            ทรงเป็นครูของแผ่นดินที่มิได้หมายเฉพาะผู้เป็นพสกนิกรในแผ่นดินไทยเท่านั้น  หากแต่ยังหมายรวมครอบคลุมได้ถึงมนุษยชาติในแผ่นดินของโลกที่ได้น้อมนำหลักคิด  หลักวิชา  หลักปฏิบัติของพระองค์ไปปรับประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิตจนประสบความสำเร็จ

สุขทั้งแผ่นดิน

 พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิใช่เพียงแค่พระราชกรณียกิจความเป็นพระมหากษัตริย์เท่านั้น  การที่พระองค์ทรงมีพระเกียรติยศขจรขจายเป็นที่เทิดทูนในนานาอารยประเทศ  เป็นเพราะพระราชกรณียกิจของพระองค์ที่ทรงปฏิบัติมิใช่เป็นเพียงหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ดังที่กล่าวแล้ว  หากแต่ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจความเป็นครูของมนุษยชาติด้วยการทรงงานที่เป็นนวัตกรรมสำหรับมนุษยชาติในฐานะพระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดินที่ไม่มีพรมแดนใดๆเข้ามาเป็นอุปสรรคขวางกั้นสิ่งที่เป็นวิทยาทานให้แก่มนุษยชาติได้นำไปพัฒนาศักยภาพของตนเอง

            ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกและพระองค์เดียวของโลกที่องค์การสหประชาชาติทูลเกล้าฯถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์(UNDP Human  Development  Live  Time  Achievement  Award)  โดยนาย  โคฟี  อันนัน  เลขาธิการสหประชาชาติและนางแนน  อันนัน ภริยา  ได้เดินทางเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการ  ในฐานะแขกของรัฐบาล  ในระหว่างวันที่  25-27  พฤษภาคม 2549  เพื่อทูลเกล้าฯถวายรางวัลความสำเร็จสูสุดด้านการพัฒนามนุษย์ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ  แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เพื่อเฉลิมพระเกียรติในพระปรีชาสามารถและพระราชกรณียกิจในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของพสกนิกรไทยมาโดยตลอดรัชสมัย

            รางวัลที่ทูลเกล้าฯถวายครั้งนี้เป็นรางวัลเกียรติยศที่ริเริ่มขึ้นใหม่โดยสหประชาชาติเพื่อเทิดพระเกียรติเป็นกรณีพิเศษในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ  60  ปีซึ่งพระองค์ทรงเป็นผู้ที่ได้รับการถวายรางวัลเกียรติคุณนี้เป็นพระองค์แรกของโลก

           สุขทั้งแผ่นดิน นายโคฟี  อันนัน  เลขาธิการสหประชาชาติได้กล่าวสุนทรพจน์สดุดีพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า  นับเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่สำหรับองค์การสหประชาชาติที่ได้ทูลเกล้าฯถวายรางวัล “ความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์”  แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  สำหรับสหประชาชาติพิธีมอบรางวัลนี้มีความหมายสำคัญอย่างยิ่ง  เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการจัดทำรางวัลเกียรติยศเพื่อมอบแก่บุคคลดีเด่นที่ได้อุทิศตนตลอดช่วงชีวิตและสร้างผลงานอันดีเป็นที่ประจักษ์ไม่มีสิ่งอื่นใดอีกแล้วที่จะยิ่งใหญ่ไปกว่าการพัฒนาคนภายใต้แนวทางของพระองค์

            นวัตกรรมที่ทรงศึกษาค้นคว้า  ทดลอง  พัฒนาจนกลายเป็นคุณูปการแก่มนุษยชาติ  ไม่ว่าจะเป็นกังหันชัยพัฒนา  ฝนหลวง  โครงการแก้มลิง  เกษตรทฤษฎีใหม่  หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯลฯ  นับเป็นผลงานของพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นครูของศิษย์  ครูของครูและของมนุษยชาติต่อเนื่องตลอดจนถึงปัจจุบัน          

            ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันไพศาลต่อการพัฒนาการศึกษาของชาติและของมนุษยชาติ  ในการประชุมชชของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่  21  ธันวาคม  2553  คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการถวายพระราชสมัญญา “พระผู้ทรงเป็นครูของแผ่นดิน”เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา  7  รอบ  5  ธันวาคม  พุทธศักราช  2554  และเพื่อความเป็นสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลแก่พสกนิกรชาวไทยสืบไปตลอดกาลนาน