ครุศาสตร์ ราชภัฏอยุธยา เปิดเวทีเสวนา "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ สู่การปฏิบัติ"...สะท้อนคำถามและข้อห่วงใยจากผู้ปกครอง

คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา จัดงานครุวิชาการ ภายใต้ชื่อ "พระผู้ทรงเป็นแม่และครุแห่งแผ่นดิน" เป็นปีที่ 4 ณ ห้องประชุมอาคาร ๑๐๐ ปี เมื่อเร็วๆ นี้ โดยในงานมีการจัดเวทีเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ สู่การปฏิบัติ" ในมุมมองของนักวิชาการ ผู้บริหาร ผู้ปกครอง และนักเรียน โดยได้รับความสนใจจากผู้เข้าฟังจำนวนมาก

เวทีนี้มีผู้เข้าร่วมเสวนา อาทิ ด.ญ. ฐิตินาถ อ่อนเกตุพล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์, นายอำนวย พุทธมี ผู้อำนวยการโรงเรียนพญาไท โรงเรียนนำร่อง “การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ.

ดร.จารุวรรณ พลอยดวงรัตน์ อาจารย์สาขาวิชาการบริหารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และนางวันทนีย์ เลี้ยงพันธ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ในฐานะตัวแทนผู้ปกครองนักเรียน

โดยมี ดร.นิภาพร กุลสมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินรายการ   

สกู๊ป แวดวงการศึกษา เสียงจากผู้เข้าร่วมเสวนาทุกฝ่ายต่างขานรับหลักการนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้”  ของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และคาดหวังว่า จะช่วยเสริมสร้างทักษะชีวิตและส่งเสริมการเรียนรู้ให้เด็กสนุกและมีความสุขกับการเรียน ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ที่สนองและสอดรับกับความต้องการของผู้เรียน ความถนัดของครู และความพร้อมเรื่องของทรัพยากรของโรงเรียนและพื้นที่

เริ่มจาก ด.ญ.ฐิตินาถ อ่อนเกตุพล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ ในฐานะตัวแทนนักเรียนได้แนะนำกิจกรรมที่จะสร้างความสนุกและความสุขแก่นักเรียน

"กิจกรรมที่อยากทำในช่วงบ่าย เช่น กิจกรรมวาดรูป ร้องรำ เน้นเรื่องความสนุกสนานรื่นเริง หรือกิจกรรมเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ส่วนเพื่อนๆ สนใจชมรมภาษาอังกฤษ ชมรมกีฬา เพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพทางร่างกายให้แข็งแรงและมีน้ำใจนักกีฬา และอื่นๆ"

ผู้อำนวยการโรงเรียนพญาไท นายอำนวย พุทธมี ได้แสดงความคิดเห็นต่อการจัดกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ สู่การปฏิบัติจริงว่า มีความแตกต่างกันไปตามบริบทความต้องการของเด็ก ครู และเป้าหมายของแต่ละโรงเรียน

"...บริบทของความพร้อมแต่ละโรงเรียนมีความแตกต่างกัน เพราะฉะนั้น ในเรื่องของกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ จะต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมและบริบทของแต่ละโรงเรียน การนำสู่การปฏิบัติจึงต้องเปิดช่องให้โรงเรียนได้คิดหรือสร้างสรรค์กิจกรรมตามความพร้อมของโรงเรียนด้วย

สำหรับที่โรงเรียนพญาไท เราให้ความรู้ครูทั้งโรงเรียนในช่วงปิดเทอม โดยเชิญศึกษานิเทศก์ Smart Trainer จากทาง สพฐ. มาให้ความรู้ ความเข้าใจ นัดประชุมผู้ปกครองเพื่อชี้แจงให้ทราบความเคลื่อนไหว ซึ่งฝ่ายบริหารจะช่วยในเรื่องการเตรียมข้อมูล เอกสาร และสื่อวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนสนับสนุนในเรื่องงบประมาณเพื่อเสริมสร้างกิจกรรมต่างๆ ให้ดำเนินได้อย่างสะดวก..."

ขณะที่ ดร.จารุวรรณ พลอยดวงรัตน์ อาจารย์สาขาวิชาการบริหารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มศว ชี้แนวทางการจัดกิจกรรมว่า จิตวิญญาณความเป็นครูเป็นสิ่งสำคัญ คือ ครูรักเด็ก เด็กสัมผัสได้ นำไปสู่พัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก ปฏิรูปการสอนครูของครู โดยบูรณาการการสอนให้สอดรับกับนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” และมาตรฐานการเรียนรู้ ตลอดจนประสานความร่วมมือกับเพื่อนร่วมวิชาชีพครูทุกฝ่าย

สกู๊ป แวดวงการศึกษา

"ครูจะต้องลดความเป็นตัวตนลง และประสานความร่วมมือกับครูในสาขาวิชาอื่นเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงบูรณาการกับเด็กและครู กิจกรรมดังกล่าวทำให้เกิดความสุขในการเรียนรู้ร่วมกัน...การเติมเต็ม 5F Fun, Find, Focus, Fantastic การเรียนรู้ทักษะชีวิต และทักษะในศตวรรษที่ 21

นอกจากนี้ สพฐ.จะต้องคิดระบบการประเมินผลและปลดล็อคระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยต่อไป..."

ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของตัวแทนผู้ปกครอง นางวันทนีย์ เลี้ยงพันธ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ที่แสดงความเป็นห่วงรอยต่อระหว่างช่วงชั้นเรียน

เป็นมุมมองของผู้ปกครองที่ติดตามการจัดกิจกรรมตามนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ของทางโรงเรียน โดยมองว่ากิจกรรมต่างๆ ไม่มีความเชื่อมโยงกับระบบการวัดประเมินผลของช่วงรอยต่อในระดับชั้นเรียนที่สูงขึ้น

"...ดิฉันเห็นด้วยกับนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ แต่ลึกๆ ช่วงรอยต่อระหว่างชั้นประถมศึกษาขึ้นชั้น ม.1 หรือช่วงชั้น ม.6 สอบเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย ยังไม่แน่ใจว่าระบบการศึกษาทั้งหมดจะรองรับการสอบแข่งขันดังกล่าวได้หรือไม่ เนื่องจากการสอบแข่งขันค่อนข้างสูง

แต่ด้วยระบบของการศึกษาไทย จริงๆ แล้ว การลดระยะเวลาเรียนแม้จะช่วยส่วนหนึ่ง แต่จะตอบโจทย์สังคมไทยและจะสามารถหล่อหลอมทั้งระบบให้ไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างไร"

เป็นคำถามและข้อห่วงใยที่คนระดับผู้บริหารในกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น ถึงจะตอบได้...??