2 อาจารย์จุฬาฯได้รับรางวัลอาจารย์ดีเด่น สออ.ประเทศไทย สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ

ข่าวการศึกษา

มาคมสถาบันการศึกษาขั้นอุดมแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำประเทศไทย ได้มอบรางวัลอาจารย์ดีเด่น (สออ.ประเทศไทย) ให้แก่อาจารย์ที่มีความคิดสร้างสรรค์ อุทิศกำลังกายกำลังใจให้แก่วงการการศึกษา ครองตนเป็นต้นแบบที่ดีให้กับอาจารย์รุ่นหลัง

ซึ่งอาจารย์ดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ปี พ.ศ.2558 ได้แก่ ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลอาจารย์ดีเด่นประเภทอาจารย์อาวุโสดีเด่น และ ทพ.นพ.ธิติพงษ์ พฤกษศรีสกุล คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับรางวัลอาจารย์รุ่นใหม่ดีเด่น โดยพิธีมอบรางวัลจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี


ศ.นพ.รังสรรค์ อาจารย์อาวุโสดีเด่น กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ จากผลงานที่เป็นที่ยอมรับตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ทั้งในด้านการเรียนการสอนนิสิตและบุคลากรในวงการสาธารณสุข โดยเฉพาะงานสอนและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร และการส่องกล้องในระบบทางเดินอาหาร รางวัลนี้จะเป็นกำลังใจที่สำคัญในการทำงานในอนาคต

ข่าวการศึกษา

ศ.นพ.รังสรรค์ เผยถึงหลักในการทำงานว่า จะวางแผนการทำงานล่วงหน้า ทำให้การแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญคือพยายามตั้งใจทำงานให้เกินร้อย ทำตัวให้เหมือนปลาที่ว่ายทวนน้ำ ทำให้ไม่รู้สึกเหนื่อยเมื่อมีภาระงานที่หนักเพราะได้ทำอยู่เป็นประจำจนเป็นกิจวัตร  นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งดีกว่าการทำงานคนเดียว ความภาคภูมิใจในฐานะอาจารย์คือการที่นิสิตหรืออาจารย์รุ่นเยาว์ที่ได้ให้คำปรึกษาชี้แนะ ได้ไปนำเสนองานวิจัย และผลงานประสบความสำเร็จได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่

ศ.นพ.รังสรรค์ ได้ฝากข้อคิดสำหรับผู้ที่ทำหน้าที่อาจารย์ว่า จะต้องหมั่นพัฒนาตัวเองโดยคิดว่าตัวเองเป็นแก้วที่เติมน้ำได้เรื่อยๆโดยไม่เคยเต็ม การยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นและเรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหาจากมุมมองที่ต่างจากเรา ทำให้การมองปัญหาได้กว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้น ในที่สุดก็จะมีความชำนาญและนำมาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางที่เหมาะสมกับตนเองที่สุด       


ด้าน ทพ.นพ.ธิติพงษ์ พฤกษศรีสกุล อาจารย์รุ่นใหม่ดีเด่น กล่าวว่า รู้สึกภาคภูมิใจมากที่ได้รับรางวัลอาจารย์ดีเด่นในครั้งนี้ หน้าที่ความรับผิดชอบของอาจารย์มีทั้งการเรียนการสอน การดูแลผู้ป่วย การวิจัย การพัฒนานิสิต การบริการวิชาการ รวมถึงงานด้านการบริหาร ดังนั้นการแบ่งเวลาให้งานแต่ละส่วนอย่างเหมาะสมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง 

ที่ผ่านมาพยายามทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่ ในด้านการเรียนการสอน  เน้นจัดการเรียนการสอนนิสิตแบบกลุ่มย่อยโดยใช้ปัญหาจากผู้ป่วยในคลินิกเป็นหลัก  เพื่อกระตุ้นให้นิสิตเกิดคำถาม ใฝ่รู้ และฝึกการค้นหาคำตอบด้วยตนเองเพื่อแก้ปัญหาของผู้ป่วย โดยมีการวิจัยในชั้นเรียน และนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนนิสิตให้เกิดการเรียนรู้มากขึ้นและต่อเนื่อง 

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างกลุ่มการเรียนรู้ เพื่อให้นิสิตทันตแพทย์ชั้นปีที่ 4-6 ได้อภิปรายกรณีศึกษาผู้ป่วยผ่านทาง facebook โดยมีอาจารย์ทันตแพทย์เฉพาะทางแต่ละสาขาให้ความเห็น เป็นการเรียนรู้ร่วมกันทั้งนิสิต ทันตแพทย์ และอาจารย์ทันตแพทย์ภายในสังคมออนไลน์ที่สามารถเรียนรู้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง” ทพ.นพ.ธิติพงษ์กล่าว