“หมอยงยุทธ” ชี้ปฐมวัยไทยมีปัญหาเรื้อรังนับ 10 ปี จี้รัฐลงทุน 1 ได้กลับคืน 7 เท่า แก้อ่าน-เขียนไม่ได้ยั่งยืน


นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต และคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง “สถานการณ์เด็กปฐมวัยในประเทศไทยและหลักการสร้างเสริมพัฒนาการเด็ก” ภายในงาน “ปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ : เปิดแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่” ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพรระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้

จัดโดยภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ทั้งนี้ นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า สถานการณ์ของเด็กปฐมวัยไทยเป็นปัญหาเรื้อรังมากว่า 10 ปี ผลการวัดพัฒนาการเด็กไทย ค่าเฉลี่ยพบว่ามีเด็กปฐมวัยพัฒนาการล่าช้าอยู่ระหว่างร้อยละ 28-30 วัดทีไรก็ล่าช้าจำนวนประมาณเท่านี้ทุกที

โดยปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อคุณภาพเด็กปฐมวัยมี 3 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.ปัจจัยที่ตัวเด็ก อันเกิดจากปัญหาเด็กผอม เตี้ย อ้วน ขาดสารไอโอดีนและธาตุเหล็ก ไม่ได้รับนมแม่ 2.ปัจจัยด้านการเลี้ยงดู พฤติกรรมการเลี้ยงดู และ 3.ปัจจัยด้านสื่อ เด็กอายุน้อยลงแต่เริ่มใช้สื่อเทคโนโลยีมากขึ้น ทำให้ติดเกมติดอินเตอร์เน็ต

นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า ทำไมต้องร่วมพัฒนาเด็กปฐมวัยให้ปฐมวัยมีคุณภาพ เป็นคำถามพื้นฐานที่ตอบง่าย แต่ประเทศไทยปฏิบัติช้ามาก ถ้ารัฐลงทุนที่ปฐมวัยสิ่งที่ประเทศจะได้รับคือ 1.เป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากที่สุด ลงทุน 1 เท่าได้กลับคืนสูงถึง 7 เท่า 2.จำเป็นสำหรับสังคมผู้สูงอายุมากที่สุด คุณภาพประชากรสำคัญมาก คนวัยทำงานต้องมีคุณภาพ เมื่อจำนวนประชากรผู้สูงอายุมีสัดส่วนสูงกว่าประชากรเกิด

และ 3.เป็นพื้นฐานของชีวิต ถ้าเด็กมีคุณภาพตั้งแต่ปฐมวัย จะอ่านออกเขียนได้ แนวโน้มออกกลางคันลดลง เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพที่ดี เป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ ผลิตภาพทางเศรษฐกิจดี ประกอบอาชีพสูง เสียภาษีให้รัฐมาก อัตราการหย่าร้างต่ำ ชุมชนเข้มแข็งสังคมก็ยั่งยืน

“จากตัวเลขการประเมินพัฒนาการเด็กไทยใน ปี พ.ศ.2557 พบพัฒนาการภาพรวมเด็กวัย 0-2 ปี ล่าช้าร้อยละ 21.9, เด็กวัย 3-5 ปี ล่าช้าร้อยละ 34 โดยพัฒนาการด้านภาษาที่เป็นตัวแทนในเรื่องสติปัญญาล่าช้ามากที่สุด ฉะนั้น จงเปิดหน้าต่างโอกาสการเรียนรู้ของเด็กวัย 0-6 ปี โดยเร็วที่สุด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีเด็กกลุ่มเสี่ยงทางสุขภาพ สมองขาดออกซิเจน และทางสังคม เช่น แม่วัยรุ่น ไม่ได้อยู่กับแม่ ฐานะยากจน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ต้องรอการคัดกรอง ไม่ต้องใช้เครื่องมือใดๆ มาวัด สามารถให้การช่วยเหลือได้ทันที เพราะทุกอย่างรู้ทันทีตั้งแต่เกิด

ดังนั้น โรงพยาบาลส่งเสริมประจำตำบล ครูผู้ดูแลเด็กต้องเร่งแก้ไข อย่ารอการวัดพัฒนาการด้วยเครื่องมือต่างๆ เพราะปัจจัยเสี่ยงเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่แก้ไขได้ เช่น เด็กอยู่กับปู่ย่าตายาย ก็ต้องแนะนำการเลี้ยงดูที่ถูกวิธี

“หรือกรณีรัฐจ่ายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด เดือนละ 400 บาท/คน สำหรับคนจนสำคัญมาก แต่รัฐก็ไม่เข้าใจคำว่าลงทุนที่คุ้มค่าคืออะไร หากวันนี้ รัฐยังลงทุน 400 บาท ก็จะได้กลับคืน 2,800 บาท แต่หากรัฐบาลลงทุน 1,000 บาท ก็จะได้ความคุ้มค่าในการลงทุนสูงถึง 7,000 บาท” นพ.ยงยุทธ กล่าว

นพ.ยงยุทธ กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม จุดเริ่มต้นของการแก้ไขจึงต้องเริ่มที่ปฐมวัย ปัญหาเริ่มต้นจากปฐมวัย หน้าต่างแห่งโอกาสไม่เฉพาะการส่งเสริม แต่เป็นการแก้ไขด้วย ดังนั้น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) ต้องมีคุณภาพตามเกณฑ์ คือ 1.ดูแลใกล้ชิด โดยบุคลากรคุณภาพในสัดส่วนที่สูง 2.ปลอดภัย 3.ประสบการณ์เรียนรู้ตามพัฒนาการและ 4.สร้างความสามารถในการสื่อสาร

ทั้งนี้ การแก้ไขเชิงระบบใน 5 ระบบหลัก คือ 1.ระบบบริหารจัดการ 2. ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม 3.ระบบการจัดหลักสูตรการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ 4.ระบบการดูแลสุขภาพ และ 5.ระบบการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน โดยการพัฒนาแบบก้าวกระโดด สู่การเป็นศูนย์เรียนรู้ดีเลิศทั้ง 5 ระบบ พร้อมทั้งมีการขยายเครือข่ายการเรียนรู้ออกไป ถือเป็นความท้าทายใหม่ที่จังหวัดเข้ามามีบทบาทในการเป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อน

“ซึ่งต้องมีระบบ มีเครื่องมือ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของพ่อ แม่ สร้างสิ่งแวดล้อม ทำกิจกรรมดีๆ ให้เกิดขึ้น เพื่อร่วมกันสร้างคุณภาพปฐมวัย รากแก้วแห่งชีวิต”