“บิ๊กหนุ่ย” ใช้อำนาจ รมว.ศธ.สั่งควบคุม ม.เอแบคแล้ว! ตั้งอดีตอธิการบดี ม.แม่โจ้ ประธาน กก.ควบคุมฯ


พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ 47/2559 ลงวันที่ 22 มกราคม 2559 เรื่องให้มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) อยู่ในความควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

โดยมีสาเหตุเนื่องมาจากกรณีกรรมการสภามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มีปัญหาความขัดแย้งแบ่งเป็นสองฝ่าย และได้นำข้อพิพาทไปฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาล ซึ่งศาลได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในคดีหมายเลขดำที่ พ.3531/2558 แต่ก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่า กรรมการสภามหาวิทยาลัยมีพฤติกรรมไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล และสภามหาวิทยาลัยก็ไม่สามารถดำเนินการประชุมเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายได้

ความขัดแย้งของกรรมการสภามหาวิทยาลัยจึงทวีความรุนแรงขึ้น จนเมื่อวันที่ 28-30  ธันวาคม 2558 ได้เกิดเหตุการณ์ชุลมุนบริเวณหน้ามหาวิทยาลัย ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญที่ถือเป็นสถาบันอุดมศึกษาเก่าแก่และมีชื่อเสียงมายาวนาน

คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ในการประชุมครั้งที่ 1/2559 (นัดพิเศษ) เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2559 พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นกรณีที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดีดำเนินการอันเป็นภัยอย่างร้ายแรงต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 86 (4) แห่ง พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2546 หากปล่อยให้ปัญหาเนิ่นนานออกไปก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัย

ส่งผลกระทบต่อนักศึกษาและสังคมโดยรวม คณะกรรมการ กกอ.จึงมีมติแนะนำให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.สั่งให้มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญอยู่ในความควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

ดังนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 86 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 พล.อ.ดาว์พงษ์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.จึงมีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2559 ให้มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญอยู่ในความควบคุมของ สกอ. และแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ประกอบด้วยบุคคล ดังต่อไปนี้

1) รองศาสตราจารย์อานนท์ เที่ยงตรง อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ประธานกรรมการ 2) ศาสตราจารย์สุรพล นิติไกรพจน์ กรรมการ 3) ศาสตราจารย์บุญเจริญ ศิริเนาวกุล กรรมการ 4) รองศาสตราจารย์สรนิต ศิลธรรม กรรมการ 5) รองศาสตราจารย์ศศิวิมล มีอำพล กรรมการ 6) รองศาสตราจารย์สุภาว์ จุลนาพันธุ์ กรรมการ

7) รองศาสตราจารย์มานิตย์ จุมปา กรรมการ 8) นายกฤษณพงศ์ กีรติกร กรรมการ 9) นายสุภัทร จำปาทอง กรรมการ 10) ผู้อำนวยการสำนักประสานและส่งเสริมกิจการอุดมศึกษา กรรมการและเลขานุการ 11) เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ผู้ช่วยเลขานุการ และ 12) เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ผู้ช่วยเลขานุการ

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งควบคุมโดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งนี้

พล.อ.ดาว์พงษ์ให้สัมภาษณ์ว่า ได้มอบหมายให้คณะกรรมการควบคุมมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ดำเนินการใน 4 ข้อ คือ 1) เข้าไปดูแลให้งานของมหาวิทยาลัยเดินไปได้ อย่าให้สะดุด ทั้งงานประจำ (Routine) การเรียนการสอนของนักศึกษา และคณาจารย์ ให้เดินไปได้อย่าขาดตอน 2) ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาสาเหตุความขัดแย้งที่เกิดขึ้นที่นำมาสู่การใช้มาตรา 86 ต้องไปดูว่าความขัดแย้งอยู่ตรงไหน ใครผิดใครถูก โดยให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย นำความจริงมาเปิดเผยให้ได้

3) ให้สร้างความแข็งแกร่งให้มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญอย่างยั่งยืนได้ เช่น ไปดูกฎระเบียบที่มีอยู่ยังหลวม และนำมาซึ่งปัญหา ก็ต้องอุดช่องว่าง อะไรที่ควรจะมีเพิ่มเติมก็ให้เพิ่ม และ 4) หลังจากที่คณะกรรมการเข้าไปทำงานแล้ว ขอให้รายงานให้กระทรวงทราบทุก 1 เดือน และขอให้ส่งรายงานการประชุมสภามหาวิทยาลัยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรับทราบด้วยทุกครั้ง

“ไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการแก้ไขปัญหา เพราะต้องเข้าไปดูก่อนเพื่อหาสาเหตุว่ามีมากน้อยเพียงใด และเมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้วก็จะส่งคืนให้มูลนิธิผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งมหาวิทยาลัยตามเดิม ส่วนกรณีที่จะมีผู้ยื่นอุทธรณ์หรือไม่นั้น ผมยังไม่เห็นหนังสือดังกล่าว แต่ยินดีให้ความเป็นธรรม ขอให้เชื่อว่า ศธ.ไม่ได้ต้องการเข้าไปดำเนินการเช่นนี้ แต่ถึงเวลาและจำเป็น เพราะให้โอกาสในการพูดคุยกันมาไม่น้อย ในเมื่อไม่ลงตัวและมีเหตุการณ์บานปลาย ก็จำเป็นต้องหยุดเสียก่อน” รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าว

พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวย้ำว่า ไม่ได้ทำเพื่อใคร แต่ทำเพื่อมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเอง ถึงแม้จะเป็นมหาวิทยาลัยของเอกชน ซึ่งตามกฎหมายแล้วการจัดการศึกษาของเอกชนก็ต้องมาขออนุญาตภาครัฐ เพราะฉะนั้น รัฐก็มีสิทธิ์เข้าไปดูแลได้เมื่อเกิดปัญหากรณีเช่นนี้