“บิ๊กหนุ่ย” ให้แนวทาง กก.พัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน


พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ร่วมประชุมคณะกรรมการอำนวยการในคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2559 เมื่อเร็วๆ นี้

พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้สอดคล้องและเป็นไปตามวงรอบของการปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานในรอบ 10 ปี ซึ่งตนได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ จำนวน 3 คณะ เพื่อให้การปฏิรูปหลักสูตรและการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยทุกคนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้มีความรู้ ความสามารถ มีคุณธรรมจริยธรรม

ตลอดจนมีทักษะที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในทศวรรษที่ 21 โดยมีองค์ประกอบคณะกรรมการและหน้าที่ ดังนี้

1) คณะกรรมการอำนวยการ จำนวน 17 คน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน, มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นรองประธาน และมีเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นเลขานุการ โดยมีหน้าที่กำหนดกรอบวิสัยทัศน์และทิศทางการพัฒนาหลักสูตร ให้ความเห็นชอบและข้อเสนอแนะ ตลอดจนแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ/คณะทำงานในการดำเนินการ

2) คณะกรรมการกำหนดกรอบเนื้อหาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 23 คน โดยมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นที่ปรึกษา, เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นประธาน และรองเลขาคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นรองประธาน และมีผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นเลขานุการ

โดยมีหน้าที่กำหนดกรอบเนื้อหาสาระ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน ตลอดจนทักษะสำคัญและจำเป็นสำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ทั้งนี้มีอำนาจในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ/คณะทำงานเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงาน

และ 3) คณะกรรมการดำเนินงานพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ จำนวน 15 คน โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นประธาน, รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นรองประธาน และมีผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. เป็นเลขานุการ โดยมีหน้าที่จัดทำและพัฒนาหลักสูตร กำหนดแนวทางการพัฒนาบุคลากร สื่อการเรียนรู้และเอกสารประกอบ ตลอดจนมีอำนาจในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ/คณะทำงานเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงาน

ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ให้แนวทางในการปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรฉบับใหม่ โดยขอให้ศึกษาวิเคราะห์จากปัญหาที่พบในการใช้หลักสูตรปัจจุบัน อาทิ เด็กเรียนมากเกินไป, ขีดความในการแข่งขันกับนานาประเทศ, ทักษะภาษาอังกฤษ และการผลิตคนให้ตรงตามความต้องการของโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อนำสิ่งต่างๆ เหล่านี้มาปรับปรุงหรือแก้โจทย์ปัญหาในการพัฒนาเด็กของเราออกสู่สังคมยุคใหม่ที่บริบทเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายและหลากหลาย

โดยได้มอบแนวทางการดำเนินการใน 2 ส่วน คือ

1) กระบวนการพัฒนาหลักสูตร ที่จะต้องพัฒนาควบคู่ไปพร้อมๆ กันในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงแผนการสอนให้สอดคล้องกับหลักสูตรใหม่ ตลอดจนเทคนิค วิธีการ สื่อ/อุปกรณ์ที่ทันสมัยและเหมาะสมกับเด็กแต่ละช่วงชัย, การพัฒนาครูที่จะต้องมีการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตรใหม่ เพราะครูเป็นผู้ขับเคลื่อนการเรียนรู้ของผู้เรียน, การประเมินภายในที่จะต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับหลักสูตรใหม่

พร้อมทั้งหารือร่วมกับ สทศ.ที่จะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการประเมินด้วย ทั้งนี้ได้กำหนดให้นำหลักสูตรใหม่ไปทดลองใช้จัดการเรียนการสอนภายในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 จากนั้นจะนำผลการดำเนินงานมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขต่อไป

และ 2) เนื้อหาหลักสูตร  ที่จะต้องประกอบด้วยเนื้อหา 2 ส่วนที่สำคัญ คือ

1.สิ่งที่ต้องรู้ เป็นวิชาที่จำเป็นจะต้องเรียนและมีระบบการทดสอบที่ชัดเจน พร้อมทั้งสอดแทรกกระบวนการคิดวิเคราะห์ให้กับเด็กด้วย เช่น วิชาประวัติศาสตร์ไทย เป็นสิ่งจำเป็นที่เด็กไทยต้องเรียนรู้, วิชาภาษาอังกฤษที่ในปัจจุบันผู้เรียนมีแรงจูงใจน้อย และผู้ที่สนใจเรียนส่วนใหญ่ก็เพราะมีความเกี่ยวข้องกับอาชีพ เช่น การท่องเที่ยว

จึงได้มอบให้ สพฐ.หาแนวทางสร้างแรงจูงใจในการเรียนภาษาอังกฤษให้กับเด็ก โดยอาจเพิ่มเป็นกิจกรรมในโครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ เป็นต้น นอกจากนี้ให้มีการพิจารณาจำนวนรายวิชาตามความจำเป็นในแต่ละช่วงวัยด้วย โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อาจจะไม่ต้องเรียนถึง 8 กลุ่มสาระ แต่ยังคงใช้กรอบโครงสร้างเวลาเรียนเดิม ซึ่งในอนาคตเมื่อตัดไขมันหรือส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป ก็มีความเป็นไปได้ที่ในบางช่วงชั้นอาจเหลือเวลาเรียนครึ่งวัน และเข้าร่วมกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ในช่วงบ่าย

และ 2.สิ่งที่ควรรู้ ซึ่งที่ผ่านมาหลายฝ่ายมีความพยายามจะนำความรู้ต่างๆ ให้กับเด็กอย่างมากมาย จึงมอบให้ สพฐ.พิจารณาแยกแยะเนื้อหาส่วนนี้ออกมา เพื่อจัดกิจกรรมการสร้างการเรียนรู้ตามความเหมาะสมกับช่วงวัย นอกจากนี้ ขอให้ประสานกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ ในฐานะที่จะต้องรับนักเรียนชั้น ม.6 เข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาด้วย เพราะการปรับปรุงหลักสูตรมีการตัดเนื้อหาความรู้ในส่วนที่เกินความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนออกไป

ดังนั้น ควรหารือและรับรู้ร่วมกันเกี่ยวกับสมรรถนะของผู้เรียนที่จะจบออกมาตามหลักสูตรใหม่ด้วย ในขณะเดียวกันสถาบันอุดมศึกษาก็ควรเตรียมแนวทางเพื่อปูพื้นฐานนักศึกษาชั้นปีที่ 1 เพิ่มเติม เพื่อที่จะเลื่อนขึ้นไปเรียนชั้นปีต่อๆ ไปได้อย่างราบรื่น นอกจากจะเป็นการลดภาระการเรียนของเด็กชั้น ม.6 ที่เกินความจำเป็นออกไปแล้ว ยังช่วยให้เด็กได้มีเวลาเรียนรู้เฉพาะเนื้อหาที่จะใช้เรียนต่อในคณะต่างๆ ตามความถนัดและต้องการอีกด้วย

ทั้งนี้ เมื่อ สพฐ.ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงตามแนวทางดังกล่าวข้างต้นแล้ว จะจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ รวมทั้ง 3 คณะอีกครั้ง เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน เพราะการนำหลักสูตรไปใช้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีการฝึกคน สร้างการรับรู้และยอมรับของผู้ปกครอง รวมทั้งเชื่อมโยงกับระบบการทดสอบ ทั้ง NT, O-Net ตลอดจนการประเมินผลระดับนานาชาติ เช่น PISA ด้วย