ครูของแผ่นดิน ตอนที่1

            “...ถ้าครูไม่ห่วงประโยชน์ที่ควรจะห่วง  หันไปห่วงอำนาจ  ห่วงตำแหน่ง  ห่วงสิทธิ์และห่วงรายได้กันมากเข้าๆแล้ว  จะเอาจิตเอาใจที่ไหนมาห่วงความรู้  ความดี  ความเจริญของเด็ก  ความห่วงในสิ่งเหล่านั้นก็จะค่อยๆบั่นทอนทำลายความเป็นครูไปจนหมดสิ้น  จะไม่มีอะไรเหลือไว้พอที่ตัวเองจะภาคภูมิใจ  หรือผูกใจใครไว้ได้  ความเป็นครูก็จะไม่มีค่าเหลืออยู่ให้เป็นที่เคารพบูชาอีกต่อไป...”

            พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ครูอาวุโส ในโอกาสเข้าเฝ้าฯวันเสาร์ที่  21  ตุลาคม  2521

ในโอกาสวันที่   5   ธันวาคม  2558   เป็นวัน มหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ  88  พรรษา  ในฐานะพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐด้วยทั้งพระราชอัธยาศัย  พระราชจริยวัตรอันงดงาม  พระเมตตาพระมหากรุณาธิคุณยิ่งใหญ่ไพศาลต่ออาณาประชาราษฎร์ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารอย่างเสมอภาคกัน

            ทรงครองแผ่นดินด้วยทรงตั้งมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรมอย่างเคร่งครัดจนเป็นที่ประจักษ์แจ้งทั้งของพสกนิกรไทยและในนานาอารยประเทศทั้งหลาย

            สุขทั้งแผ่นดิน ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ไพศาลที่ทรงมีต่ออาณาประชาราษฎร์ทุกหมู่เหล่า  เฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการพัฒนาการศึกษาของประชาชนในชาติ  ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่มานับแต่ทรงครองสิริราชสมบัติตราบจนปัจจุบัน  ผ่านพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ  ผ่านพระราชดำริ  โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอันล้วนเป็นต้นแบบสำคัญของการเป็นแหล่งเรียนรู้ในวงการศึกษาไทย  ทั้งการศึกษาในระบบ  การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยของพสกนิกรไทยและชาวต่างชาติ

            โดยทรงศึกษา  ค้นคว้า  พัฒนา  จนเป็นแบบอย่างของการศึกษาที่สมบูรณ์ที่มิใช่เพื่อประโยชน์เฉพาะของพสกนิกรชาวไทยภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพระองค์ท่านเท่านั้น หากแต่ยังเป็นประโยชน์ยิ่งต่อการศึกษาเรียนรู้ของมวลมนุษยชาติในฐานะพลเมืองของโลกอีกด้วย

            พระเกียรติคุณดังกล่าวนี้นอกจากเป็นที่ประจักษ์ชัดในดวงใจของเหล่าพสกนิกรชาวไทยแล้ว  ยังเป็นที่ประจักษ์แจ้งต่อนานาอารยประเทศ  สถาบันระหว่างประเทศ  องค์กรระหว่างประเทศ  ที่น้อมเกล้าฯถวายรางวัลเฉลิมพระเกียรติมากกว่า  40  รางวัลปริญญาดุษฎีบัณฑิตกตติมศักดิ์จากสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกในหลากหลายสาขา

            ในรัชสมัยของพระองค์  การศึกษาของไทยพัฒนาก้าวหน้าครอบคลุมทั้งการศึกษาในระบบ  การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย  ซึ่งเป็นคุณประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยและการศึกษาไทยที่สำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์การพัฒนาของประเทศไทย

            ความเจริญก้าวหน้าดังกล่าวเนื่องมาจากพระปรีชาญาณในความเป็นครูและมีพระราชวิสัยทัศน์ที่ทรงมองเห็นความสำคัญของการศึกษาในอนาคตว่ามีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและศักยภาพของมนุษย์  ให้มีความเจริญก้าวหน้าเต็มตามศักยภาพของแต่ละบุคคล

            พระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัตินอกจากในฐานะพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพสูงสุดของปวงชนชาวไทยแล้ว  ยังทรงเป็นครูของแผ่นดิน  ซึ่งเป็นที่เทิดทูนของพสกนิกรชาวไทยและเป็นที่น้อมเคารพของนานาอารยประเทศทั้งหลายในโลกอีกด้วย

            ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ  88  พรรษา  5  ธันวาคม  2558  นี้ในนามประชาชนคนไทยขอร่วมเฉลิมพระเกียรติ  ประกาศเทิดทูนพระเกียรติคุณผ่านบทความที่มีการบันทึกไว้ในหนังสือ “พระผู้ทรงเป็นครูของแผ่นดิน”  ที่ดำเนินการจัดทำโดยกระทรวงศึกษาธิการ

            ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่  21  ธันวาคม  2553  ถวายพระราชสมัญญา  “พระผู้ทรงเป็นครูของแผ่นดิน” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา  7  รอบ  5  ธันวาคม  พุทธศักราช  2554  และเพื่อความเป็นสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลแก่พสกนิกรชาวไทยสืบไปตลอดกาลนาน

.........................................................

พระผูทรงเป็นครูฯการศึกษาในระบบ

            สุขทั้งแผ่นดิน พระราชกรณียกิจในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาในระบบโรงเรียนนั้น  เริ่มจากในพ.ศ.  2489  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งโรงเรียนจิตรลดาขึ้นสำหรับพระรชโอรสพระราชธิดา  บุตรข้าราชบริพารในพระราชวัง  ตลอดจนเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้ร่วมเรียนด้วย

            และเมื่อพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรและหน่วยปฏิบัติการทหาร  ตำรวจตามบริเวณชายแดนทุรกันดารอยู่เนืองๆ  ทำให้ทรงทราบถึงปัญหาการขาดแคลนที่เรียนของเด็กและเยาวชน  อันเนื่องมาจากการให้บริการของรัฐไม่ทั่วถึง  และมีปัญหาเรื่องความแตกแยกในอุดมการณ์ทางการเมือง  ทำให้เยาวชนบางส่วนขาดโอกาสทางการศึกษา

            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริให้ทหารช่วยก่อสร้างโรงเรียนเพื่อให้ทหารมีส่วนช่วยเหลือด้านการศึกษาตามโอกาสอันควรให้แก่ประชาชน  โดยทรงมอบหมายให้แม่ทัพภาคเป็นแกนนำในการก่อสร้างโรงเรียนในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ  และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สนับสนุนการก่อสร้างโรงเรียน

            โรงเรียนดังกล่าวพระราชทานนามว่า “โรงเรียนร่มเกล้า”  นอกจากนี้พระองค์ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อร่วมสร้างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนสำหรับชาวไทยภูเขาที่อาศัยอยู่ในดินแดนทุรกันดารไกลการคมนาคม  มีชื่อเรียกว่า “โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์”และโรงเรียนอื่นๆอีกเป็นจำนวนมากที่ตั้งขึ้นตามพระราชดำริ

โรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริ

            โรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริและอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์  เป็นโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์เพื่อให้เป็นสถานศึกษาสำหรับบุตรหลานข้าราชบริพารและแก่เยาวชนทั่วไป  โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ช่วยเหลือ  ทรงอุปถัมภ์หรือทรงให้คำแนะนำ  ทั้งยังได้เสด็จพรราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียน  พระราชทานพระบรมราโชวาทเพื่อสนับสนุนและทรงเป็นกำลังใจแก่ครูและนักเรียนเป็นประจำมีจำนวน  104  โรง

            โรงเรียนจิตรลดา  กลุ่มโรงเรียนราชวินิต  โรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจนในพระบรมราชูปถัมภ์  กลุ่มโรงเรียนร่มเกล้า  โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์  โรงเรียนวังไกลกังวล  โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์

            มีโรงเรียนที่จัดตั้งตามพระราชดำริและอยู่ในความดูแลของมูลนิธิหรือองค์กรต่างๆได้แก่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์

            โรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัในวโรกาสต่างๆเช่น โรงเรียนรัชดาภิเษก  จำนวน  10  โรงเรียน  โรงเรียนนวมินทราชูทิศ  5  โรงเรียน  โรงเรียนรัชมังคลาภิเษก  จำนวน  33  โรงเรียน  โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย  เป็นโรงเรียนที่พระราชทานนาม โดยต่อท้ายด้วยชื่อจังหวัดมี  9  โรงเรียน