ครูแห่งแผ่นดิน

            ถ้าจะให้กล่าวความหมายอันลึกซึ้งของคำว่า "ครู" แล้ว จะให้กล่าวเป็นบทความสั้นๆคงจะไม่ได้ เพราะความหมายของคำว่าครูนั้น ช่างยากเหลือเกินที่จะอธิบายให้ได้ใจความที่ครบสมบูรณ์ในกระดาษเพียงแค่หน้าเดียว "ครู" ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงคำสั้นๆ แต่ความหมายช่างยาวและลึกซึ้งนัก ไม่ว่าจะเอานักวิชาการที่ดีที่สุดมาอธิบายคงจะไม่มีวันพูดถึงคำว่า ครู และพระคุณของ ครู ได้หมด

            ครูคนแรกของเราทุกคนนั้นคือคุณพ่อคุณแม่อย่างแน่นอน เมื่อถึงเวลาและวัยอันสมควรเราก็ต้องไปโรงเรียน ณ ที่แห่งนี้ เราได้พบกับครูคนที่สองของเรา ผู้ที่จะทำการประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ทั้งหลายให้เราสามารถนำไปประกอบอาชีพเพื่อหาเลี้ยงตนเองได้ พระคุณของคุณครูนั้นจึงยิ่งใหญ่เหลือคณานับ เราจะเห็นได้จากการที่มีการกำหนดวันครูขึ้นมา เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีการกราบไหว้คุณเพื่อทดแทนพระคุณและระลึกถึงพระคุณ ผู้ที่ได้ชื่อว่า แม่พิมพ์ของชาติ

            สุขทั้งแผ่นดิน คุณครูที่อยู่ในดวงใจของข้าพเจ้า รวมถึงคนไทยทั้งแผ่นดิน คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ซึ่งทรงเสียสละโดนทรงสอนผ่านพระราชดำรัสและผ่านการที่ทรงปฎิบัติจริงให้เห็นเป็นตัวอย่างเพื่อที่จะทรงเห็นความสุขของราษฎรชาวสยามไม่ว่าจะปัจจุบันหรืออนาคต พระองค์ไม่แค่ทรงเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้แก่ประชาชน แต่ยังทรงเป็นครูที่สอนประชาชนคนไทยให้รู้จักการดำเนินชีวิตเพื่อดำรงอยู่ในความสุขได้ตลอดทั้งชีวิต พระองค์ทรงสอนให้ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง เรียบง่ายและไม่ต้องแสวงหาสิ่งไม่จำเป็น ทรงสอนให้ใช้ชีวิตอย่างพอประมาณ ใช้ทรัพย์ที่มีอยู่ใกล้ตัวอย่างมีคุณค่า และเห็นค่าของสิ่งๆนั้น แม้เพียงแต่ข้าวแค่เมล็ดเดียวก็ตาม ทรงสอนให้รู้จักแบ่งบัน รู้จัก ให้ ทรงสอนให้รู้จักคำว่า "ปิดทองหลังพระ" คือ การทำความดีที่ไม่จำเป็นต้องให้ผู้ใดหรือใครๆมาพบหรือมาเห็น เรียกว่าการทำดีด้วยใจ ถึงแม้จะไม่มีใครพบใครเห็น ไม่มีใครมาชื่นชมหรือมีแต่คนมาดูถูกความดีที่เราทำก็ตาม เราก็จงอย่าท้อ จงมุ่งมานะทำความดีนั้นๆต่อไปนั่นคือการปิดทองหลังพระ แล้วสักวันหนึ่งวันใดเมื่อทำความดีอย่างมุ่งมานะ อย่างอดทน ทองที่เราติดหลังพระมาตลอดนั้นก็จะล้นมาข้างหน้าเอง

            พระราชกรณียกิจในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาในระบบ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งโรงเรียนจิตรลดาขึ้นสำหรับพระราชโอรส พระราชธิดา บุตรข้าราชบริพารในพระราชวัง ตลอดจนเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้เข้าศึกษาด้วย เมื่อได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรบริเวณชายแดนทุรกันดาร ทำให้ทรงทราบถึงปัญหาการขาดแคลนสถานศึกษาของเด็กและเยาวชน จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดสร้างโรงเรียนให้แก่เด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา เช่น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ฯ นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนที่ทรงจัดตั้งขึ้นตามพระราชประสงค์ พระราชดำริ และโรงเรียนที่ทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ อาทิ โรงเรียนราชวินิต โรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจนในพระบรมราชานุเคราะห์ กลุ่มโรงเรียนร่มเกล้า โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ โรงเรียนไกลกังวล โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ฯลฯ

สุขทั้งแผ่นดิน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานแนวพระราชดำริก่อตั้งสถานศึกษาเพื่องานวิจัยขั้นสูง ให้รับนักเรียนไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์และพระบรมราชูปถัมภ์ เช่น โรงเรียนวังไกลกังวล ที่ทรงรับอุปถัมภ์ และทรงเป็นครูในรายการ “ศึกษาทัศน์” ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ทรงสอนด้วยพระองค์เอง ทรงพานักเรียนไปศึกษาในสถานที่จริง ทั้งยังทรงได้รับการยกย่องว่าทรงเป็นครูภาษาไทยของแผ่นดิน ด้วยมีพระอัจฉริยภาพทางภาษาไทย และทรงเห็นความสำคัญของภาษาไทยว่าเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นชาติ เป็นเครื่องมือสื่อสารให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกัน เป็นรากฐานทางวัฒนธรรม ดังจะเห็นได้จากงานพระราชนิพนธ์ กระแสพระราชดำรัสต่างๆ ทรงอุปถัมภ์หน่วยงาน องค์กรที่ปฏิบัติงานด้านส่งเสริมภาษาไทยอยู่เสมอ

            ด้านการศึกษานอกระบบ ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการพระดาบสขึ้น ด้วยความห่วงใยต่อพสกนิกรที่ต้องการแสวงหาความรู้แต่ขาดโอกาสในการศึกษา ให้ได้ศึกษาวิชาชีพแขนงต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ผ่านหลักสูตร สามารถออกไปประกอบอาชีพได้ตามความถนัดและความสามารถของตน ส่วนการศึกษาตามอัธยาศัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานความรู้แก่ประชาชนผ่านศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ทรงตั้งขึ้น เพื่อเป็นแหล่งรวมสรรพวิชา วิชาการ การค้นคว้าทดลอง และการสาธิตด้านเกษตรกรรมเพื่อเผยแพร่ความรู้สำหรับนำไปสู่การปฏิบัติจริงของเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด ๖ ศูนย์ทั่วประเทศ

            พระราชดำรัส พระบรมราโชวาท พระราชนิพนธ์ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชดำริหลากหลายประการ สุขทั้งแผ่นดินล้วนทรงแนะและทรงสอนและทรงเป็นแบบอย่างผ่านพระราชกรณียกิจที่ทรงทำเพื่อประโยชน์สุขแก่พสกนิกรทั้งสิ้น กล่าวได้ว่าทรงเป็นนักคิด นักประดิษฐ์ นักวิจัยที่สามารถนำผลมาเป็นแบบของงานที่อำนวยประโยชน์สุขแก่ประชาชน ทรงถือเป็นพระราชภาระที่จะทรงสอน ชี้นำ แสดงตัวอย่างและติดตามผลโครงงานต่างๆ เพื่อความสำเร็จและประโยชน์ของราษฎรอย่างไรก็ตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงให้ความสำคัญแก่ครูและวิชาชีพครู ทรงสั่งสอนให้ครูตระหนักในหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานแก่ครูอาวุโสในโอกาสที่คณะครูอาวุโสเข้าเฝ้าฯรับพระราชทางเครื่องหมายเชิดชูเกียรติเมื่อวันอังคารที่ 9 ตุลาคม 2516 ซึ่งมีสาระสำคัญให้ครูได้ตระหนักในความสำคัญและหน้าที่แห่งตนเพื่อน้อมน้ำใจและยึดถือเป็นแนวปฏิบัติเป็นราชบูชา ดังนี้
“งานของครูเป็นงานพิเศษ ผิดแปลกกว่างานอื่นๆ กล่าวในแง่หนึ่งที่สำคัญก็คือว่า ครูจะหวังผลตอบแทนเป็นยศศักดิ์ความร่ำรวยหรือประโยชน์ทางวัตถุเป็นที่ตั้งไม่ได้ ผลได้ส่วนสำคัญจะเป็นผลทางใจ ซึ่งผู้เป็นครูแท้ก็พึงใจและภูมิใจอยู่แล้วความเป็นครูนั้น ผูกพันใจคนไว้ได้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องซื้อหาหรือใช้อำนาจราชศักดิ์ข่มขู่เอามา ขึ้นชื่อว่าครูกับศิษย์แล้วที่จะลืมกันได้นั้นยากนัก ผู้ที่จะไม่รู้จักไม่เอื้อเฟื้อ ครูดูเหมือนจะมีแต่คนที่กำลังลืมตัวมัวเมาในลาภยศอย่างใด อย่างหนึ่งอยู่เท่านั้น ฉะนั้น ครูจึงไม่มีเหตุอันใดที่จะต้องแสวงหาความพอใจในประโยชน์ทางวัตถุให้มากจนเกินจำเป็น เพราะหากหันมาหาประโยชน์ทางวัตถุเกินไปแล้ว ก็จะทำหน้าที่ ครูหรือเป็นครูได้ไม่เต็มที่”

            จะเห็นได้ว่าพระบรมราโชวาทที่พระราชทานในโอกาสต่าง ๆ เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษา วันขึ้นปีใหม่ วันพระราชทานปริญญาบัตร หรือโอกาสใดๆ ก็ตาม ล้วนเป็นคำสอนที่มีค่า เหมาะสมแก่กาลสมัยและยังประโยชน์โดยตรงแก่ผู้น้อมนำไปปฏิบัติ ทั้งยังทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างของผู้ที่มุ่งมั่นทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมตลอดมา และด้วยเหตุที่ทรงพระเมตตาต่อพสกนิกรจึงพระราชทานความรู้ทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่ปิดบัง ความรู้นั้นเป็นความรู้ที่ทรงคิด ทรงค้นคว้า ทรงทดลองด้วยพระองค์เอง การที่ประชาชนปฏิบัติตามวิธีการต่างๆที่ทรงสอน ทรงสาธิตทำให้ราษฎรอยู่ดีกินดีมีสุขโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ โครงการหลวง โครงการส่วนพระองค์ ศูนย์ศึกษาการพัฒนา ต่างๆ เหล่านี้เป็นบทเรียนที่มีค่ามหาศาล ประชาชนได้เรียนรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิต การทั้งปวงเป็นที่ประจักษ์ชัด ตั้งแต่แรกเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงประกาศพระปฐมบรมราชโองการ

            “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

            พระราชจริยาวัตรและพระราชกรณียกิจที่ทรงปฎิบัติมาโดยตลอด คงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอุทิศพระวรกายและพระสติปัญญา โดยไม่ทรงย่อท้อหรือลดละความเพียรพยายาม ในการที่จะนำความสุขและความสงบยั่งยืนมาสู่พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า ทรงประพฤติปฏิบัติเป็นแบบอย่างอันประเสริฐ ที่ครูทั้งหลายควรได้ยึดถือและดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาท สมดังพระราชสมัญญาที่น้อมถวาย "พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน”