“สกว.” ผุดโปรเจกต์ปฏิรูปมหาวิทยาลัยรับใช้สังคมมากขึ้น


ข่าวจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จับมือกับ เครือข่ายองค์กรบริหารการวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) สนับสนุนการพัฒนามหาวิทยาลัยในพื้นที่ ภายใต้ทุนวิจัย “นวัตกรรมเพื่อสังคมและชุมชน” มีเป้าหมายเพื่อสร้างนวัตกรรม 4 ระดับ ตั้งแต่นวัตกรรมระดับพื้นที่ คือ การสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาในระดับชุมชน, นวัตกรรมระดับสถาบัน คือ การพัฒนาระบบบริหารจัดการการวิจัย              ของมหาวิทยาลัยให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

นวัตกรรมระดับเครือข่าย คือ มหาวิทยาลัยที่เอื้อต่อการทำงานวิชาการรับใช้สังคม ทั้งในด้านการพัฒนาตัวชี้วัดระบบการจัดการของมหาวิทยาลัยเพื่อสังคม และนวัตกรรมระดับชาติ คือ การจัดสรรทุนที่มอบอำนาจการจัดการให้กับสถาบัน (Institutional Grant) ภายใต้เงื่อนไขของการพัฒนาระบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ

โครงการดังกล่าวตั้งอยู่บนฐานคิดที่ว่า มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งสร้างความรู้และรวมความรู้ที่สำคัญในพื้นที่ การสนับสนุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของมหาวิทยาลัยในการบริหารจัดการงานวิจัย ตั้งแต่ต้นน้ำ คือการตั้งโจทย์วิจัยให้ตรงกับความต้องการการแก้ปัญหาในพื้นที่ การสร้างเครือข่ายภาคีและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน การพัฒนานักวิจัย นักวิชาการรุ่นใหม่ที่ยึดโยงกับพื้นที่

กลางน้ำคือ การติดตามและสร้างกลไกความร่วมมือ และปลายน้ำ คือการจัดการการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ การสร้างการเรียนรู้กับทุกภาคส่วน ทั้งหมดจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของพื้นที่อย่างยั่งยืน 

โดยในช่วงปี 2555-2556 สกว.ได้ทดลองขับเคลื่อนแนวคิดดังกล่าวร่วมกับมหาวิทยาลัยนำร่อง 7 แห่ง ได้แก่ ม.นเรศวร ม.พะเยา มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ลำปาง มรภ.อุตรดิตถ์ ม.อุบลราชธานี ม.สงขลานครินทร์ และ ม.วลัยลักษณ์

ผลการดำเนินงานพบว่า ทั้ง 7 มหาวิทยาลัย มีการปรับตัวทั้งเรื่องระบบกลไกบริหารจัดการและการพัฒนาโจทย์วิจัย ทำให้มีจำนวนโครงการวิจัยพร้อมคณะผู้วิจัยที่ทำงานเพื่อสังคมตอบโจทย์พื้นที่และสังคมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน

ประเด็นที่สำคัญที่สุด มหาวิทยาลัยมีการขับเคลื่อนโดยการปรับโครงสร้าง กฎ ระเบียบที่เสริมการทำงานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่และนำไปบูรณาในการเรียนการสอนได้อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ คณะนิติศาสตร์ ม.พะเยา ได้ผลิตผลงานวิจัย การคุ้มครองสิทธิชาวไทลื้อใน จ.พะเยา ที่ตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาสิทธิด้านสถานะบุคคล การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาด้านศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยโครงการวิจัยนี้ได้บูรณาการการสอน ให้นิสิตในหลักสูตรเข้าให้คำปรึกษาด้านกฎหมายต่อประชาชนในพื้นที่ด้วย เป็นต้น

ในปี พ.ศ.2557 เครือข่ายองค์กรบริหารการวิจัยแห่งชาติ หรือ คอบช. อยากให้มหาวิทยาลัยขนาดกลางและขนาดเล็กที่กระจายในภูมิภาค ทำงานวิจัยที่ขับเคลื่อนจังหวัดไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน จึงได้ขยายผลโดยความร่วมมือกับ สกว. พัฒนาทุน “นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสังคมและชุมชน” เพื่อสร้างนวัตกรรมที่แก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

รวมทั้งเชื่อมโยงงานวิจัยให้เกิดประโยชน์กับการปรับการเรียนการสอนและบริการวิชาการในสถาบัน ดังเป้าหมายการสร้างนวัตกรรม 4 ระดับข้างต้น 

ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยที่ได้รับการสนับสนุนทุนภายใต้โครงการนี้อีก 9 แห่ง คือ ม.ฟาร์อีสเทิร์น ม.ศิลปากร ม.นครพนม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) สุวรรณภูมิ มรภ.นครราชสีมา มรภ.ราชนครินทร์ มรภ.นครปฐม ม.ทักษิณ และ ม.แม่ฟ้าหลวง

ผลการทำงานในระยะแรกพบว่า เกิดการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ ในแต่ละมหาวิทยาลัย 2 มิติ คือ ในมิติที่ 1 ด้านบริหารจัดการงานวิจัยพบว่า มหาวิทยาลัยมีการปรับ กฎ ระเบียบบางอย่างเพื่อหนุนเสริมการทำงานวิจัยเชิงพื้นที่ และมิติที่ 2 ด้านการพัฒนางานวิจัย มีการพัฒนากรอบโจทย์วิจัย พร้อมส่งเสริมให้เกิดโครงการและเครือข่ายการทำงานวิจัยเชิงพื้นที่มากขึ้น

เพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการนี้ไปสู่การพัฒนาประเทศผ่านกลไกสถาบันการศึกษาในพื้นที่มากขึ้น ในปี พ.ศ.2558 คบอช. จึงสนับสนุนทุนวิจัยโครงการนี้แบบต่อเนื่อง โดยมี สกว.บริหารจัดการทุน ให้กับ 9 มหาวิทยาลัยเดิม เพื่อยกระดับการทำงานให้ชัดเจน และสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่  เพื่อให้เกิดต้นแบบการปฏิรูปการศึกษาไปสู่การทำงานเชิงพื้นที่ที่ตอบโจทย์ประชาชนและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม

ล่าสุด สกว.ได้เชิญทั้ง 9 มหาวิทยาลัยเข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อสร้างต้นแบบการพัฒนาระบบกลไกการบริหารงานวิจัยของแต่ละสถาบัน ที่เอื้อให้เกิดการเติบโตของงานวิจัยรับใช้สังคมมากขึ้น และพัฒนากรอบการวิจัยจากโจทย์ปัญหาในพื้นที่ให้ตรงเป้า เพื่อให้เกิดผลไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน