“อาชีวะ” พัฒนาครูช่างสร้างชาติ กลุ่มอาชีพยานยนต์และชิ้นส่วน


สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มอบประกาศเกียรติบัตรแก่ครูที่ผ่านการอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการโครงการ “พัฒนาบุคลากรอาชีวศึกษา กลุ่มอาชีพยานยนต์และชิ้นส่วน รุ่นที่ 3” จำนวน 23 คน จากสถานศึกษา 13 แห่ง และบุคลากรจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จำนวน 4 คน ณ สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้

ดร.บุญส่ง จำปาโพธิ์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยคณะกรรมอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.อศ.) ได้จัดการอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการโครงการ “พัฒนาบุคลากรอาชีวศึกษา กลุ่มอาชีพยานยนต์และชิ้นส่วน รุ่นที่ 3” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานการขับเคลื่อนการผลิตกำลังคนระดับอาชีวศึกษาด้วยการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาทวิภาคี กลุ่มอาชีพยานยนต์และชิ้นส่วน สร้างองค์ความรู้ที่เป็นมาตรฐานในหลักสูตรพัฒนานักบริหารระดับต้นในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (Super Blue Collar) สร้างทักษะการปฏิบัติงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนจากการเรียนรู้ในสถานประกอบการ และพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน

โดยมีครู 23 คน จากสถานศึกษา 13 แห่ง เข้าร่วมการอบรม ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี วิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา วิทยาลัยเทคนิคจุฬาภรณ์ (ลาดขวาง) วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด วิทยาลัยเทคนิคนครนายก วิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา วิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์ วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ วิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรี วิทยาลัยเทคนิคสระบุรี และวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี และบุคลากรจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จำนวน 4 คน ซึ่งจะได้รับความรู้ภาคทฤษฏีในหลักสูตรพัฒนานักบริหารระดับต้นในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน (Super Blue Collar) จากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 1 สมุทรปราการ และภาคปฏิบัติ ในสถานประกอบการ เพื่อนำไปขยายผลสู่ครูในสถานศึกษาต่อไป

ด้านนายถาวร ชลัษเฐียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจัดการอาชีวศึกษา เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่แท้จริงนั้น ควรเป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยให้ความสำคัญกับปริมาณความต้องการแรงงาน คุณภาพแรงงาน และพื้นที่ในภาคอุตสาหกรรม เน้นการพัฒนาคุณภาพอาชีวศึกษาให้มีมาตรฐานสากล มีการผลักดันกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ และพัฒนาการเรียนการสอนโดยขยายความร่วมมือระบบทวิภาคี ซึ่งการพัฒนาครูอาชีวศึกษาให้มีความรู้ ทักษะที่ทันสมัย ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และให้เข้าใจงานที่แท้จริงของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน จนสามารถนำความรู้ และทักษะที่ได้รับมาประยุกต์ใช้กับการจัดการเรียนการสอนต่อไป