ศธ.ถกแนวทางขับเคลื่อนนโยบาย “โรงเรียนคุณธรรม”


นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หารือกับศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายโรงเรียนคุณธรรม โดยมีนายปราโมทย์ โชติมงคล ผู้อำนวยการศูนย์โรงเรียนคุณธรรม มูลนิธิยุวสถิรคุณ, นายพะโยม ชิณวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ, นายอดินันท์ ปากบารา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และนายวณิชย์ อ่วมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เข้าร่วมหารือ ณ ห้องประชุมจันทรเกษม ศธ. เมื่อเร็วๆ นี้

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า จากการประชุมซุปเปอร์บอร์ดด้านการศึกษา ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา ได้นำประเด็นการสร้างคุณธรรมในโรงเรียนมาหารือ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการก็ได้เสนอแนวทางดำเนินงานที่จะร่วมมือกับศูนย์โรงเรียนคุณธรรม มูลนิธิยุวสถิรคุณ เพื่อสร้างรูปแบบหลัก (Official Model) สำหรับการสร้างคุณธรรมให้เกิดขึ้นในตัวนักเรียน ซึ่งรูปแบบของศูนย์โรงเรียนคุณธรรม มีความเป็นสากล สามารถนำไปปรับใช้ได้กับสถานศึกษาทุกภาค ทุกเชื้อชาติ และทุกศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความร่วมมือในสร้างคุณธรรมของผู้บริหาร ครู และนักเรียน และความร่วมมือกับชุมชน ซึ่งถือเป็นเสน่ห์ของโครงการนี้

ที่ผ่านมามีโรงเรียนกว่า 200 แห่ง ได้นำรูปแบบโรงเรียนคุณธรรมไปใช้และประสบความสำเร็จ กล่าวคือ นอกจากจะทำให้คุณธรรมและจริยธรรมของนักเรียนดีขึ้นแล้ว ยังทำให้ผลการเรียนยังดีขึ้นอีกด้วย โดยสังเกตได้จากผลการจัดอันดับคะแนนการสอบ O-NET ที่ดีขึ้น และจำนวนนักเรียนที่สามารถเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้มากขึ้นด้วย

ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงจะนำแนวคิดการดำเนินงานของโรงเรียนคุณธรรม ไปใช้ควบคู่กับนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้  ซึ่งในเบื้องต้นมีโรงเรียนสังกัด สพฐ. 367 แห่ง จาก 3,800 โรงเรียน ยินดีจะเข้าร่วมโครงการโรงเรียนคุณธรรมในปีแรก ก่อนขยายไปยังโรงเรียนทั่วประเทศต่อไป

ทั้งนี้ ในอนาคตจะกำหนดให้โรงเรียนคุณธรรมเป็นหนึ่งในตัวชี้วัด (Key Performance Indicators : KPI) ในการประกันและการประเมินคุณภาพภายใน (Internal Quality Audit : IQA) ของกระทรวงศึกษาธิการ แม้ว่าโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับการประกันว่าเป็นโรงเรียนที่มีโครงการผลิตนักเรียนที่มีคุณธรรม แต่ก็จะต้องประเมินภายในด้วยว่านักเรียนมีคุณธรรมจริยธรรมจริงหรือไม่อย่างไร พร้อมทั้งขอให้ สช. และ สพฐ. ประสานงานกับโรงเรียนเอกชนชื่อดังในกรุงเทพฯ เช่น โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน โรงเรียนสวนกุหลาบ ฯลฯ ในการนำรูปแบบโรงเรียนคุณธรรมไปปรับใช้ เพราะหากโรงเรียนเหล่านี้สามารถนำไปปรับใช้ได้ดี ก็จะเป็นการกระตุ้นให้โรงเรียนขนาดเล็ก รับรูปแบบโรงเรียนคุณธรรมไปดำเนินการได้เช่นกัน และในอนาคตหากโรงเรียนคุณธรรมประสบความสำเร็จในไทย ก็สามารถนำไปปรับใช้ในระดับอาเซียนได้

“อย่างไรก็ตาม ศธ.ไม่ได้กำหนดให้มีรูปแบบ (Model) ของโรงเรียนคุณธรรมนี้เพียงรูปแบบเดียวเท่านั้น แต่ละสถานศึกษาอาจใช้รูปแบบวิธีการอื่นๆ ที่เหมาะสม ในการสร้างคุณธรรมจริยธรรมให้เกิดขึ้นกับนักเรียน เพียงแต่ขอให้มั่นใจว่ารูปแบบใดๆ จะรับประกันการมีคุณธรรมของนักเรียนได้” รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.กล่าว

ด้าน ศ.เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม กล่าวว่า ได้ดำเนินโครงการโรงเรียนคุณธรรมมาตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งมีจำนวนโรงเรียนที่เข้าร่วมแล้วกว่า 200 แห่ง เช่น โรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยา จังหวัดพิจิตร, วิทยาลัยเทคนิคโพธาราม จังหวัดราชบุรี, โรงเรียนบ้านหนองใหญ่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ฯลฯ และหน่วยงานอื่นที่นำรูปแบบคุณธรรมนี้ไปใช้ เช่น โรงพยาบาลคุณธรรม และบริษัทคุณธรรม ซึ่งผลจากการนำรูปแบบโรงเรียนคุณธรรมไปใช้ นอกจากจะทำให้คุณธรรมจริยธรรมในโรงเรียนดีขึ้น ยังช่วยทำให้ผลการเรียนดีขึ้นทั้งโรงเรียน ไม่ได้ดีขึ้นเฉพาะกลุ่มเท่านั้น

สาเหตุที่ต้องมี "โรงเรียนคุณธรรม" เพราะในปัจจุบัน "คุณธรรมในโรงเรียน" ได้หายไป หลังจากแยกโรงเรียนออกจากวัด นอกจากนี้ สังคมปัจจุบันมีการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงและความเหลื่อมล้ำทางสังคม หรือความยากจน ดังจะเห็นได้จากประชากรไทยกว่าร้อยละ 80 มีหนี้ครัวเรือน รวมทั้งหนี้สินครูที่กระทรวงศึกษาธิการกำลังแก้ปัญหาในขณะนี้ด้วย ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงต้องให้ความสำคัญกับคนไทยทั้ง 67 ล้านคนทั่วประเทศ ไม่เฉพาะนักเรียนเท่านั้น

สำหรับแนวทางขั้นตอนการดำเนินงานของโรงเรียนคุณธรรมนั้น ควรต้องเริ่มจากทุกคนทุกฝ่ายพร้อมใจกัน จากนั้นจึงให้มีการระดมความคิดเพื่อกำหนดแนวทางไว้ 2 บัญชี คือ บัญชี ก. พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งทุกคนต้องการลด ละ เลิก และบัญชี ข. พฤติกรรมที่พึงประสงค์  ซึ่งทุกคนจะร่วมกันส่งเสริมให้เกิดขึ้น แล้วจึงให้กำหนดคุณธรรมหลัก 3 ประการ เพื่อแก้ปัญหาพฤติกรรมในบัญชี ก. และส่งเสริมพฤติกรรมบัญชี ข. เช่น โรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม กำหนดคุณธรรม 3 ประการ คือ ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ จิตอาสา เป็นต้น

จากนั้น ให้แต่ละภาคส่วนในองค์กรแยกย้ายกันระดมความคิดเพื่อเปลี่ยนแปลงคุณธรรมหลัก 3 ข้อ เป็นพฤติกรรมหรือโครงการเฉพาะของภาคส่วนนั้น เช่น ผู้บริหารอาจระดมความคิดให้มีการจัดซื้อจัดจ้างอย่างโปร่งใส, ครูระดมความคิดให้มีการเข้าสอนตรงเวลา ไม่เอาเวลาราชการไปทำประโยชน์ส่วนตัว และนักเรียนระดมความคิดกันไม่ลอกการบ้าน ไม่พูดโกหก ฯลฯ

เมื่อครบปี ให้ประเมินผล 2 ส่วน ทั้งแยกในแต่ละภาคส่วน และภาพรวมทั้งองค์กรว่า พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ "ลดลง" หรือไม่ และพฤติกรรมที่พึงประสงค์ "เพิ่มขึ้น" หรือไม่ เพื่อนำไปพิจารณาดำเนินการในวงรอบช่วง 1 ปีต่อไป หากทำต่อไปทุกปี ก็มั่นใจได้ว่าจะเกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรขึ้นมาเอง

นอกจากนี้ ยังได้มีการนำระบบธรรมาภิบาลเข้ามาใช้ในโรงเรียน เพื่อสร้างโรงเรียนคุณภาพด้วยระบบคุณภาพพื้นฐาน และการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ โดยมีองค์ประกอบของความพอเพียง คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และไม่กระทบต่อองค์กร ซึ่งทุกกระบวนการทั้งหมดนี้เพื่อให้เกิดโรงเรียนคุณภาพ โรงเรียนคุณธรรม

“ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการสามารถนำแนวคิดของการประหยัด เรียบง่าย และประโยชน์สูงสุด มาปรับใช้ได้ทั้งการบริหารงานในกระทรวงศึกษาธิการและในระดับท้องถิ่น เพื่อสร้างพลเมืองดีแก่ประเทศชาติและเตรียมผู้เรียนในทุกระดับการศึกษาต่อไป” ศ.เกียรติคุณ นายแพทย์เกษมกล่าว