สนองพระปณิธานอันแน่วแน่ “แม่ของแผ่นดิน"


สุขทั้งแผ่นดิน/เสกสรร  สิทธาคม

             

             
สุขทั้งแผ่นดิน ถ้าจะพูดถึง “ผ้าไทย” เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติของประเทศ ที่มีความสวยงามโดดเด่น ยากที่จะมีใครเลียนแบบได้ แต่การใส่ผ้าไทย ใช้ผ้าไทยทีมีความสวยงามไม่เหมือนใคร กลับจางหายไปจากคนไทยมานานอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อผ้าไทยไม่เป็นที่นิยม คนทอผ้าก็เริ่มหายไป

สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงตั้งพระราชหฤทัยแน่วแน่ในการอนุรักษ์สืบสาน “ผ้าไทย” ให้คงไว้  โดยทรงส่งเสริมให้เกิดขวัญกำลังใจให้ประชาชนได้หันมาทอผ้าไทยทำให้มีรายได้เสริมหรือกระทั่งรายได้หลัก  ทรงทุ่มเทพระองค์ด้วยพระวิริยะอุตสาหะที่จะเผยแพร่ให้ทั้งคนในประเทศและชาวต่างประเทศได้เห็นความงดงามที่มีคุณค่าของผ้าไทย ที่เป็นภูมิปัญญาเป็นรากเหง้าแห่งวัฒนธรรมอันดีงามของไทย  

            พระองค์ทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าไทยเโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการเยือนต่างประเทศ และในประเทศ กลายเป็นภาพชินตาของประชาชนทุคนที่จะเห็นพระองค์ฉลองพระองค์ด้วยผ้าไทยที่มีความสวยสดงดงาม ทำให้ผ้าไทยกลายเป็นที่รู้จักและเพิ่มมูลค่าได้อย่างดี

            ดังที่พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสไว้ว่า “การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม นอกจากจะเป็นการเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรแล้ว ยังเป็นวัฒนธรรมที่เก่าแก่และดีงามของชาติไทย ที่ได้สืบต่อกันมาเป็นเวลานานอีกด้วย ไม่ว่าเศรษฐกิจประเทศจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร การพัฒนาการเลี้ยงไหมก็ต้องดำเนินต่อไป”

สุขทั้งแผ่นดิน

          

สุขทั้งแผ่นดิน

  วันนี้ผ้าไทยกลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้แก่ราษฎรในทุกภาค  จากกี่ที่ถูกทิ้งร้าง ไม่ได้ใช้งานก็กลับมาได้ใช้อีกครั้ง บัดนี้การทอผ้ากลายมาเป็นอาชีพแก่สตรีในแทบทุกจังหวัดไปแล้ว จากการส่งเสริมของหน่วยงานต่างๆรวมถึงโครงการศิลปาชีพฯเองด้วย

            จากพระราชกรณียกิจและพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในด้านการอนุรักษ์ผ้าไทยและศิลปหัตถกรรมเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกัน จนได้รับการยกย่องเทิดพระเกียรติจากหน่วยงานโลก อาทิ เมื่อปีพุทธศักราช 2535 องค์การยูเนสโกได้ทูลเกล้าฯถวายเหรียญทองโบโรพุทโธและประกาศเกียรติคุณพระองค์ในฐานะที่ทรงส่งเสริมงานด้านศิลปะและการสร้างสรรค์โดยเฉพาะงานด้านหัตถกรรมสิ่งทอรวมทั้งอนุรักษ์ฟื้นฟูผ้าไทยไม่ให้สูญหายรวมถึงยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนผู้ยากไร้ในชนบทมากว่า 40 ปี

            นับได้ว่าสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงเป็นผู้ฟื้นฟู อนุรักษ์ ส่งเสริมและเผยแพร่ผ้าไทยศิลปะอันล้ำค่าของชาติให้ดำรงคงอยู่ปรากฏเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย และเป็นความชื่นชมของชาวโลกได้อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง จึงเป็นสิ่งที่พสกนิกรชาวไทยซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้

              สภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัด “โครงการตามรอยผ้าไทย ลมหายใจแม่ของแผ่นดิน”  เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ร่วมเรียนรู้และน้อมนำแนวพระราชดำริของพระองค์ สนองพระราชปณิธานในการสืบสานวัฒนธรรมการอนุรักษ์การแต่งกายแบบไทย มุ่งเน้นยกระดับคุณภาพและบทบาทสตรีไทยในทุกด้าน พร้อมเดินหน้าสร้างสรรค์สังคม เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพสตรีไทย

            ครั้งนี้เดินตามรอยผ้าไทย ไปที่จังหวัดชัยนาท ณ กลุ่มทอผ้า ตำบลเนินขาม อำเภอเนินขาม และที่กลุ่มทอผ้าตำบลกุดจอก อำเภอเนินหนองมะโรง ซึ่งทั้งสองที่มีความเป็นเอกลักษณ์ โดดเด่นไม่เหมือนกัน

             สุขทั้งแผ่นดิน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมัยที่ 25 ที่เพิ่งได้รับตำแหน่งมาหมาดๆเล่าให้ฟังถึงแนวคิดการจัดโครงการฯก่อนว่าสภาสตรีฯเป็นองค์กรที่ทำประโยชน์เพื่อสตรี อยากสืบสานงานของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถเนื่องในปีหน้านับเป็นปีมหามงคลของปวงชนชาวไทย ซึ่งเป็นวโรกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ 84 พรรษา  การที่จะเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่านคงไม่มีอะไรที่จะทำให้พระองค์ชื่นพระทัย เท่ากับการเดินตามรอยผ้าไทย ที่เปรียบเสมือนลมหายใจแม่ของแผ่นดิน

            “สภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จึงมีโครงการที่จะร่วมรณรงค์ให้สตรีไทยทั่วประเทศแต่งกายด้วยผ้าไทย อันเป็นการร่วมเฉลิมพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม เป็นการตอบแทนคุณแผ่นดิน เป็นการเดินตามรอยพระราชเสาวนีย์ของพระองค์ท่านในการรณรงค์ให้ผ้าไทยคงอยู่ต่อไปตราบนานเท่านนาน” ประธานสภาสตรี กล่าวอย่างภูมิใจ

            อย่างที่บอกไปว่าการเดินตามรอยผ้าไทยครั้งนี้ตามรอยไปที่สองหมู่บ้านในจังหวัดชันาท ซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร หรือถ้าพูดจริงๆ ผ้าไทยนั้นมีเอกลักษณ์โดดเด่นแตกต่างกันไป ไม่เหมือนกันเลยซักที่ ยากที่จะลอกเลียนแบบกัน มีความสวยความงดงามต่างกัน

            กลุ่มทอผ้าบ้านเนินขาม ที่มีประวัติมายาวนาน ผ้าทอพื้นบ้านเนินขาม เป็นผ้าทอพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่น ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากบรรพบุรุษเชื้อชาติลาว ซึ่งอพยพมาตั้งรกรากในเขตตำบลเนินขาม กิ่งอำเภอเนินขามมาเนิ่นนาน  เป็นชุมชนไทยเชื้อสายลาวเวียง หรือลาวเวียงจันทน์ คือ กลุ่มชาติพันธุ์ไทครั่งเกือบ 200 ปีที่ชาวไทยเชื้อสายลาวเวียง (เวียงจันทร์) อพยพมาอยู่ที่กิ่งอำเภอเนินขาม และกลุ่ม ชาวไทยเชื้อสายลาวครั่งอยู่ที่กิ่งอำเภอหนองมะโมง

สุขทั้งแผ่นดิน

ทั้งสองกลุ่มอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอผ้ามาจนถึงปัจจุบัน ผ้าที่ทอเป็นผ้าฝ้ายหมี่โลดและผ้าไหมหมี่โลด (ลายหมี่สำเภา) ฝีมือของชาวไทครั่ง ลวดลายโบราณ ทอประณีต ย้อมสีธรรมชาติ มีเทคนิคการแต้มสีหลังการย้อม เพิ่มลวดลายให้สวยงาม และทอผ้าซิ่นต่าง ๆ เช่น ซิ่นดำดาน ซิ่นดอก ซิ่นสิบซิ้ว ซิ่นหมี่ตา ซิ่นหมี่ลวดและซิ่นหมี่โลด

            ทำให้ผ้าทอทั้งสองแห่งมีความสวยงามไม่เหมือนใคร ยังคงซึ่งเอกลักษณ์ที่มีมาช้านานไว้ แต่การสืบสานงานผ้าไทยที่ปัจจุบันแม้จะมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น แต่กลับมีเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจน้อยลง

            แต่ไม่ใช่กับ นายสมประสงค์ กาฬภัคดี เยาวชนรุ่นใหม่จากบ้านเนินมาะขาม แม้จะเรียนจบแค่มัธยมศึกษาปีที่ 6 กลับมีรายได้เฉลี่ยตกเดือนละสองหมื่นบาทที่มาจากการทอผ้า เล่าว่า ที่บ้านฐานะไม่ดีทำให้เรียนได้เท่านี้ แต่ด้วยความที่มีความรักและชื่นชอบในผ้าไทย เพราะเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ทำให้หันมาศึกษาที่กลุ่มและนำไปปฎิบัติ

สุขทั้งแผ่นดิน

            “วันหนึ่งมีโอกาสไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมที่ศูนย์ศิลปาชีพฯ ได้ความรู้ในการทอผ้าใหม่ๆมาเพิ่มขึ้น นำมาต่อยอดกับสิ่งที่มีอยู่ ตอนนี้คนนิยมซื้อผ้าไทยไปตัดชุดมากขึ้น และผ้าที่มีราคาสูงจะเป็นผ้าที่ย้อมมาจากสีธรรมชาติและทำการทอด้วยมือ ทำให้มีความสวยเป็นระเบียบและไม่เหมือนใคร ทำให้มีราคาสูงเพิ่มขึ้น” สมประสงค์บอก

            “ถ้าวันนี้ใครบอกให้เลิกทอผ้าและไปหางานอื่นอย่างอื่นทำ คงจะบอกกับเค้าคนนั้นไปว่า ไม่หรอก เพราะทุกวันนี้มีความสุขดี ได้อนุรักษณ์สืบสานผ้าได้ ได้เดินตามแนวพระราชดำริ อีกทั้งเรื่องรายได้ก็มากพอที่จะเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ ความสุขที่ได้รับมากเกินกว่าจะไปหางานแบบนี้ที่ไหนได้แล้ว”  คำพูดของนายสมประสงค์ที่บอกด้วยความภาคภูมิใจให้ฟัง

            ไม่ต่างจากเด็กหญิงวรรณวษา คำหวาน เยาวชนบ้านหนองมะโมงที่มีโอกาสได้เรียนรู้การทอผ้าบอกว่า รู้สึกภูมิใจทุกครั้งที่ได้ทอผ้า เพราะเป็นลวดลายประจำท้องถิ่นที่สวยงาม การทอผ้าได้ทั้งความรู้ความภาคภูมิใจ

            ผ้าทอมือของไทยเป็นหัตถกรรมชนิดแรกที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชดําริให้เป็นอาชีพเสริมของประชาชน ในยามว่างจากการเพาะปลูก เนื่องจากเป็นสิ่งที่ชาวบ้านรู้จักทําใช้เองในครัวเรือนอยู่แล้ว ทรงส่งเสริมให้ทอผ้าเพิ่มขึ้น และทรงรับซื้อมาเผยแพร่ เพื่อให้คนไทยทั้งประเทศได้เห็นความงามของผ้าไทย  จนเป็นที่นิยมของชาวไทยและชาวต่างประเทศทั่วโลก และเกิดความนิยมแพร่หลายในหมู่ปวงประชาชนชาวไทย ทรงสร้างเอกลักษณ์และอัตลักษณ์แห่งศิลปวัฒนธรรมไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของชาวโลก ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวง

            ในวันนี้ “ผ้าไทย” ผ้าทอฝีมือคนไทย ไม่ว่าจะเป็นลวดลายอะไร ผ้าตีนจก ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าซิ่น กลายมาเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ต่างชาติคิดถึงและรับรู้วัฒนธรรมอันสวยงาม มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใครสามารถสร้างงานสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับผู้ทอได้อย่างดี ผ้าไทยไม่ใช้เป็นเพียงแค่ผ้าที่เอาไว้ใส่กันแค่คนเฒ่าคนแก่ แต่เป็นที่นิยมมากขึ้นของคนทุกชนชั้น สมดังพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ

            การที่จะหาผ้าทอฝีมือคนไทย ลวดลายไทยๆ ที่สวยงามมาตัดเป็นชุดสักชุด เพื่อไว้ใส่ น่าจะเป็นเรื่องที่ดีและยังเป็นการสนองพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่านก็น่าจะดีไม่ใช่น้อย

                                                                 ณพาภรณ์ ปรีเสม / รายงาน