ศธ.เดินหน้านโยบายยกระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษทุกหลักสูตร


นายไมเคิล เดวิด เซลบีย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และหม่อมหลวงปริยดา ดิศกุล ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ครู ผู้สอนจากโรงเรียน และสถาบันการอุดมศึกษา เกี่ยวกับนโยบายการยกระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษในทุกหลักสูตรของ ศธ. เมื่อวันอังคารที่ 13 ตุลาคม 2558 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 60 คน จากสถาบันภาษาในสังกัดของมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงหน่วยงานภายในและหน่วยงานภายนอก ศธ. อาทิ สถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.), สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป., โรงเรียนนานาชาติ, British Council และ AUA Language Center เป็นต้น

นายไมเคิล เดวิด เซลบีย์ กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่าร้อยละ 58 ของประชากรกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป (EU) สามารถพูดและฟังภาษาอังกฤษได้ ถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การนำภาษาอังกฤษไปใช้ได้จริง (Functional English) รวมถึงภาษาอังกฤษด้านวิชาชีพ (Vocational English) จึงเป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบาย "การยกระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษในทุกหลักสูตร" ซึ่งเป็นนโยบายหลักของ ศธ. เพื่อแก้ปัญหาภาษาอังกฤษในประเทศไทย

โดยลักษณะการนำภาษาอังกฤษไปใช้ได้จริง (Functional English) ควรเริ่มมาจากการสร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียน ที่มาจากการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากสื่อต่างๆ ที่ทันสมัย โดยมีดาราหรือบุคคลต้นแบบ เป็นแบบอย่าง นอกจากนี้ ศธ.ยังมีนโยบายพัฒนาครูผู้สอนภาษาอังกฤษด้วยการจัดอบรมการสอนภาษาอังกฤษ (English Training Program) ให้กับครูชาวไทยจำนวน 500 คน ในระยะเวลา 6 สัปดาห์ ซึ่งจะเชิญครูเข้ารับการฝึกอบรมการสอนภาษาอังกฤษที่มุ่งเน้นการนำไปใช้ได้จริง (Functional English) และจะมีการทดสอบก่อนการอบรม (Pre-Test) และการทดสอบหลังการอบรม (Post-Test) โดยมุ่งหวังว่าผู้เข้ารับการอบรมจะสามารถนำความรู้กลับไปใช้ต่อได้ที่โรงเรียนต้นสังกัด โดยการอบรมดังกล่าวจะเป็นการอบรมเชิงทดลอง เพื่อนำผลมาสานต่อเป็นนโยบายการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษต่อไป

ในส่วนของวิทยากรและหลักสูตรการอบรม จะเชิญวิทยากรจากต่างประเทศและจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เหตุที่ใช้หลักสูตรการอบรมของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เข้ามาช่วยในการฝึกอบรม เพราะเชื่อมั่นว่ามีความน่าเชื่อถือในระดับสากล ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการหารือกับมหาวิทยาลัยดังกล่าว สำหรับรูปแบบการอบรม จะเน้นให้ผู้เข้ารับการอบรมรู้สึกผ่อนคลาย ไม่เครียดกับการใช้ภาษาอังกฤษ และรู้สึกมีความสุขในการฟังและพูดภาษาอังกฤษ ซึ่งในอนาคตจะมีการจัดฝึกอบรมในลักษณะดังกล่าวโดยวิทยากรชาวไทยต่อไป

ด้านหม่อมหลวงปริยดา กล่าวว่า การเชิญผู้เกี่ยวข้องด้านการสอนภาษาอังกฤษมาประชุมในวันนี้ เพื่อสอบถามความคิดเห็นในการกำหนดมาตรฐานของหลักสูตร ที่จะมุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถนำภาษาอังกฤษไปใช้ได้จริง (Functional English) โดยไม่ได้มุ่งเน้นให้เรียนเฉพาะไวยากรณ์เพียงอย่างเดียว เพราะกระทรวงศึกษาธิการมีความพยายามในการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ด้วยการจัดการอบรมการสอนภาษาอังกฤษที่มุ่งเน้นทักษะการฟังและทักษะการพูด สำหรับครูชาวไทย รวมทั้งนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาที่สนใจด้วย ทั้งนี้ ผลการประชุมในครั้งนี้ จะได้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เกี่ยวข้องทุกคนไปเป็นแนวทางดำเนินการตามนโยบายการยกระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษในทุกหลักสูตร ทั้งโรงเรียนของรัฐและเอกชนอย่างเท่าเทียมกันต่อไป