โครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาฯตามพระราชดำริ ความมั่นคงและประโยชน์สุขปวงประชา


สุขทั้งแผ่นดินแผ่นดิน/เสกสรร  สิทธาคม

            “...ให้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่บริเวณเขาสามสิบ  ตำบลเขาฉกรรจ์  อำเภอสระแก้ว  จังหวัดปราจีนบุรี  โดยจัดสรรพื้นที่ดินให้ราษฎรเข้าอยู่อาศัยทำกินให้สอดคล้องกับการจัดระบบน้ำของอ่างเก็บน้ำคลองสามสิบ  และพัฒนาเศรษฐกิจของหมู่บ้านเพื่อให้ราษฎรพึ่งตนเองได้ต่อไป...”

            พระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  พระราชทานเมื่อวันที่  3  กรกฎาคม  2525

            “...ควรพิจารณาสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำห้วยพระปรงโดยเร่งด่วนที่สุด  ทั้งนี้ควรพิจารณาเก็บกักน้ำอย่างเต็มที่  เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรสองฝั่งห้วยพระปรง  ในเขตอำเภอวัฒนานคร  จังหวัดปราจีนบุรี  สามารถทำการเพาะปลูกได้ทั้งฤดูฝฝนและฤดูแล้ง  และมีน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคตลอดปี...”

            พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  พระราชทานเมื่อวันที่  31  มกราคม 2521           

สุขทั้งแผ่นดินช่วง16-17 ก.ย.ที่ผ่านมา คุณทินกร   สุทินผู้อำนวยการโครงการชลประทานสระแก้ว ทำหน้าที่ผู้จัดการโครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาจังหวัดสระแก้ว-ปราจีนบุรีตามพระราชดำริ   ชวนไปสัญจรโครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาจังหวัดสระแก้ว-ปราจีนบุรีตามพระราชดำริ  รวมผู้สื่อข่าวอีกหลายสำนัก

             มีผู้ทรงคุณวุฒิเดินไปในคราวนี้ด้วย คือ ท่านสายเมือง วิรยศิริ ที่ปรึกษาสำนักงานโครงการตามพระราชดำริ นายบุญสนอง สุชาติพงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา กรมชลประทาน อดีตมิสไทยแลนด์ ยูนิเวิร์ส นส.ฟ้ารุ่ง ยุติธรรม ก็ร่วมไปสัมผัสโครงตามพระราชดำริด้วย

            โครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาฯตามพระราชดำริเกิดขึ้นมาจากความยากจนของชาวบ้านสาเหตุเพราะน้ำคือปัจจัยสำคัญ  หน้าฝนน้ำท่วม  หน้าแล้งขาดแคลนน้ำรวมไปถึงขาดที่ทำกินเป็นหัวใจหลัก  ราษฎรต้องจมปลักอยู่กับสภาะนี้นานแสนนาน

กระทั่งพศ.2521  ความทุกข์ยากเดือดร้อนของชาวบ้านก็เริ่มคลี่คลายลงด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่แผ่ไพศาลเข้าไปสู่พื้นที่ชายแดนดังกล่าวที่ราษฎรกำลังเดือดร้อนแสนสาหัสแห่งนี้

ด้วยพระราชหฤทัยห่วงใยอย่างจริงจัง  โครงการพัฒนาที่ราบเชิงเขา  จังหวัดสระแก้ว-ปราจีนบุรีตามพระราชดำริจึงคืบหน้ามาโดยลำดับ  นับตั้งแต่พศ.2521  เป็นต้นมา  โดยมีการก่อสร้างฝายและอ่างเก็บน้ำในโครงการถึง  11  แห่ง  ประกอบด้วยอ่างห้วยชัน  ฝายคลองน้ำเขียว  อ่างฯทราย  อ่างฯท่ากระบาก  อ่างฯช่องกล่ำบน  อ่างฯช่องกล่ำล่าง  อ่างฯคลองสามสิบ  อ่างฯคลองหมากนัด  อ่างฯคลองพันโป้  อ่างฯคลองเกลือ  อ่างฯพระปรง  โดยเริ่มจากอ่างเก็บน้ำห้วยชันเป็นแห่งแรก  มีอ่างเก็บน้ำพระปรงป็นอ่างขนาดใหญ่ที่สุด เก็บกักน้ำได้ถึง  97  ล้านลูกบาศก์เมตร

             เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวันเสาร์ที่  4  กรกฎาคม  2524  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯยังโครงการอ่างเก็บน้ำท่ากระบาก  อ่างเก็บน้ำช่องกล่ำบน  อำเภอวัฒนานคร  พร้อมด้วย ฯพณฯเชิน  ดู  ฮวาน  ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี  และวันเสาร์ที่  3  กรกฎาคม  2525  เสด็จฯไปทอดพระเนตรโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านคลองทรายอีกครั้งหนึ่ง

            ย้อนที่มาแห่งพระมหากรุณาธิคุณพอได้รับรู้กันคร่าวๆย่อๆเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่เกิดจากพระราชหฤทัยห่วงใยแท้จริง

ก่อนลงพื้นที่มีการเสวนาหัวข้อ “โครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาจังหวัดสระแก้ว-ปราจีนบุรี ... จากความไม่มั่นคงสู่ความมั่นคงประโยชน์สุขสู่ปวงประชา”

สุขทั้งแผ่นดินท่านสายเมืองนำเข้าสู่พระมหากรุณาธิคุณโดยย้อนอดีตว่าพื้นที่โดยรวมราว 4.7 แสนไร่เป็นเขตป่าสงวนซะส่วนใหญ่ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปประชาชนเข้าไปบุกรุกสาเหตุเพราะมีคนเกิดมากขึ้น เพื่อถากถางป่าทำพื้นที่ทำกิน ในเวลาเดียวกันก็ตัดไม้ทำลายป่าไปด้วยเป็นส่วนหนึ่งของการยังชีพ ที่สำคัญที่สุดคือการขาดแคลนน้ำทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อทำการเกษตร เป็นส่วนที่ทำให้ประชาชนยังคงตกอยู่ในสภาพยากจนแร้นแค้น

ท่านสายเมืองบอกว่า เป็นที่มาแห่งพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนำประชาชนสู้กับความยากจน เพราะทรงทราบดีถึงปัญหาที่ราษฎรกำลังประสบ โดยในเดือนมรกราคม  2521  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อให้หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ  จักรพันธุ์องคมนตรีทรงประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  และกองทัพภาคที่ 1  วางโครงการพื้นที่ราบเชิงเขา  จังหวัดสระแก้ว  - ปราจีนบุรีตามพระราชดำริโดยเร่งด่วน

 ท่านสายเมือง ทวนความทรงจำว่า ที่สำคัญที่สุดนับแต่ปี 2521 เป็นต้นมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำรัสถึงเรื่อง “น้ำ”เป็นหัวใจของการดำเนินชีวิต จึงทรงพัฒนาแหล่งน้ำให้แก่ราษฎร ซึ่งการพัฒนาแหล่งน้ำถือเป็นศาสตร์สูงสุดในโลก แล้ววันนี้พวกคนไทยและต่างชาติ จึงได้สัมผัสพระอัจฉริยภาพแห่งประชาสามารถคือพระราชทาน “อ่างพวง”

คุณทินกร ให้ข้อมูลอ่างพวงว่าคืออ่างเก็บน้ำ 3 อ่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริเกื้อกูลกันสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น มีอ่างช่องกล่ำบนเก็บกักน้ำได้2.7 แสนลูกบาศก์เมตร(ลบม.)ถัดไปอีก 5 กม.เป็นอ่างเก็บน้ำช่องกล่ำล่างฯเก็บกักน้ำได้ 2.2 แสนลบม.และถัดไปอีกราว 5 กม.เป็นอ่างเก็บน้ำท่ากระบากฯเก็บกักน้ำได้ 72 แสนลบม. โดยแห่งแรกเมื่อน้ำล้นแล้วก็จะไหลผ่านลำคลองธรรมชาติไปที่อ่างสองและอ่างสาม  ทั้งหมดอยู่ในพื้นที่อำเภอวัฒนานคร

สุขทั้งแผ่นดินสำหรับคุณบุญสนองบอกว่ากรมชลประทานสนองพระมหากรุณาธิคุณโดยการจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นอ่างเก็บน้ำพระปรงฯ อ่างเก็บน้ำท่ากระบากเป็นต้น และที่น่าชื่นใจคือทุกหน่วยงานได้ร่วมกันทำงานถวายเพื่อประโยชน์ต่อประชาชน

 ผอ.ทินกรให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า วันนี้ทั้งจังหวัดสระแก้วและปราจีนบุรีซึ่งมีพื้นที่โครงการตามพระราชดำริคาบเกี่ยวกัน ได้ร่วมกันสนองแนวพระราชดำริพัฒนาศักยภาพพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนโดยการตั้งกรรมการร่วมเพื่อทำแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาฯตามพระราชดำริที่จะต่อยอดแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติตั้งแต่ปี 2560ไปจนถึงปี2564  

“เป้าหมายคนจนต้องหมดไปโดยเฉพาะในจังหวัดสระแก้วและปราจีนบุรีภายในปี 2564 ครับ” ผอ.ทินกรกล่าวด้วยรอยยิ้ม

ที่เกริ่นไว้ข้างต้นมีอดีตมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส นส.ฟ้ารุ่ง ยุติธรรม ร่วมคณะไปด้วย  คุณฟ้ารุ่ง บอกว่าที่ได้สัมผัสพระมหากรุณาธิคุณผ่านรูปธรรมคือพระราชทานแหล่งน้ำ ผืนป่า แนวทางการประกอบอาชีพ  และพระราชทานที่ดินทำกินเป็นต้น  ถ้าใครไม่ได้มาเห็นกับตาโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ก็จะไม่รู้เลยว่า  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทำงานหนักที่สุดเพื่อประชาชนของพระองค์  อยากชวนคนรุ่นใหม่มาเห็นมาสัมผัสและเรียนรู้หลักการทรงงาน  เอาพระองค์เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต  แล้วจะพบความสุขจริงๆห

จากนั้นคุณทินกรพาคณะสัญจรลงพื้นที่จุดแรกไปเยี่ยมบ้านเกษตรกรหรือชาวบ้านที่ได้รับผลพวงจากอ่างเก็บน้ำพระปรงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ก่อนที่จะไปยังตัวอ่างเป็นพื้นที่อันประสบความสำเร็จของนายวศิน  วะโฮรัมย์  แห่งบ้านห้วยชัน ชาววัฒนานคร  เป็นหนึ่งในผู้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณได้รับที่ดินที่จัดสรรให้ตามพระราชดำริ  15  ไร่

สุขทั้งแผ่นดิน

สุขทั้งแผ่นดิน“น้ำมาปัญญาเกิด  พอมีน้ำแล้วก็อยากทำโน่นทำนี่  เลี้ยงกุ้ง  เลี้ยงปลา  ปลูกมะนาว  ปลูกปาล์ม  ปลูกข้าว  รวมไปถึงร่วมกิจการท่องเที่ยวคือให้บริการเรือท่องเที่ยวในอ่างฯดูนกอ้าวงั่วสัญลักษณ์ของอ่างเก็บน้ำพระปรง  วันนี้มีรายได้เฉพาะปาล์มเดือนละ 2-3  หมื่นบาท(ช่วงเวลาเก็บเกี่ยว)  ที่ขาดไม่ได้เลยคือปลูกพืชผักที่เราต้องกินต้องใช้  เหลือกินเหลือแจกจ่ายก็ขาย  วันนี้กุ้งล็อบเตอร์กำลังเป็นที่นิยม  เลี้ยงอยู่ตอนนี้” วศินบอกพร้อมรอยยิ้ม

วศินย้ำว่าทุกอย่างเกิดได้อย่างนี้เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทาน “น้ำ”ปัจจัยสำคัญของการดำรงชีวิตที่จะทำให้สรรพสิ่งเจริญงอกงาม  สำคญไม่แพ้กันคือพระราชทานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นเครื่องมือดำเนินชีวิต  ที่ต้องใส่หัวใจกับพระราชดำรัสอย่างจริงจังคือต้องขยัน  ต้องไม่ตั้งอยู่ในความโลภ  ต้องอดทน  รู้จักอดออม  มีเมตตารู้จักให้รู้จักแบ่งปัน 

“ผลผลิตของผมเจริญงอกงามทำให้มีความเป็นอยู่ดีกินดีทุกวันนี้เพราะน้ำจากอ่างพระปรงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” รอยยิ้มทิ้งท้ายของวศิน  วโฮรัมย์ก่อนพาเดินชมสวนปาล์ม

อ่างเก็บน้ำพระปรงฯน้ำพระราชหฤทัยห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ที่ชุบชีวิตราษฎรให้หลุดพ้นจากความทุกข์อันเกิดจากความยากจนแสนสาหัสเมื่ออดีต  โดยพระราชทานพระราชดำริให้จัดสร้างและกรมชลประทานสนองพระมหากรุณาลงมือสร้างอย่างจริงจังเมื่อปี  2534  ลุล่วงเอาในปี  2542  ต้นน้ำของอ่างมาจากเขาห้วยชันและภูเขียว  เหนืออ่างขึ้นไปเป็นเทือกเขาบรรทัด  อยู่ห่างตัวอำเภอวัฒนานคร  35  กม.และห่างสระแก้วราว  60  กม.สามารถเก็บกักน้ำได้ถึง  97  ล.ลบม.

“วันนี้(16-17  กย.58)เหลือน้ำ  13  ล.ลบม.  น้ำไม่พอให้ชาวบ้านทำนาได้ซึ่งมีการประชุมชาวบ้านทำความเข้าใจกันต่อเนื่อง  แต่บางส่วนก็ไม่ค่อยฟังเพราะคิดว่าเดือดร้อนต้องการใช้น้ำอย่างเดียวก็มี  (ตรงนี้ผอ.ทินกรเสริมว่าถ้าปลายปี58 ถึงปี 2559  น้ำไม่ถึงเกณฑ์ต้องงดทำนาปรังเด็ดขาด ต้องสงวนน้ำไว้เพื่อการอุปโภคบริโภค)  ตอนนี้กำลังวางแผนที่จะปรับปรุงระบบความจุให้ได้เพิ่มขึ้นอีก  15  ล.ลบม.  มีความหวังว่าสิ้นเดือน ตุลาคมนี้จะได้น้ำเพิ่มขึ้นถึง  44 ล.ลบม.เพราะคาดว่าจะมีฝนมาอีกสักช่วง”เจ้าหน้าที่คนหนึ่งบอก

ไปต่อที่อ่างเก็บน้ำช่องกล่ำบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อยู่ในพื้นที่บ้านคลองคันโท  ตำบลหนองหมากเค็ง อำเภอวัฒนานคร ซึ่งน้ำส่วนเกินที่ไหลล้นจาก 3  อ่างพวงแล้วก็มาลงที่อ่างพระแรงฯด้วยเช่นกัน  อ่างเก็บน้ำช่องกล่ำฯเป็นจุดเริ่มต้นของอ่างพวง

เป็นอีกอ่างเก็บน้ำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้จัดสร้างเพื่อเก็บกักไว้สำหรับราษฎรได้ใช้สอยในการดำรงชีวิต  กำจัดปัญหาการขาดแคลนน้ำในทุกระบบ  และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความสมดุลแห่งทรัพยากรธรรมชาติ  คือ การสร้างความชุ่มชื้นให้ต้นไม้ได้เจริญงอกงามและที่ตามมาคือสามารถฟื้นฟูพื้นดินให้อุดมสมบูรณ์ไปในเวลาเดียวกัน  อันเกิดจากพระปรีชาสามารถที่ทรงทราบเป็นอย่างดีถึงพื้นที่ดังกล่าวที่จะสามารถพัฒนาเป็นแหล่งกักเก็บน้ำได้ 

            อีกหลายจุดที่อยากจะนำมาถ่ายทอด  อย่างโครงการศูนย์สาธิตจุดกำเนิดโครงการโค-กระบือตามพระราชดำริ  ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดจังหวัดสระแก้วฯ แล้วก็ “สวนของพ่อ”โครงการพัฒนาปรับปรุงสวนไม้ผลผสมผสานตามพระราชดำริ  บ้านคลองน้ำเขียว  ตำบลท่าแยก  อำเภอเมือง  เอาไว้เมื่อมีโอกาสครับ