“อดีต ปธ.คุรุสภา” ชี้ที่ประชุมรับฟังความคิดเห็นแก้ พ.ร.บ.สภาครูฯ เดินหลงทาง


ศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ คณบดีวิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และอดีตประธานกรรมการคุรุสภา เปิดเผยว่า ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 ณ ห้องประชุมคุรุสภา เมื่อเร็วๆ นี้ ในที่ประชุมให้ความเห็นกันอย่างกว้างขวางในประเด็นขององค์ประกอบของคณะกรรมการคุรุสภา แต่มีการพูดถึงปรัชญาและจุดมุ่งหมายของสภาวิชาชีพน้อยเกินไป ซึ่งจะทำให้การพัฒนาองค์ประกอบของกรรมการคุรุสภาไม่ชัดเจนพอ โดยทั่วไปแล้วสภาวิชาชีพจัดตั้งขึ้นเพื่อประกันคุณภาพของวิชาชีพเป็นหลักสำคัญ โดยเฉพาะสภาวิชาชีพครูนั้น ควรจะมีจุดมุ่งหมายหลัก 4 ประการ 1) ควบคุมดูแลให้ผู้ประกอบวิชาชีพครู (รวมบุคลากรอื่น) ได้ทำงานเพื่อให้ผู้รับบริการสามารถได้รับบริการที่ดีที่สุด เต็มที่ และถูกต้องตรงไปตรงมา 2) ยกฐานะวิชาชีพครูให้มีคุณภาพสูงเป็นที่ยอมรับของวงวิชาการและวงสังคมของประเทศและนานาชาติ 3) ช่วยเหลือผู้ประกอบวิชาชีพให้ได้รับความเป็นธรรมในการประกอบวิชาชีพ ไม่ถูกกลั่นแกล้งรังแกโดยกลุ่มคนอื่นๆ และ  4) ดูแลให้ครู และบุคลากรอื่นๆ ได้มีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข มีความเหมาะสมกับฐานะตามสมควร ไม่ต้องพะวงกับการดำรงชีวิตของครอบครัว เพื่อจะได้ทุ่มเทเวลาให้กับนักเรียนได้เต็มที่ เต็มเวลาและเต็มกำลัง

ศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ กล่าวต่อว่า จุดมุ่งหมายทั้ง 4 ประการดังกล่าว จะเป็นแนวทางให้สภาวิชาชีพครูได้จัดกิจกรรมได้เหมาะสม สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายดังกล่าว โดยเฉพาะจะเป็นแนวทางในการกำหนดกลุ่มของกรรมการคุรุสภาได้เหมาะสมยิ่งขึ้นคือ 1.เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพให้บริการได้ดีที่สุดควรต้องมีผู้ปกครองและผู้ทรงคุณวุฒิส่วนหนึ่งเป็นกรรมการ 2.เพื่อให้ยกฐานะได้ก็ควรต้องมีผู้ผลิตและผู้เชี่ยวชาญรวมอยู่ด้วย 3.เพื่อให้ช่วยเหลือผู้ประกอบวิชาชีพคือครูและบุคลากรอื่นๆ ได้ตรง สัดส่วนกรรมการคุรุสภาก็จะต้องมีผู้แทนครูและบุคลากรทางการศึกษา และ 4.เพื่อจะดูแลให้ครูอยู่อย่างเป็นสุข ก็ควรต้องมีตัวแทนจากผู้ใช้ครู ซึ่งได้แก่ส่วนงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับครู  ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา กลุ่มเจ้าของและผู้บริหารโรงเรียนเอกชน เป็นต้น 

“ส่วนจำนวนกรรมการคุรุสภาจากแต่ละกลุ่มนั้น ไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพของกรรมการแต่ละกลุ่ม เราจึงควรจะหาวิธีการให้ได้มาซึ่งตัวแทนที่มีคุณภาพมากกว่าจำนวนที่เสนอกันมา เช่นเดียวกับประธานกรรมการก็ควรจะเป็นทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่กรรมการเลือกกันเองน่าจะเหมาะสมที่สุด” ศ.ดร.ไพฑูรย์กล่าว