สปช.พบ “ดาว์พงษ์” มอบพิมพ์เขียวข้อเสนอปฏิรูปการศึกษา


เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นำโดยนายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมาธิการฯ เข้าหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นข้อเสนอแนวทางการจัดการศึกษากับรัฐมนตรีและผู้บริหาร  5 องค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยนายพารณนำตัวแทนคณะกรรมาธิการฯ 15 คน เข้าพบ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เพื่อส่งมอบพิมพ์เขียวการศึกษาที่คณะกรรมาธิการฯใช้เวลากว่า 9 เดือนไปรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศ ซึ่งมีข้อเสนอที่น่าสนใจหลายเรื่อง เพื่อให้ ศธ.นำไปขับเคลื่อนและเลือกทำ โดยคณะกรรมาธิการฯแม้จะหมดวาระลงเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา แต่พร้อมจะช่วยรัฐบาลและการปฏิรูปการศึกษาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนต่อไป

พล.อ.ดาว์พงษ์ เปิดเผยภายหลังว่า ประเด็นที่คณะกรรมาธิการฯ สปช.เสนอและหารือในครั้งนี้มีหลายเรื่อง แต่ข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในพิมพ์เขียวมี 3 เรื่องสำคัญ คือ การปฏิรูประบบการจัดการศึกษา การปฏิรูประบบการคลังด้านการศึกษาและด้านอุปสงค์ และการปฏิรูประบบการเรียนรู้ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ ศธ.กำลังดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน แต่ก็ได้บอกคณะกรรมาธิการฯให้ช่วยคิดว่า ปัญหาหรือข้อมูลที่เสนอมานั้น ทำไมต้องทำเรื่องนั้นๆ และข้อเสนอแต่ละหัวข้อ มองเห็นปัญหาอะไรบ้าง และควรจะทำอย่างไร เพื่อ ศธ. จะได้นำมาพิจารณาต่อไป

สำหรับข้อเสนอวาระการปฏิรูปการศึกษา 3 เรื่องสำคัญของ สปช.มีรายละเอียดดังนี้ 1.ปฏิรูประบบการจัดการศึกษา โดยเน้น 5 ด้าน คือ 1) ปฏิรูปนโยบายการจัดการศึกษาและการจัดองค์กรในระบบการศึกษา ที่เน้นการกระจายอำนาจการจัดการสถานศึกษา การมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน 2) ปฏิรูปการเตรียมการผู้เข้าเรียน 3) ปฏิรูปการบริหารบุคลากรทางการศึกษา ทั้งการผลิต ปรับปรุงพัฒนา การประเมินผล และสร้างระบบคุณธรรมของบุคลากร 4) ปฏิรูประบบธรรมาภิบาลการจัดการศึกษา 5) ปฏิรูประบบการประกันคุณภาพการศึกษา

2.ปฏิรูปการคลังด้านการศึกษาฯ โดยเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษา โดยการจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษา การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การมีส่วนร่วมของประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน มีการจัดทำระบบคูปองการศึกษาโดยจัดสรรให้แก่ผู้เรียนนำไปจ่ายให้แก่สถานศึกษาด้านอุปสงค์ตรงตามระดับการศึกษา มีการจัดสรรงบดำเนินการที่ต้องการเพิ่มพิเศษเพื่อจัดสรรงบประมาณให้แก่ผู้เรียนที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เพียงพออย่างมีคุณภาพและตามความเป็นจริง

และ 3.ปฏิรูประบบการเรียนรู้ โดยปฏิรูปหลักสูตรในการเรียนการสอนทุกระดับให้เหมาะสมและทันสมัยทั้งหลักสูตรแกนกลาง หลักสูตรตามภูมิสังคม และหลักสูตรเฉพาะ รวมทั้งมีวิธีการจัดการเรียน เพื่อให้ผู้เรียนรู้จักคิดด้วยเหตุและผล หาความรู้ได้ด้วยตนเอง ทั้งการเรียนในห้องเรียน การเรียนจากกิจกรรม การเรียนรู้ชีวิตในสังคมพหุวัฒนธรรม และการฝึกทักษะ ตลอดจนปฏิรูปวิธีการวัดผล เพื่อสะท้อนถึงผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ทั้งการวัดความรู้ร่วม การวัดความรู้เฉพาะ การวัดทักษะ และการวัดผลการจัดการศึกษา โดยวัดผลจากการทำงานของผู้ที่จบไปแล้ว อีกทั้งควรมีการปฏิรูปการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ที่สถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยควรเน้นสร้างความรู้ใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเสริมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น