เศรษฐกิจพอเพียงฯในสำนึกของ 2 ต่างชาติ


สุขทั้งแผ่นดิน/เสกสรร สิทธาคม

“...คนเราถ้าพอในความต้องการก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าประเทศใดมีความคิดอันนี้ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมี มีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น...”

พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑

            “สังคมต้องมีทางเลือกใหม่ สำหรับเมืองไทย คือ เศรษฐกิจพอเพียง” คำสรุปที่ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ วิทยากร ซึ่งทางผู้จัดคือสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เชิญมาให้แง่คิดเพิ่มโลกทัศน์ในโครงการอบรมหลักสูตร “นักบริหารการพัฒนาตามแนวพระราชดำริรุ่นที่ 4” หรือ นบร.4 ในหัวเรื่อง “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในทัศนะโลก” เป็นแนวคิดของ .ดร.ฟรานซ์ ธีโอ กอตวอลล์

ข่าวการศึกษา

ดร.พิพัฒน์พูดถึงกอตวอลล์ว่า เป็นนักวิชาการด้านปรัชญาผู้สนใจด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้อำนวยการมูลนิธิไวเฟิร์ทเพื่อการพัฒนาเกษตรกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประเทศเยอรมนี เดินทางเผยแพร่งานวิชาการและบรรยายให้กับมหาวิทยาลัยหลายแห่งในหลายภูมิภาค ทั้งยุโรป เอเชีย และละตินอเมริกา เคยเดินทางมาเมืองไทยครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1979 และใช้เวลาฝึกสมาธิภาวนา เพราะความศรัทธาในหลักธรรมที่ทำให้รู้สึกปล่อยวาง และใช้ชีวิตแบบองค์รวมได้

ข้อมูลที่ปรากฏเผยแพร่ของ ศ.ดร.กอตวอลล์ โดย ดร.พิพัฒน์ มีดังนี้

“ศ.ดร.กอตวอลล์ มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับการเกษตรและสิ่งแวดล้อมมากมาย ทั้งยังสนใจศึกษาเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น การนำความรู้มาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาชนบทให้เศรษฐกิจเติบโตและมีรายได้หมุนเวียนในโครงสร้างที่เรียกว่า เชิงพหุภารกิจ (Multi-Functional Agriculture) ที่จะทำให้เกษตรกรไม่เพียงแต่มีความสามารถในการผลิตสินค้าขั้นพื้นฐาน แต่จะทำให้พวกเขาสามารถที่จะแปรรูปเพิ่มมูลค่า ทำการตลาดได้ด้วยตนเอง มีระบบสหกรณ์เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองกับระบบตลาดเสรี”

สังคมในโลกทุนนิยมมุ่งให้เศรษฐกิจเติบโตจากการบริโภค จึงทำให้เกิดความโลภ เช่น จากการที่เคยมีโทรทัศน์แบบธรรมดา ก็ต้องขวนขวายหาเงิน เพื่อซื้อจอที่ใหญ่กว่า บางกว่า เป็นวิถีที่สร้างวัฒนธรรมวัตถุนิยมและการบริโภคแบบไม่รู้จักพอ ทุกคนจึงมีส่วนในการสนับสนุนระบบทุนนิยมนี้ไปโดยปริยาย ทางออกคือ ต้องชี้ให้มนุษย์เห็นแจ้งในทางที่ก่อให้เกิดความสุขโดยไม่ยึดติดกับวัตถุนิยม เพราะแม้ทุกคนจะมีวัตถุสิ่งของครบถ้วนบริบูรณ์ตามที่ต้องการแล้ว ก็กลับพบว่ายังไม่มีความสุขที่แท้อยู่ดี

“ผมรู้สึกชอบในเรื่องวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของเศรษฐกิจพอเพียงที่มีรากฐานมาจากพุทธธรรม ในความเข้าใจของผมนั้น การพิจารณาในใจโดยแยบคายเพื่อให้เข้าถึงความจำเป็นที่แท้จริงของชีวิต จะทำให้เกิดการปล่อยวางและเป็นสุข” คำพูดของ ศ.ดร.กอตวอลล์ ที่ ดร.พิพัฒน์ยกมา ซึ่งได้เน้นย้ำว่าเป็นเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ศ.ดร.กอตวอลล์ มองว่า มนุษย์สามารถได้รับความพึงพอใจกับสิ่งที่ตนได้มาจากธรรมชาติ โดยไม่ขอจากธรรมชาติเกินความต้องการ และนี่คือ “จริยธรรมด้านสิ่งแวดล้อม” ที่หมายรวมถึงการจัดการดูแลทรัพยากรทางธรรมชาติรอบตัวให้เพียงพอกับความต้องการ ฉะนั้น ตามแนวทางจริยธรรมด้านสิ่งแวดล้อมนี้ จึงเป็นเรื่องราวของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นต่อการดำรงชีพอย่างพอเพียง

ทว่าการที่จะเดินไปสู่จุดเหล่านั้น แต่ละสังคมต้องมีทางเลือกใหม่ เพราะทุกประเทศมีปัญหาที่แตกต่างกัน มีสังคมวัฒนธรรมที่ผิดแผกแตกต่างกัน ดังนั้น ในแต่ละพื้นที่ย่อมต้องมีหลักการและแนวปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป เช่น เศรษฐกิจสมานฉันท์ (Solidarity Economy) เป็นสิ่งที่เหมาะกับอเมริกาใต้ ขณะที่การพูดถึงประสิทธิภาพของวงจรธรรมชาติและเรื่องสิ่งแวดล้อม อาจเป็นเรื่องที่สามารถเริ่มต้นได้ที่ประเทศจีน หรือการกล่าวถึงเรื่องการเมืองสีเขียว (Green Politics) จะเป็นที่ชื่นชอบของประเทศยุโรป ขณะที่ประเทศไทยเองมีแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเป็นทางออกใหม่

“แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเหมาะที่สุด และเข้ากันได้ดีกับความเป็นเมืองพระพุทธศาสนาอย่างประเทศไทย” ศ.ดร.กอตวอลล์กล่าว

ดร.พิพัฒน์นำแนวคิดของ ศ.ดร.กอตวอลล์มาขยายความต่ออีกว่า สำหรับการที่จะนำพาประเทศไปสู่ทิศทางของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เขาเสนอแนวทางสองแนวทาง คือการสร้างการเรียนรู้ให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนัก เป็นแนวทางแรก ส่วนแนวทางที่สอง คือการสร้างกฎกติกาที่เอื้อต่อการก้าวไปสู่การเป็นเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวคือแม้จะอยู่ในสังคมระบบเศรษฐกิจการตลาด แต่ภาครัฐจะต้องเป็นผู้สร้างกฎกติกา มีการออกแบบเชิงสถาบัน (Institution) ที่เหมาะสม มีโครงสร้างที่เอื้อให้ธุรกิจดำรงอยู่และเติบโตภายใต้กรอบการทำงาน (Framework) ดังกล่าว ขณะที่ผู้บริโภคก็ต้องมีแนวทางการบริโภคแบบพอเพียง โดยยึดหลักตามแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแนะนำไว้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาแบบยั่งยืนนี้

วิทยากรได้สรุปเป็นคำจำกัดความในช่วงนี้ว่า การเดินตามรอยพระยุคลบาทตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแนะให้พัฒนาจิตใจและปัญญาตามหลักคุณธรรม เป็นการพัฒนาภายใน หลังจากพัฒนาทางเศรษฐกิจแล้ว จะต้องพัฒนาจิตใจ เป็นการพัฒนาที่ยากที่สุด ถ้าเราเอากำลังของเราพัฒนาเศรษฐกิจพอแล้ว กำลังที่เหลือจะต้องใช้พัฒนาจิตใจและปัญญา ซึ่งทางตะวันตกยังคิดไม่ถึง

คณะผู้เข้าอบรม นบร.4 ได้เปิดโลกทัศน์ไปถึงต่างชาติที่กำลังสนใจแนวทางดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ นับเป็นการเผยแพร่พระเกียรติคุณที่พระราชทานหลักการดำเนินชีวิตที่นำพาครอบครัว สังคมเข้มแข็ง บนความสุขสงบร่มเย็นอย่างแท้จริง มิใช่เพียงแค่ประโยชน์สุขจะเกิดแก่คนไทย ประเทศไทย แต่ทรงพระเมตตาไปถึงคนนานาประเทศด้วย

…...............................................

.ดร.อมตยา เซน

“ความพอเพียง ไม่ได้หมายถึงไม่ต้องการอีกแล้ว แต่ต้องมีพอที่จะอยู่ได้ พอที่จะมีชีวิตที่ดี”

ข่าวการศึกษา

.ดร.อมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดีย จบเศรษฐศาสตร์และปรัชญาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกจามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ มีผลงานการวิจัยเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการระดับโลก ด้วยการศึกษาวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สวัสดิการ เศรษฐศาสตร์การพัฒนา โดยเน้นวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการพัฒนาด้านเศรษฐกิจควบคู่กันไป ทำให้ได้รับการยอมรับว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนาคนหนึ่งของโลก ผลงานทางวิชาการของ ศ.ดร.อมาตยา เซน สามารถนำมาประยุกต์ปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือและพัฒนาสังคมได้จริง

แนวทางโดดเด่นในการแก้ปัญหาวิกฤตสังคม ปัญหาความยากไร้ ปัญหาความทุกข์ยากของคนในสังคม ศ.ดร.อมาตยา เซน ไม่เลือกวิธีการใช้เงินหรือความมั่งคั่งเป็นตัวตั้ง เฉกเช่นระบบเศรษฐกิจกระแสหลักของการพัฒนาแบบทางเลือก และแนวพัฒนาโดยให้ความสำคัญกับสมรรถภาพของมนุษย์ โดยไม่มองบุคคลในเชิงรายได้เท่านั้น แต่จะพิจารณาว่าบุคคลสามารถที่จะเป็นหรือทำอะไรตามทางเลือกที่มีอยู่ แทนการมุ่งเน้นสร้างรายได้เพียงอย่างเดียว

“การพัฒนาประเทศ ไม่ควรมุ่งแต่อัตราการเติบโตของรายได้ แต่ควรจะสนับสนุนให้มีการเติบโตในขีดความสามารถด้านอื่นๆ อย่างสมดุล” ศ.ดร.อมาตยา เซนกล่าว

ศ.ดร.อมาตยา เซน พบว่า หลายๆ ประเทศในโลกกำลังเผชิญปัญหาภาวะความไม่มั่นคงในการดำรงชีวิต และมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจผันแปร ทำให้ประชาชนตกอยู่ในห้วงทุกข์ เช่นในสหรัฐอเมริกา ประชาชนผู้มีรายได้ต่ำ ไม่สามารถไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพได้ เพราะไม่มีรายได้มากพอที่จะใช้จ่ายในส่วนนี้ นับเป็นตัวอย่างการพัฒนาที่เน้นความมั่นคง เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ประชาชนยังทุกข์ยาก

อีกแนวทางหนึ่งที่ ศ.ดร.อมาตยา เซน เปิดมุมมองไว้อย่างน่าสนใจ คือ แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจัดรวมอยู่ในส่วนของทางเลือกใหม่ในการพัฒนา โดยการพัฒนาตามแนวทางนี้ มีเรื่องของมุมมองการตัดสินใจ เป็นหัวใจสำคัญ เพราะเมื่อหลายคนผิดหวังจากเศรษฐกิจกระแสหลัก ก็จะมองหาหลักการด้านอื่นๆ ซึ่งอาจจะดำเนินไปในทิศทางตรงกันข้าม แต่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในความเห็นของ ศ.ดร.อมาตยา เซน เป็นการใช้สิ่งต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพและใช้โอกาสให้พอเพียงกับชีวิตที่ดี ความพอเพียงในทัศนะนี้จึงไม่ไหมายถึงความไม่ต้องการ แต่ต้องรู้จักใช้ชีวิตให้ดีพอ อย่าให้ความสำคัญกับเรื่องของรายได้และความร่ำรวย แต่ให้มองคุณค่าของชีวิตมนุษย์

ศ.ดร.อมาตยา เซน ยังระบุด้วยว่า การให้ความสำคัญกับสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ และโอกาสพอเพียงในการดำรงชีวิตที่ดี เป็นส่วนหนึ่งในแนวทางพัฒนาโดยให้ความสำคัญกับสมรรถภาพของมนุษย์

ฉะนั้น ความพอเพียง ไม่ได้หมายถึง ไม่ต้องการอีกแล้ว แต่ต้องมีพอเพียงที่จะอยู่ได้ พอที่จะมีชีวิตที่ดี ซึ่งไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องใหญ่ๆ อย่างผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือเรื่องของรายได้ ความมั่นคงมากนัก แต่ต้องมองให้เห็นว่า “อะไรเป็นสิ่งพอเพียงสำหรับชีวิตมนุษย์”