ข้องใจคนลงนามอนุมัติจัดสรรงบฯ กศน. ไม่ใช่ “ปลัด ศธ.”ตัวจริง! ห่วงสุ่มเสี่ยงเกิดความเสียหายกับเงินแผ่นดิน


ความคืบหน้าต่อเนื่อง “สำนักข่าวการศึกษา สยามเอ็ดดูนิวส์” นำเสนอข่าวกรณีการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ผลิตหนังสือเรียนรายย่อย ทำหนังสือร้องเรียนไปถึงนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการจัดจ้างพิมพ์หนังสือเรียน และการจัดซื้อหนังสือเรียนของศูนย์ กศน.ต่างๆ ทั่วประเทศย้อนหลังตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551 จนถึงปัจจุบัน ใช้วงเงินงบประมาณรวมจำนวนหลายพันล้านบาท เนื่องจากสงสัยว่าจะมีการผูกขาด โดยกลุ่มระดับผู้บริหาร กศน.ทั้งในปัจจุบัน และอดีตที่มีอิทธิพล ซึ่งบางคนเกี่ยวพันสนิทแนบแน่นกับนักการเมืองใหญ่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกันดำเนินการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนบางราย และอาจเหิมเกริมถึงขั้นร่วมมือกันละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือเรียนของ กศน. โดยนำหนังสือเรียนลิขสิทธิ์ กศน.ไปทำการคัดลอก ดัดแปลงไปเป็นหนังสือเรียนของบริษัทเอกชน แล้วนำกลับมาร่วมเสนอประกวดราคาขายให้กับศูนย์ กศน.ต่างๆ สร้างความเสียหายแก่ทางราชการคือ กศน.ไม่น้อยกว่าหลักพันล้านบาท และยังทำให้ผู้ผลิตหนังสือรายอื่นๆ ไม่สามารถเข้ามาแข่งขันราคาได้อย่างเป็นธรรม

กระทั่งมีการเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้ลงมาจัดการแก้ปัญหามาเฟียใน กศน.ดังกล่าวโดยเร็ว

ล่าสุด “สำนักข่าวการศึกษา สยามเอ็ดดูนิวส์” ได้รับการเปิดเผยจากข้าราชการในสังกัดสำนักงาน กศน.ที่ขอให้เผยแพร่ส่งผ่านไปถึง พล.อ.ประยุทธ์และ พล.ร.อ.ณรงค์ เพื่อสั่งการให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีมีการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับหนังสืออนุมัติการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2556 ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ด่วนมาก ที่ ศธ 0210.02/ 11106 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2555 ความว่า เรียนผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัด ตามที่สำนักงาน กศน.ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2556 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานโครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนนั้น สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาแล้ว อนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2556 แผนงาน : สร้างและกระจายโอกาสทางการศึกษาให้ทาวถึงและเป็นธรรม ผลผลิตที่ 4 ผู้รับบริการการศึกษานอกระบบ งบรายจ่ายอื่น โครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพสำหรับกลุ่มเป้าหมายจำแนกตามการจัดสรรงบประมาณดังนี้ 1.จัดสรรตามจำนวน กศน.ตำบล 2.จัดสรรตามขนาดจังหวัด 3.จัดสรรตามความหนาแน่นของประชากรและความต้องการทางการศึกษาของกลุ่มเป้าหมายและชุมชน ทั้งนี้ ขอให้บริหารงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ และเบิกจ่ายให้ถูกต้องตามหลักการจำแนกประเภทรายจ่ายงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่ผู้ลงนามในหนังสือของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการฉบับนี้ กลับเป็นเลขาธิการ กศน.ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

“ทั้งที่เรื่องการจัดสรรงบประมาณถือเป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญมาก ควรที่ผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการจะแสดงความรับผิดชอบพิจารณาเรื่องและลงนามอนุมัติด้วยตัวเอง หรือไม่ก็มอบหมายให้รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการที่รักษาราชการแทนปลัดฯเป็นคนพิจารณาก่อนอนุมัติ ไม่ใช่ยินยอมให้เลขาธิการ กศน. ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นเรื่องและเสนอขออนุมัติ เป็นผู้ใช้อำนาจปลัดกระทรวงลงนามแทน ซึ่งอาจจะสุ่มเสี่ยงกับความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดินเกิดขึ้นตามมา” ข้าราชการในสังกัดสำนักงาน กศน.กล่าว

ข้าราชการในสังกัดสำนักงาน กศน.กล่าวด้วยว่า ต่อมาวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 เลขาธิการ กศน.ได้ลงนามในหนังสือสำนักงาน กศน. ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0210.117/ 4887 แจ้งเรื่องโอนจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2556 โดยอ้างถึงหนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ ศธ 0210.02/ 11106 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2555 พร้อมสิ่งที่ส่งมาด้วยเป็นแบบรายงานการโอนเปลี่ยนแปลงการจัดสรรงบประมาณ และตอนท้ายหนังสือระบุว่า ได้โอนจัดสรรเงินงบประมาณดังกล่าวมาตั้งจ่ายที่คลังจังหวัดในระบบอิเล็กทรอนิกส์เรียบร้อยแล้ว

“กระทั่งต่อมามีการร้องเรียนกล่าวหาถึงรัฐมนตรีว่าการ ศธ. นายกรัฐมนตรี และผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ปรากฏ โดยเฉพาะในประเด็นการจัดสรรงบฯตามแนวทางความหนาแน่นของประชากรและความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีการยึดหลักจัดสรรตามจำนวน ส.ส. ถ้าจังหวัดใดมี ส.ส. 1 คน จะได้งบฯ 500,000 บาท ได้งบฯมากน้อยตามจำนวน ส.ส.แต่ละจังหวัด แต่กลับพบความผิดปกติว่า จังหวัดเล็กบางจังหวัดกลับได้งบฯมากเป็นพิเศษ มากกว่าจังหวัดใหญ่ที่มีจำนวน ส.ส.มากกว่า ซึ่งมีจำนวน 30-40 จังหวัด ได้งบฯจังหวัดละ 6-10 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ข้าราชการในสังกัดสำนักงาน กศน.กล่าว และว่า ขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.ร.อ.ณรงค์ ได้ลงมาสั่งการให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นเหล่านี้ด้วยว่า มีความไม่ชอบมาพากลอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะเกิดความเสียหายแก่งบประมาณแผ่นดินหรือไม่