ชง “เลขาฯ กศน.-ปลัด ศธ.” สั่งสอบเพิ่ม! ปมฮั้วประมูลขายหนังสือเรียนให้ศูนย์ กศน. ฟันกำไรกว่า 100 ล้านบาท


ความคืบหน้าต่อเนื่อง “สำนักข่าวการศึกษา สยามเอ็ดดูนิวส์” นำเสนอข่าวกรณีการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ผลิตหนังสือเรียนรายย่อย ทำหนังสือร้องเรียนไปถึงนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ขอให้ตรวจสอบกรณีการจัดจ้างพิมพ์หนังสือเรียน และการจัดซื้อหนังสือเรียนของศูนย์ กศน.ต่างๆ ทั่วประเทศย้อนหลังตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551 จนถึงปัจจุบัน วงเงินใช้งบประมาณรวมจำนวนหลายพันล้านบาท เนื่องจากสงสัยว่าจะมีการผูกขาด โดยกลุ่มอดีตผู้บริหาร กศน.ที่มีอิทธิพล ซึ่งบางคนเกี่ยวพันสนิทแนบแน่นกับนักการเมืองใหญ่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกันดำเนินการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนบางราย และอาจเหิมเกริมถึงขั้นร่วมมือกันละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือเรียนของ กศน. โดยนำหนังสือเรียนลิขสิทธิ์ กศน.ไปทำการคัดลอก ดัดแปลงไปเป็นหนังสือเรียนของบริษัทเอกชนเหล่านั้น แล้วนำกลับมาร่วมเสนอประกวดราคาขายให้กับศูนย์ กศน.ต่างๆ สร้างความเสียหายแก่ทางราชการคือ กศน.ไม่น้อยกว่าหลักพันล้านบาท และยังทำให้ผู้ผลิตหนังสือรายอื่นๆ ไม่สามารถเข้ามาแข่งขันราคาได้อย่างเป็นธรรม

กระทั่งมีการเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้ลงมาจัดการแก้ปัญหามาเฟียใน กศน.ดังกล่าวโดยเร็วด้วย ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ทันทีว่า มีอดีตผู้บริหาร กศน.ใครบ้างที่ถูกส่งไปเป็นผู้บริหารโรงพิมพ์เอกชนที่เป็นของคู่ค้ารายใหญ่กับศูนย์ กศน.ต่างๆ ซึ่งสร้างขึ้นในแต่ละภาค โดยได้รับเงินเดือนตอบแทนหลักแสนบาทนั้น

ล่าสุดกลุ่มผู้ผลิตหนังสือรายย่อย เตรียมส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมจากการสืบค้นข้อมูลการดำเนินธุรกิจจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ไปยังเลขาธิการ กศน. และ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อใช้ประกอบการตรวจสอบประเด็นร้องเรียนกล่าวหาเพิ่มเติม กรณีมีบริษัทเอกชนบางแห่งมีพฤติการณ์ส่ออาจเข้าข่ายร่วมกับเอกชนที่เป็นเครือข่ายเดียวกัน โดยมีความเชื่อมโยงกันหลายลักษณะ ทั้งในรูปแบบของผู้ถือหุ้น, ผู้รับมอบอำนาจจดทะเบียนเลิกกิจการ และผู้รับมอบอำนาจจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัท เป็นคนเดียวกัน รวมทั้งในรูปแบบกรรมการบริษัทหนึ่งไปทำธุรกิจร่วมกับหุ้นส่วนผู้จัดการของ 2 หจก.ที่ไปเป็นผู้ร่วมประกวดราคาจัดซื้อหนังสือเรียนของ กศน. และที่สำคัญหุ้นส่วนผู้จัดการดังกล่าวยังไปนั่งดูแลบัญชีการเงินของบริษัทเอกชนแห่งดังกล่าวด้วย จึงอาจจะเข้าข่ายร่วมกันฮั้วประมูลเคาะเสนอราคาขายหนังสือเรียนให้กับศูนย์ กศน.หลายจังหวัด อย่างน้อย 17 โครงการ ในช่วงปี 2555-ปัจจุบัน รวมวงเงินไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังมีข้อน่าสังเกตด้วยว่า บริษัทเอกชนดังกล่าวเสนอราคาต่ำกว่า (ทำให้ชนะประมูล) เอกชนรายอื่นที่เคาะเสนอเป็นคู่เทียบราคา ห่างกันเพียงหลัก 200 บาท ถึง 1 พันกว่าบาทเท่านั้น

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ผลิตหนังสือรายย่อยดังกล่าว ได้เตรียมเสนอโครงการกรณีตัวอย่างที่อาจจะเข้าข่ายร่วมกันฮั้วประมูล เพื่อให้นายการุณ เลขาธิการ กศน. และ รศ.นพ.กำจร ปลัด ศธ. ได้เพิ่มประเด็นพิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงด้วย เช่น โครงการประกวดราคาซื้อสื่อสนับสนุนการพัฒนากลุ่มอาชีพจังหวัดลำพูน, โครงการประกวดราคาซื้อสื่อหนังสือกิจกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน สำหรับกลุ่มเป้าหมาย นักศึกษา กศน.จังหวัดแพร่, โครงการประกวดราคาซื้อหนังสือ สื่อ การเรียนการสอน ของสำนักงาน กศน. จังหวัดบึงกาฬ, โครงการประกวดราคาซื้อหนังสือในโครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน สำนักงาน กศน.จังหวัดเชียงใหม่ และโครงการประกวดราคาซื้อหนังสือและสื่อในการจัดกิจกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน ของสำนักงาน กศน.จังหวัดปราจีนบุรี เป็นต้น

ด้านนายการุณ เลขาธิการ กศน. กล่าวชี้แจงเบื้องต้นภายหลังมีหนังสือคำสั่งลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2558 แจ้งถึงผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดต่างๆ ให้ชี้แจงเกี่ยวกับข่าวการร้องเรียนกล่าวหาการจ้างพิมพ์ และจัดซื้อหนังสือเรียนของหน่วยงานในสังกัดสำนักงาน กศน.ส่อไปในทางที่มิชอบ ภายใน 7 วันว่า ปัจจุบันทาง กศน.ใช้วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding (อี-บิดดิ้ง) ในการจ้างพิมพ์ และจัดซื้อหนังสือเรียน ซึ่งอี-บิดดิ้งสามารถอธิบายได้ว่า ผู้ขายกับผู้ซื้อจะไม่เจอหน้ากัน เเละผู้ขายก็ไม่รู้ว่าใครขายบ้าง ผู้ซื้อก็ไม่รู้ว่าใครเสนอขายมาบ้าง จนกว่าถึงวันปิดการเสนอราคา จึงจะรู้ว่ามีใครเสนอมาบ้าง เพราะวิธีอี-บิดดิ้ง จะต้องยื่นผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ของกรมบัญชีกลาง ซึ่งวิธีนี้เชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาไปได้บ้าง