แฉ 29 ศูนย์ กศน.อีสาน-กลางส่อผูกขาดจ้าง 3 บริษัทพิมพ์หนังสือเรียน 121 ล้าน เหิมเกริมละเมิดลิขสิทธิ์ตำรา กศน.เสียหายพันล.


ความคืบหน้ากรณีกลุ่มผู้ผลิตหนังสือเรียนรายย่อยส่งหนังสือร้องเรียนถึงนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ขอให้ตรวจสอบกรณีการจัดจ้างพิมพ์หนังสือเรียน และการจัดซื้อหนังสือเรียนของศูนย์ กศน.ต่างๆ ทั่วประเทศย้อนหลังตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551 จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากสงสัยว่าจะมีการผูกขาด โดยกลุ่มอดีตผู้บริหาร กศน.ที่มีอิทธิพล ซึ่งบางคนเกี่ยวพันสนิทแนบแน่นกับนักการเมืองใหญ่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกันดำเนินการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนบางราย ที่อาจถึงขั้นมีการละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือเรียน กศน. ในกลุ่มวิชาเลือก นำหนังสือเรียนลิขสิทธิ์ กศน.ไปทำการคัดลอก ดัดแปลงเป็นหนังสือเรียนของบริษัทเอกชนแล้วนำกลับมาขายให้กับศูนย์ กศน.ต่างๆ สร้างความเสียหายแก่ทางราชการ และยังทำให้ผู้ผลิตหนังสือรายอื่นๆ ไม่สามารถเข้ามาแข่งขันราคาได้อย่างเป็นธรรม

อีกทั้งมีการเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้ลงมาจัดการแก้ปัญหามาเฟียใน กศน.ดังกล่าวโดยเร็ว ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ทันทีว่า มีอดีตผู้บริหาร กศน.ใครบ้างที่ถูกส่งไปเป็นผู้บริหารโรงพิมพ์เอกชนที่เป็นของคู่ค้ารายใหญ่กับศูนย์ กศน.ต่างๆ ซึ่งตั้งขึ้นในแต่ละภาค โดยได้รับเงินเดือนตอบแทนหลักแสนบาทนั้น

ล่าสุดผู้ผลิตหนังสือเรียนรายย่อยคนหนึ่ง เปิดเผยว่า มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กล่าวหากันมากในกลุ่มผู้ประกอบการผลิตหนังสือเรียนหลายแห่งว่า สาเหตุที่ผู้ประกอบการเหล่านี้ไม่เข้าไปร่วมเสนอราคารับจ้างพิมพ์หนังสือเรียน กศน. หรือผลิตหนังสือเรียนออกมาจำหน่ายให้กับศูนย์ กศน.ต่างๆ ก็เพราะทราบดีว่า มีการผูกขาดกันระหว่างกลุ่มอดีตผู้บริหาร กศน.กับบริษัทเอกชนบางรายมานานแล้ว เป็นลักษณะมาเฟียกันเลยทีเดียว เพราะเหิมเกริมถึงขนาดว่า อดีตผู้บริหาร กศน.บางคนที่ถูกส่งไปเป็นผู้บริหารโรงพิมพ์เอกชนที่เป็นของคู่ค้ารายใหญ่กับศูนย์ กศน.ต่างๆ ไปตั้งทีมเอาหนังสือเรียนลิขสิทธิ์ของ กศน.ในรายวิชาต่างๆ จำนวนมากมาทำการคัดลอก ดัดแปลงไปเป็นหนังสือเรียนของบริษัทตนเอง แล้วนำกลับมาขายให้กับศูนย์ กศน.ต่างๆ โดยเฉพาะศูนย์ กศน.ที่เป็นเครือข่ายผลประโยชน์

“เรียกว่าต้องการผลประโยชน์เพิ่มเติม จากที่เดิมเพียงรับจ้างพิมพ์หนังสือเรียนให้กับศูนย์ กศน.ต่างๆ ก็มาเหิมเกริมละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือเรียนของ กศน.ผลิตขายเอง สร้างความเสียหายให้กับ กศน.นับเป็นรายเล่มรายวิชารวมจำนวนไม่น้อยกว่าหลักพันล้านบาท เพราะมีการละเมิดกันมานานหลายปีแล้ว” ผู้ผลิตหนังสือเรียนรายย่อยคนเดิมกล่าว

รายงานข่าวจาก ศธ.แจ้งว่า นับจากปีงบประมาณ 2551 เป็นต้นมา สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างหนังสือแบบเรียน รวม 2 วิธี คือการจ้างพิมพ์แบบเรียนลิขสิทธิ์ กศน. และจัดซื้อแบบเรียน ซึ่งมีการร้องเรียนกล่าวหาขอให้เลขาธิการ กศน.ตรวจสอบเบื้องต้นการจ้างพิมพ์แบบเรียนลิขสิทธิ์ กศน. ของศูนย์ กศน.ต่างๆ จำนวน 29 แห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง วงเงินรวมประมาณ 121 ล้านบาท มีลักษณะเข้าข่ายผูกขาดการจ้าง 3 บริษัทใหญ่ ซึ่งพบว่าแต่ละบริษัทมีการใช้ผู้สอบบัญชีคนเดียวกัน