ปณิธานความดีปีมหามงคล

สุขทั้งแผ่นดิน/เสกสรร   สิทธาคม

            เรามักจะพูดกับตัวเองและพูดแก่กันว่า เกิดมาเป็นคนไทยช่างโชคดีเหลือเกิน เพราะเกิดมาภายใต้พระบรมโพธิสมพารสถาบันพระมหากษัตริย์ เฉพาะอย่างยิ่งใต้ร่มพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ

            คนไทยส่วนใหญ่ตั้งปณิธานทำความดีเพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศล เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อพระองค์ท่านที่ทรงทุ่มเทพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างทุ่มเทมิได้ทรงคำนึงถึงความเหน็ดเหนื่อยพระวรกาย  ทรงตรากตรำอย่างมิได้คำนึงถึงเวลาทรงพระสำราญ  ทั้งนี้ด้วยเพราะทรงตั้งพระราชปณิธานว่าจะบำบัดทุกข์สร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ราษฎรอย่างถ้วนหน้า  หลุดพ้นจากความอดอยากยากจน  ให้มีชีวิตพออยู่พอกินมีความสุขอย่างยั่งยืนผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆมากมาย

สุขทั้งแผ่นดิน

แม้วันนี้จะทรงพระชราภาพและทรงพระประชวร  ก็ยังคงทรงงานเพื่อพระราชทานแนวทางสู่ความกินดีอยู่ดีดังคนปรกติ

            เป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่เปรียบมิได้  แม้แต่ชาวต่างชาติยังรู้ยังเห็นว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่รักห่วงใยราษฎรของพระองค์เป็นที่สุด  ทรงงานหนักที่จะหาพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในโลกเสมอเหมือน  จนมีคำปรากฏว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก

            ในวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์  จึงนับเป็นวันสำคัญทั้งเป็นวันที่เป็นสิริมงคลแก่ทุกผู้คน  ทั้งเป็นวันที่คนไทยต่างตั้งใจจะทำความดีเป็นกรณีพิเศษเพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศล  ทั้งๆที่ก็ตั้งหัวใจทำดีถวายตลอดปีอยู่แล้ว

            ในส่วนภาคองค์กรรัฐก็มักมีนโยบายให้รวมหัวใจกันทำกิจกรรมดีงามเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล  เช่นทำประโยชน์แก่ประชาชนโดยน้อมนำแนวพระราชดำริที่พระราชทานแนวทางหลักการดำเนินชีวิตไปสู่ความสุขอย่างยั่งยืนได้แก่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปเผยแพร่เน้นย้ำสู่ประชาชนอีกต่อหนึ่งอันเป็นการทำงานถวายต่างพระเนตรพระกรรณ

            อย่างเช่นสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา(สอศ.)กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ในฐานะที่เป็นสถานศึกษาที่หล่อหลอมทั้งวิชาความรู้และฝีมือในการทำงานให้แก่เยาวชน  เป็นการสอนแบบทำงานทำอาชีพจริงๆ  คลุกคลีกับวิถีการใช้ชีวิตอยู่ในระบบงานจริงๆ 

อาชีวะเฉลิมพระเกียรติโครงการปณิธานความดีปีมหามงคล

เริ่มตั้งแต่วิถีการอยู่ร่วมกับคนอื่นในระบบเจ้านาย  ลูกน้อง  ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบขององค์กรจริงๆ  และต้องเคร่งครัดอยู่กับความขยัน  อดทน ซื่อสัตย์  ไม่โลภ  มีเมตตากรุณา  ที่สอศ.น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริมาเป็นเครื่องมือหล่อหลอมขับเคลื่อน  ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณจึงดำเนินโครงการเฉลิมพระเกียรติอันเป็นการเดินตามนโยบายรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  ที่เห็นว่าสอศ.เป็นหน่วยงานภาครัฐที่ต้องดำเนินกิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง

            ปณิธานความดีปีมหามงคลเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 88 พรรษา 5 ธันวาคม 2558  รวมถึงในปีพุทธศักราช 2559 จะเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ครบ 70 ปี และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถจะทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา และในปีพุทธศักราช 2560 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษา อันเป็นมหามงคลที่ต่อเนื่องกัน นับเป็นมหามงคลสมัยพิเศษยิ่ง

เพื่อเปิดโอกาสให้พสกนิกรชาวไทยทุกคนและทุกหมู่เหล่าได้แสดงความจงรักภักดี ความกตัญญูกตเวทีด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ได้ร่วมกันถวาย “ของขวัญ” แด่ล้นเกล้าล้นกระหม่อมทั้งสองพระองค์ ด้วยการรวมหัวใจตั้งปณิธานที่จะทำความดีอย่างน้อย 1 อย่าง ที่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและสังคมโดยรวมให้ดีขึ้น จึงได้จัดทำ “โครงการปณิธานความดีปีมหามงคล” ขึ้น

            โครงการปณิธานความดี นี้มีแนวคิดเพื่อปลุกจิตสำนึกกระตุ้นให้คนไทยทำความดีอย่างเป็นรูปธรรม มีทิศทางชัดเจน และวัดผลที่เกิดขึ้นได้จริง สามารถก่อให้เกิดกระแสในการทำความดีบนเครือข่ายทางสังคม (Social Network) ได้กว้างขวางและรวดเร็ว โดยเริ่มจากตนเองแล้วขยายสู่องค์กร ชุมชน โดยมีเครื่องหมายสัญลักษณ์ของโครงการเป็นสื่อสำหรับการแสดงออกร่วมกัน มีกลุ่มเป้าหมาย คือ ประชาชนทุกหมู่เหล่า และองค์กรทุกภาคส่วน ทั้งในระดับบุคคล องค์กร หมู่บ้าน ประชาชนได้ร่วมกันตั้งปณิธานความดี และทำตามปณิธานความดีที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว องค์กร ชุมชน และสังคมได้อย่างต่อเนื่องในปีมหามงคล 2558-2560

            เรื่องนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบให้สอศ.ศธ.หนึ่งในหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับการศึกษาด้านวิชาชีพ นำนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษาร่วมทำปณิธานความดี นับหนึ่งแห่งการดำเนินตามปณิธานทำดีตั้งแต่ มีนาคม 2558 ที่ผ่านมาโดยนำวิชาชีพตามสาขาที่เรียนมาออกมาจัดเป็นกิจกรรมเพื่อร่วมสร้างความดี ช่วยเหลือประชาชน สร้างประโยชน์ต่อชุมชน และสังคม

            ในช่วงเดือนดังกล่าวสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว โดยจัดศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix it Center) ในเขตกรุงเทพมหานครจำนวน 50  ศูนย์ ในเขตต่าง ๆ เช่น มีนบุรี บึงกุ่ม ดอนเมือง คลองสาน พระนคร บางนาสาทร คลองสามวา บางรัก ดุสิต ฯลฯ ซึ่งแต่ละศูนย์โดยครูอาจารย์  นักเรียน นักศึกษาอาชีวะออกมาให้บริการ 3 อย่าง ได้แก่ 1) เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องรถจักรยานยนต์ 2) ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน 3) แนะแนวการศึกษาสายวิชาชีพเพื่อการมีงานทำที่ยั่งยืน ออกให้บริการตั้งแต่เวลา 8.30 -16.30 น. ผู้ใช้บริการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

            จากการให้บริการ ปรากฏว่ามีประชาชนไปใช้บริการอย่างต่อเนื่อง จำนวนมาก โดยนำรถจักรยานยนต์ไปเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ตรวจซ่อมสภาพรถเบื้องต้น นำเครื่องใช้ไฟฟ้าไปซ่อม มีทั้งเตารีดธรรมดา เตารีดไอน้ำ หม้อหุงข้าว กระติกน้ำร้อน พัดลม ทีวี วิทยุ แม้กระทั่งวิทยุทรานซิสเตอร์ หลาย ๆ คน นั่งรอรับของกลับบ้าน บางคนก็ทิ้งไว้ 2 วัน มารับของกลับ

            ข่าวการศึกษา นับเป็นกิจกรรมที่สร้างความสุข สร้างรอยยิ้มให้กับผู้ให้บริการ ผู้รับบริการไปพร้อม ๆ กัน ที่สำคัญนักเรียน นักศึกษาเกิดจิตสาธารณะจากการทำงาน สร้างความสุข ความสมหวังให้ผู้อื่น สังคมของวัยรุ่นและผู้ใหญ่ถูกดึงกลับมาให้ใกล้ชิดกัน เกิดความเข้าอกเข้าใจกัน   อันกล่าวได้ว่าเป็นการเน้นย้ำการปลูกฝังหล่อหลอมให้เยาวชนครูอาจารย์ในวิถีแห่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯอย่างน่าชื่นใจ  รวมถึงผู้ใหญ่หลายคนขอตามไปเรียนวิชาชีพระยะสั้นที่อาชีวะเปิดสอนเพราะอยากซ่อมมุ้งลวดเอง ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าเอง แม้กระทั่งล้างแอร์

            กิจกรรมนี้ทำให้คนทั่วไปเข้าใจอาชีวศึกษา และเข้าถึงการให้บริการของการจัดการศึกษาวิชาชีพมากขึ้น ความดีที่ทำในโครงการนี้ เป็นความภาคภูมิใจของน้อง ๆ อาชีวะ และผู้ใหญ่ของอาชีวะทั้งหลาย นอกจากการจัดตั้งศูนย์บริการแล้ว อาชีวศึกษายังส่งน้อง ๆ ออกไปให้บริการในช่วงเทศกาลต่างๆทุกเทศกาลเช่นปีใหม่และสงกรานต์ด้วย ด้วยการออกศูนย์บริการตามถนนสายหลักและสายรองทั่วประเทรวมถึงการไปออกหน่วยตามชุมชนเพื่อเกื้อกูลชาวบ้านที่มีฐานะค่อนข้างยากจนอีกเป็นระยะ

             ดร.ชัยพฤกษ์  เสรีรักษ์เลขาธิการกอศ.บอกว่านายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชามีนโยบายให้ดำเนินกิจกรรมโครงการปณิธานความดีปีมหามงคลนี้อย่างต่อเนื่อง  โดยอาชีวะได้ให้นโยบายไปยังสถานศึกษาในสังกัดทั่วประเทศ  400  กว่าแห่งว่า  นอกจากออกหน่วยตั้งศูนย์ซ่อมสร้างแล้ว  ให้ประกาศรับบริจาคเครื่องใช้ใช้ไฟฟ้าที่เสียและเจ้าของไม่ต้องการใช้แล้ว  โดยเฉพาะครอบครัวที่มีอันจะกิน  โดยแต่ละวิทยาลัยนำสิ่งของที่แล้วเหล่านั้นมาซ่อมให้ดีเป็นปรกติ  เพื่อบริจาคให้ครอบครัวยากไร้ต่อไป

อาชีวะเฉลิมพระเกียรติโครงการปณิธานความดีปีมหามงคล

            “กิจกรรมนี้เป็นการทำความดีร่วมกันของทั้งผู้บริจาค  ทั้งชาวอาชีวะและผู้เกี่ยวข้องอื่นๆความดีนี้ทุกคนต่างตั้งใจถวายเป็นพระราชกุศล  และทุกคนที่ร่วมทำดีกันก็ได้บุญกุศลที่ผลจะปรากฏทันทีคือความสุขใจ  ภูมิใจ ที่ได้ทำความดีและหัวใจดีงามนี้จะติดตัวเพื่อทำดีตลอดไปเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและครอบครัว  รวมถึงสังคมไทยก็ย่อมได้รับผลพวงนี้คือได้คนดี คนมีฝีมือให้แก่สังคมแก่สถานประกอบการตลอดไป” เลขาธิการกอศ.กล่าวด้วยรอยยิ้มทิ้งท้าย

................................................