“รัฐบาล-ศธ.-สนช.-สปช.”ผนึกวางกรอบปฏิรูปการศึกษา 5 ประเด็นหลัก ชูโมเดลระดับจังหวัด


ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ในฐานะโฆษก ศธ. เปิดเผยว่า ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร และ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. พร้อมด้วยนายตวง อันทะไชย ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาและกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และนายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธาน กมธ.ปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ร่วมประชุมหารือเรื่องปฏิรูปการศึกษา ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเร็วๆ นี้ โดยที่ประชุมได้กำหนดแนวทางการปฏิรูปการศึกษาใน 5 ประเด็นหลัก 1.เปิดทางให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคลอย่างแท้จริง มีอิสระในการบริหารจัดการศึกษา ซึ่งขณะนี้มีสถานศึกษากว่า 1,000 แห่งในทุกประเภทที่พร้อมยกสถานะเป็นนิติบุคคลเต็มรูปแบบ 2.การจัดสรรงบประมาณอุดหนุนรายหัว ต้องสอดคล้องกับเด็กแต่ละกลุ่มควรอยู่ในอัตราเท่าไร จึงจะเหมาะสม

3.กระจายอำนาจและบทบาทการศึกษาลงสู่ท้องถิ่น พร้อมดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษามากขึ้น ภายใต้โจทย์การจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ 4.การบริหารจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ เช่น เชียงใหม่โมเดล ที่เป็นเครือข่ายเชิงพื้นที่ที่เข้มแข็ง มีการจัดตั้งสภาการศึกษาจังหวัด โดยกำหนดเป้าหมายการพัฒนาบนพื้นฐานวัฒนธรรมเชียงใหม่ แต่เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับชลบุรีโมเดล ที่เป็นการร่วมมือของภาคอุตสาหกรรมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาในพื้นที่

ทั้งนี้ ในที่ประชุมเห็นตรงกันว่าต้องมีกลไกระดับชาติ คือซุปเปอร์บอร์ดเข้ามากำกับดูแลการปฏิรูปการศึกษาในระยะยาวให้เดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก 1.ระดับบริหาร เพื่อผลักดันนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้จริง ซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ ศธ. 2.หน่วยงานด้านความรู้ และ 3เครือข่ายภาคประชาชน โดยแผนดำเนินงานแต่ละเรื่อง ทาง สนช.รับไปจัดทำรายละเอียดและนำมาเสนอที่ประชุมในครั้งหน้า