กาชาดคอนเสิร์ต แนวเพลงคลาสสิค ตามพระราชประสงค์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

สุขทั้งแผ่นดิน/เสกสรร สิทธาคม

กาชาดคอนเสิร์ต แนวเพลงคลาสสิค ตามพระราชประสงค์  สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถปัจจุบันนับได้ว่าวงดุริยางค์ราชนาวี เป็นวงซิมโฟนีออเคสตร้า แนวคลาสสิคชั้นนำวงหนึ่งของประเทศไทยที่ได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จอย่างสูง ถือกำเนิดขึ้นมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพัฒนาการทหาร ให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ จึงทรงสนับสนุนให้มีวงดนตรีเพื่อการเดินสวนสนามของทหาร และพิธีการสำคัญบนเรือรบ ตามแบบตะวันตก ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาวงดุริยางค์ราชนาวี ได้พัฒนาปรับปรุง ให้เจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง

โดยในปี พ.ศ.2500 ได้จัดตั้งโรงเรียนดุริยางค์ทหารเรือเพื่อรับบุคคลพลเรือนเข้ามารับการฝึกหัดเป็นนักดนตรีทหารเรือต่อมาสามารถจัดวงดุริยางค์ซิมโฟนี่ แสดงในรูปแบบคอนเสิร์ตเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ2502 และจัดตั้งวงดนตรีไทยเดิม วงหัสดนตรี นักร้องประสานเสียง เพื่อปฏิบัติภารกิจทั้งในงานพระราชพิธี รัฐพิธี และงานบรรเลงต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ

วันนี้ สถาบันการศึกษาหลายแห่งในประเทศไทย เริ่มหันมาเปิดสอนหลักสูตร และคณะในสาขาการดนตรี อย่างแพร่หลาย ทำให้ดนตรีแนวคลาสสิคได้เริ่มเป็นที่นิยมขึ้นกว่าในอดีต ด้วยเพราะเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่มีความเป็นนามธรรมสูงเป็นดนตรีเพื่อการถ่ายทอดจินตนาการของเสียง ซึ่งผู้ฟังสามารถใช้จินตนาการส่วนตัวในการสร้างภาพหรือแปลความหมายได้อย่างอิสระ โดยการฟังดนตรีคลาสสิกให้ไพเราะนั้นขึ้นกับความรู้สึกในใจ รสนิยม ความรู้สึกนึกคิด รวมถึงประสบการณ์ของผู้ฟังที่นำมาประกอบกัน

 การแสดงดนตรีคลาสสิคจะใช้เครื่องดนตรี 4 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ

เครื่องสาย (String) แบ่งออกเป็น ไวโอลิน วิโอล่า เชลโล และ ดับเบิลเบส

กลุ่มที่สอง คือ เครื่องไม้ (Woodwind) เช่น ฟลู้ต คลาริเน็ต โอโบ บาสซูน ปิคโคโล

กลุ่มที่สาม คือ แตร (Brass) เช่น ทรัมเป็ต ทรอมโบน ทูบา เฟร็นช์ฮอร์น

กลุ่มที่สี่ คือ เครื่องเคาะ (Percussion) เช่น กลองทิมปะนี ฉาบ กลองใหญ่ (Bass Drum) กิ๋ง (Triangle) เมื่อเล่นรวมกันเป็นวงเรียกว่าวงดุริยางค์หรือ ออร์เคสตรา (Orchestra) ซึ่งมีผู้อำนวยเพลง (conductor) เป็นผู้ควบคุมวง

วงดุริยางค์ราขนาวี ได้เปิดคอนเสิร์ตขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในชื่อ “ออร์เคสตรัลคอนเสิร์ต” เมื่อ 28 พฤศจิกายน 2502 ณ หอประชุมศูนย์วัฒนธรรม

ต่อมาในปี พ.ศ.2503 ได้เปิดคอนเสิร์ตขึ้น 3 ครั้ง โดย 2 ครั้งแรกคือ ราชนาวีคอนเสิร์ต

ส่วนครั้งที่ 3 คือ อานันทมหิดลคอนเสิร์ต ซึ่งจัดให้มีขึ้น ณ หอประชุมศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ตามพระราชประสงค์ของ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อหารายได้สมทบทุนมูลนิธิอานันทมหิดล และในเวลาต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชประสงค์ให้กองทัพเรือจัดแสดงดนตรี เพื่อหารายได้บำรุงสภากาชาดไทย เพื่อที่จะให้การช่วยเหลือรักษาพยาบาลเพื่อนมนุษย์ผู้เจ็บป่วยทั้งมวลให้ได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขตลอดไป นอกจากนี้ยังเป็นการเผยแพร่ดนตรีแนวเพลงคลาสสิคให้เป็นที่แพร่หลายแก่คนทั่วไปอีกด้วย

ทั้งนี้กองทัพเรือได้ดำเนินการตามพระราชประสงค์ โดยจัดวงดุริยางค์ราชนาวี บรรเลงคอนเสิร์ต ตั้งแต่ปี พ.ศ.2504 เป็นต้นมา โดยใช้ชื่อว่า “ กาชาดคอนเสิร์ต ” และได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตราบจนปัจจุบัน ซึ่งรายได้จากการบริจาคทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่าย จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลบำรุงสภากาชาดไทย โดยการแสดงกาชาดคอนเสิร์ต ครั้งล่าสุด คือครั้งที่ 41 ซึ่งจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 28 - 29 กรกฎาคม 2557 มียอดเงินบริจาค โดยเสด็จพระราชกุศล บำรุงสภากาชาดไทย ประมาณ 22,600,000 บาทเศษ

กาชาดคอนเสิร์ต แนวเพลงคลาสสิค ตามพระราชประสงค์  สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถการแสดงกาชาดคอนเสิร์ต ครั้งที่ 42 ในครั้งนี้ มี พลเรือเอก ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานจัดงาน และ พลเรือโท ประพฤติพร อักษรมัติ รองเสนาธิการทหารเรือฝ่ายกิจการพลเรือน เป็น ประธานคณะกรรมการเตรียมการจัดงาน กำหนดจัดการแสดง จำนวน 2 รอบ ในเวลา 20.00 น. ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

โดยในวันพุธที่ 8 กรกฎาคม 2558 จะเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปตลอดจนสื่อมวลชนได้เข้ารับชมการแสดง ส่วนในวันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม 2558 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์  อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์มาทอดพระเนตรการแสดง

การแสดงกาชาดคอนเสิร์ต ในครั้งที่ 42 นี้ กองทัพเรือ โดย กองดุริยางค์ทหารเรือ ได้จัดวงซิมโฟนีออเคสต้า ดุริยางค์ราชนาวี ร่วมบรรเลงเพลงอันไพเราะด้วยเครื่องดนตรี กว่า 80 ชิ้น โดยช่วงแรกเป็นการ บรรเลงบทเพลงคลาสสิกที่หาฟังยาก ประกอบด้วย เพลง Festive Overture ของ Shostakovich เพลง Meditation from Thais (เดี่ยวไวโอลิน โดย จ่าเอกหญิง ปรารถนา จงเจริญ ) และ เพลง Symphony No.9 in E minor,Op ของ Dvorak

ส่วนในช่วงที่สองเป็นการขับร้องบทเพลง อันไพเราะหลากหลายบทเพลง โดยในปีนี้ มีแนวความคิดในการจัดเพื่อนำความสงบสุขกลับมาสู่ประเทศชาติ ให้คนในชาติมีความรักใคร่ปรองดอง และมีความสุขกลับคืนมา ซึ่งการแสดงในช่วงที่สอง แบ่งออกเป็น 2 องก์ ดังนี้

องก์ที่ 1 ฝันเพื่อชาติจากราชนาวี เป็นการนำบทเพลงพระราชนิพนธ์ มาร้อยเรียง แสดงถึงความฝันของปวงชนชาวไทยที่อยากเห็นบ้านเมืองกลับมาสู่ความสงบสุขด้วยความรัก ความสามัคคีของประชาชนภายในชาติ

ประกอบด้วย เพลงความฝันอันสูงสุด พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขับร้องโดย กิตตินันท์ ชินสำราญ เพลงฝันบรรยาย (เนื่องจากความฝันอันสูงสุด) พระราชนิพนธ์ ใน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เป็นการนำเนื้อหาจากเพลงพระราชนิพนธ์ ความฝันอันสูงสุดมาประพันธ์ บรรยายถึงความยากลำบากในการทำความฝันให้เป็นจริง ขับร้องโดย ชัชชัย สุขขาวดี (หรั่ง ร๊อคเคสตร้า) และ กิตตินันท์ ชินสำราญ และ เพลงรัก พระราชนิพนธ์ใน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ขับร้องโดย จ่าเอกหญิง สราญรัตน์ ชูอำนาจ

องก์ที่ 2 ปวงประชา เปรมปรีดิ์ นาวีสุขสันต์ เป็นการนำเพลงที่มีความสนุกสนานมาร้อยเรียง เพื่อแสดงถึงความสุขของประชาชนภายในชาติ ที่ปรากฏภายหลังการก้าวผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และทำความฝันที่ตั้งใจไว้ได้สำเร็จ

กาชาดคอนเสิร์ต แนวเพลงคลาสสิค ตามพระราชประสงค์  สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

ประกอบด้วย เพลง Way Back Into Love ขับร้องโดย ภพธร สุนทรญาณกิจ (ตู่ ภพธร) และ จ่าเอกหญิง โสธิดา ชัยฤทธิไชย เพลงเหมือนเคย ขับร้องโดย ภพธร สุนทรญาณกิจ (ตู่ ภพธร) เพลง Let It Go ขับร้องโดย จ่าเอกหญิง โสธิดา ชัยฤทธิไชย เพลง The Power of Love ขับร้องโดย จ่าเอกหญิง สราญรัตน์ ชูอำนาจ เพลงรักเธอจริง ๆ และ เพลงรักเธอประเทศไทย ขับร้องโดย ชัชชัย สุขขาวดี (หรั่ง ร๊อคเคสตร้า) เพลง Looking Through your Eyes ขับร้องโดย ธีรนัยน์ ณ หนองคาย พลง A Whole New World (เพลงประกอบภาพยนตร์ Aladin ) ขับร้องโดย กิตตินันท์ ชินสำราญ และ ธีรนัยน์ ณ หนองคาย เพลงชัยชนะ ขับร้องโดย กิตตินันท์ ชินสำราญ ปิดท้ายด้วย เพลงเมดเลย์ทหารเรือ จำนวน 3 เพลง ร่วมขับร้องโดย นักร้องรับเชิญทุกคน

การจัดการแสดงกาชาดคอนเสิร์ตฯ จะไม่มีการจำหน่ายบัตรเข้าชมแต่อย่างใด โดยจะเปิดรับบริจาคเงินตามกำลังศรัทธา เพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ โดยเสด็จพระราชกุศล บำรุงสภากาชาดไทย

สามารถบริจาคเงินสดโดยตรงได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการจัดการแสดงกาชาดคอนเสิร์ต ครั้งที่ 42 (กรมกิจการพลเรือนทหารเรือ ถนนมหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ) โทร. 0 2475 3081 หรือโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขากองบัญชาการกองทัพเรือ บัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี “ กาชาดคอนเสิร์ตกองทัพเรือ ครั้งที่ 42 ” เลขบัญชี 115 – 2 – 20452 – 3 และส่งสำเนาการโอนเงินพร้อมชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกลับให้ชัดเจน ส่งมาที่ กรมการเงินทหารเรือ โทรสาร 0 2475 5557

ทั้งนี้ ผู้ที่ร่วมบริจาคตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป จะได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานของที่ระลึก ในวันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม 2558 เวลา 19.30 น. ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย