“ปปง.”สั่งอายัดทรัพย์แล้วเบื้องต้น 183 ล้าน ชี้มูลตรวจพบชัดเจนร่วมมือกันฉ้อโกงเงินกองทุน ช.พ.ค. 2,500 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2558 ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง. แถลงอายัดทรัพย์สินอดีตผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) กับพวก รวมจำนวน 146 รายการ มูลค่าราว 183 ล้านบาท โดยสืบเนื่องจาก ปปง.ได้รับหนังสือร้องเรียนกล่าวให้ตรวจสอบพฤติการณ์ของอดีตเลขาธิการ สกสค. กับพวก ในการใช้ตำแหน่งอำนาจหน้าที่อนุมัติเงินกองทุนสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครู (ช.พ.ค.) ให้กับบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด กู้ยืมไปลงทุนในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ จ.เพชรบุรี โดยไม่มีหลักประกัน และน่าเชื่อได้ว่าอดีตเลขาธิการ สกสค. กับพวกมีเจตนายักยอกเงินกองทุน ช.พ.ค.ดังกล่าว

ประกอบกับ ปปง.ได้รับการประสานงานจากคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ให้ตรวจสอบการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่าง สกสค.กับบริษัท บิลเลี่ยนฯ ซึ่งตรวจสอบแล้วพบว่า อดีตเลขาธิการ สกสค.ร่วมกับคณะกรรมการบริหารกองทุน ช.พ.ค.นำเงินกองทุน ช.พ.ค.ไปให้บริษัท บิลเลี่ยนฯกู้ยืมผ่านการซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินรวม 3 ครั้ง โดยได้รับค่าตอบแทนร้อยละ 7 และมีพฤติการณ์ที่อาจเกี่ยวข้องกับการฉ้อโกง ปลอมแปลงเอกสารการฟอกเงิน และอาจเข้าข่ายการทุจริต โดยในครั้งที่ 1 จำนวน 500 ล้านบาท และ สกสค.ได้รับเงินคืนแล้วเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2557, ครั้งที่ 2 จำนวน 2,100 ล้านบาท และครั้งที่ 3 จำนวน 400 ล้านบาท รวมให้กู้ยืมเงินกองทุน ช.พ.ค.ทั้ง 3 ครั้ง จำนวน 3,000 ล้านบาท

“บริษัท บิลเลี่ยนฯได้นำหลักทรัพย์มาวางค้ำประกันกับ สกสค. ประกอบด้วย 1.โฉนดที่ดิน 33 แปลง และน.ส.3 อีก 16 แปลง รวม 49 แปลง แต่ตรวจสอบแล้วไม่พบมีการจดทะเบียนจำนองไว้เป็นประกันตามกฎหมาย 2.เช็คเงินสดธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 2,100 ล้านบาท ตรวจสอบแล้วไม่พบมีเงินในบัญชีแต่อย่างใด 3.ดร๊าฟธนาคาร HSBC จำนวน 100 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ ตรวจสอบแล้วพบเป็นของปลอม 4.ใบหุ้นสโมสรฟุตบอลเรดดิ้ง ประเทศอังกฤษ จำนวน 50 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 1 ปอนด์ แต่ตรวจสอบพบมีการโอนเงินไปยังสโมสรดังกล่าวประมาณ 10 ล้านบาทเท่านั้น จึงได้ประสานขอให้ ปปง.ประเทศอังกฤษตรวจสอบเส้นทางการเงินดังกล่าวแล้ว 5.หนังสือค้ำประกันตนเต็มมูลค่าเงินลงทุนของนายสัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา กรรมการบริษัท บิลเลี่ยนฯ ซึ่ง สกสค. จะต้องไปฟ้องร้องทางแพ่ง จึงจะสามารถบังคับคดีนำเงินมาชำระได้ตามกฎหมาย และ 6.เงินสกุลโครเอเชีย จำนวน 950 ล้านเหรียญโครเอเชีย ตรวจสอบว่าถูกยกเลิกการใช้ไปแล้ว” เลขาธิการ ปปง.กล่าว

พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวต่อว่า ในส่วนของการกู้ยืมเงินกองทุน ช.พ.ค.ที่ยังไม่ชำระคืน สกสค.ใน 2 ครั้งหลังรวมจำนวน 2,500 ล้านบาทนั้น ได้ครบกำหนดบริษัท บิลเลี่ยนฯต้องชำระคืนตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา แต่จนถึงปัจจุบัน สกสค.ก็ยังไม่ได้รับเงินชำระคืนแต่อย่างใด ดังนั้น ลักษณะดังกล่าวจึงเข้าข่ายเป็นการร่วมกันฉ้อโกง สนับสนุนการทุจริตของเจ้าหน้าที่ โดยมีผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์ ประกอบด้วย 1.นายสัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา กรรมการบริษัท บิลเลี่ยนฯ 2.นายยศวัจน์ ถิรพรสวัสดิ์ กรรมการในเครือบริษัท บิลเลี่ยนฯ 3.นายสิทธินันท์ หลอมทอง กรรมการผู้มีอำนาจบริษัท บิลเลี่ยนฯ 4.นายมงคล เอี่ยงศุภพานนท์ กรรมการผู้มีอำนาจบริษัท บิลเลี่ยนฯ และ 5.อดีตผู้บริหารของ สกสค. และกรรมการกองทุน ช.พ.ค.บางราย ทั้งนี้ จากการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐาน เบื้องต้นเชื่อได้ว่า อดีตผู้บริหาร สกสค.กับพวก และบริษัท บิลเลี่ยนฯ มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ ตามกฎหมายอื่น อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (5) แห่ง พ.ร.บ.ฟอกเงิน พ.ศ.2542

ดังนั้น คณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 8/2558 จึงมีมติดำเนินการกับทรัพย์สินทั้งหมด 146 รายการ แบ่งเป็น 1.อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว ได้แก่ โฉนดที่ดิน 33 แปลง น.ส.3 16 แปลง รวม 49 แปลง ราคาประเมินราว 37 ล้านบาท 2.บัญชีเงินฝากของผู้ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์ที่ได้รับโอนเงิน ประกอบด้วย บริษัท บิลเลี่ยนฯ และบริษัทในเครือ, นายสัมฤทธิ์ กับพวก และอดีตผู้บริหาร สกสค. และกรรมการกองทุน ช.พ.ค.บางคน อันประกอบด้วย นายเกษม กลั่นยิ่ง, นายสุรเดช พรหมโชติ, นายสมศักดิ์ ตาไชย รวม 63 รายการ รวมเป็นเงินประมาณ 32 ล้านบาท และ 3.หุ้นบริษัท สัญญาประกันภัย จำกัด (มหาชน) ของนายสัมฤทธิ์ 1 รายการ จำนวน 712,758 หุ้น มูลค่าประมาณ 71 ล้านบาท

นอกจากนี้ ได้ยับยั้งการทำธุรกรรมไว้ชั่วคราว ได้แก่ บัญชีของสโมสรฟุตบอลโล่เงิน จำกัด (มหาชน) ฟุตบอลสโมสรตำรวจ และบริษัท สัญญาประกันภัย จำกัด (มหาชน) ทั้งหมด 33 บัญชี รวมเป็นเงินประมาณ 43 ล้านบาท เป็นเวลาประมาณ 10 วัน เนื่องจากเบื้องต้นพบมีการโอนเงินเข้าบัญชีรวมประมาณ 105 ล้านบาท แต่มีเงินคงเหลือในบัญชี 1 ล้านบาท ดังนั้น จึงต้องตรวจสอบว่าเงินจำนวนดังกล่าวถูกนำไปใช้อะไรบ้าง ทั้งนี้ ขอฝากไปยังประชาชนลูกค้าของบริษัท สัญญาประกันภัยว่า ไม่ต้องกังวล ยังสามารถทำธุรกรรมทางการเงินกับบริษัทได้ตามปกติ เพราะเป็นเงินคนละส่วนกับคดี

“ขณะนี้ ปปง.พบทรัพย์สินที่อายัดรวมเพียง 183 ล้านบาท แต่เชื่อว่ายังมีทรัพย์สินที่ถูกซุกซ่อนกับบุคคลที่เกี่ยวข้องอยู่อีก จำนวนเงินสดที่ตรวจยึดอายัดไว้ 32 ล้านบาท ถือว่าจำนวนน้อย เพราะพบมีการยักย้ายถ่ายโอนออกไปจากบัญชีอย่างรวดเร็ว หลังจากมีการโอนเงินเข้าบัญชีดังกล่าว” เลขาธิการ ปปง.กล่าว และว่า จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินแล้ว ไม่พบว่ามีการนำเงินกองทุน ช.พ.ค.ไปลงทุนในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ จ.เพชรบุรีเลย ซึ่งชัดเจนว่าเป็นการตั้งใจฉ้อโกงตั้งแต่เริ่มต้น พฤติการณ์ดังกล่าวไม่ใช่การทำนิติกรรมอำพราง แต่เป็นพฤติการณ์ที่ตั้งใจโกงตรงๆ