UNFPA ถก ศธ.ไทย ลดอัตรา“คุณแม่วัยโจ๋”พุ่ง!!

นายกำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้การต้อนรับนาย Caspar Peek ผู้แทน UNFPA ประจำประเทศไทย เนื่องในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ และหารือความร่วมมือระหว่าง UNFPA กับกระทรวงศึกษาธิการไทย ในประเด็นการลดอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เมื่อเร็วๆ นี้ เนื่องจากประเทศไทยมีสภาวการณ์จำนวนคุณแม่วัยใสที่เพิ่มขึ้น โดยคิดเป็นอัตราคุณแม่วัยใสต่อจำนวนประชากรวัยเดียวกัน 53 ต่อ 1,000 คน โดยทารกที่เกิด 1 ใน 6 จะเกิดจากคุณแม่วัยใส ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ มา เพราะคุณแม่วัยรุ่นยังไม่มีวัยวุฒิและความพร้อมในการดำเนินชีวิต อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องสุขภาพและโรคภัย ที่ทำให้การดูแลทั้งแม่และเด็กเกิดปัญหา ซึ่งก่อนหน้านี้คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ได้เห็นชอบตามร่างข้อเสนอเป้าหมายและแผนปฏิบัติการร่วม (One Goal One Plan to Better Prevention of Teenage Pregnancy) ของคณะทำงานด้านการพัฒนาเยาวชนของ UNFPA ประเทศไทย เพื่อลดอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นลง 50% ภายในระยะเวลา 10 ปี

จากร่างข้อเสนอเป้าหมายและแผนปฏิบัติการร่วมดังกล่าว คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติจึงมีแผนงานที่จะดำเนินการร่วมกับหลายหน่วยงานในการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์หลักคือ การให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาที่มีมาตรฐานแก่นักเรียนทุกคน ทางผู้แทน UNFPA จึงมีความประสงค์ที่จะขอหารือลงรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินงานและความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการไทยในการที่จะดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว  

อนึ่ง จากการศึกษาวิจัยของ พ.ญ.เบจพร ปัญญายง พบว่าในประเทศไทยมีวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี ประมาณ 10 ล้านคน โดยมีสัดส่วนชายและหญิงพอๆ กัน ในปี พ.ศ.2552 มีเด็กและวัยรุ่นตั้งครรภ์คลอดจำนวนมากถึง 122,736 คน นั่นคือเฉลี่ยประมาณ 336 คนต่อวัน ในจำนวนนี้เป็นการคลอดในวัยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มีจำนวนราว 3 พันคนต่อปี ซึ่งแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

“ทั้งนี้ วัยรุ่นที่คลอดมักจะเป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม จึงปกปิดปัญหา ทำให้มาฝากครรภ์ช้า ไม่บำรุงครรภ์ มีผลต่อทั้งมารดาและทารก และส่วนมากหาทางออกด้วยการทำแท้ง อีกทั้งวัยรุ่นต้องกลายมาเป็นแม่ตั้งแต่อายุยังน้อย วุฒิภาวะยังไม่พร้อมเลี้ยงดูบุตร ซึ่งอาจมีผลกระทบด้านจิตใจและสังคมตามมา รวมทั้งวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน และเข้าสู่ระบบแรงงานก่อนวัยอันควร”