เผย 7 สาระสำคัญที่ ก.พ.อ.เห็นชอบให้ปรับปรุงในหลักเกณฑ์การพิจารณากำหนดตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ครั้งที่ 4/2558 เมื่อเร็วๆ นี้ โดยที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบในหลักการให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การพิจารณากำหนดตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา โดยสาระสำคัญที่จะมีการแก้ไข อาทิ

1) คุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ระดับปริญญาตรี จากเดิมไม่น้อยกว่า 9 ปี เป็น 6 ปี ปริญญาโท จากเดิมไม่น้อยกว่า 5 ปี เป็น 4 ปี และปริญญาเอก จากเดิมไม่น้อยกว่า 2 ปี เป็นพ้นระยะทดลองงานที่กำหนดโดยสถาบันนั้นๆ  สำหรับตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ต้องดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ และปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวมาแล้ว จากเดิมไม่น้อยกว่า 3 ปี เป็น 2 ปี  และตำแหน่งศาสตราจารย์ ต้องดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ และปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวมาแล้ว จากเดิมไม่น้อยกว่า 2 ปี เป็น 1 ปี

2) ผลการสอน เสนอว่าควรให้มีการเสนอเอกสารหลักฐานหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อประกอบการประเมินผลการสอนแทนเอกสารประกอบการสอนและเอกสารคำสอน

3) ผลงานทางวิชาการ ควรมีการเพิ่มประเภทผลงานทางวิชาการให้ครอบคลุม โดยแบ่งออกเป็น 2 สายหลัก คือ สายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 12 ประเภท และสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จำนวน 22 ประเภท

4) วิธีในการเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ  ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์    ที่ประชุมได้หารือถึงการเสนอผลงานที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการทำวิจัยเป็นหลัก โดยคำนึงถึงปริมาณชิ้นงานและคุณภาพ  ตำแหน่งรองศาสตราจารย์         ที่จะมีการกำหนดปรับปรุงปริมาณของผลงานทางวิชาการที่ใช้ในการเสนอขอกำหนดตำแหน่ง โดยคำนึงถึงปริมาณชิ้นงานและคุณภาพเช่นกัน และตำแหน่งศาสตราจารย์ ที่จะมีการกำหนดปรับปรุงปริมาณของผลงานทางวิชาการที่ใช้ในการเสนอขอกำหนดตำแหน่งและปริมาณของผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ว่าจะต้องเป็นงานที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารทางวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติ ทั้งวิธีที่ 1 วิธีที่ 2 และวิธีพิเศษ รวมทั้งตำแหน่งศาสตราจารย์ได้รับเงินเดือนขั้นสูง จะมีการกำหนดเกณฑ์การประเมินความเป็นที่ยอมรับนับถือในวงวิชาการหรือวงวิชาชีพในทุกหัวข้อ ว่าจะต้องได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติเท่านั้น

5) การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อทำหน้าที่ประเมินผลงานทางวิชาการ และจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ โดยวิธีที่ 1 จากเดิมจำนวน 3-5 คน เป็นจำนวนอย่างน้อย 3 คน วิธีที่ 2 จากเดิมจำนวน 5 คน เป็นจำนวนอย่างน้อย 3 คน และวิธีพิเศษ จำนวน 5 คน จากเดิมผ่านคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 4 ใน 5 เสียง เป็นให้ผ่านโดยถือเสียงข้างมาก

6) ลักษณะการมีส่วนร่วมในผลงานทางวิชาการ ให้ยกเลิกการระบุสัดส่วนการมีส่วนร่วมเป็นร้อยละ และกำหนดให้งานที่ผู้ขอมีส่วนร่วมในผลงานทางวิชาการ ผู้ขอจะต้องอธิบายบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ และการมีส่วนร่วมในผลงานของเจ้าของผลงาน

7) แบบฟอร์มประเมินผลงานทางวิชาการของผู้ขอ ประกอบด้วยแบบประเมินผลงานทางวิชาการของผู้ขอ แบบสรุปผลการประเมินผลงานทางวิชาการ และแบบประเมินผลงานทางวิชาการ ซึ่งได้กำหนดแนวทางในการพิจารณา รวมทั้งค่าน้ำหนักของผลงานวิจัย

สำหรับข้อเสนอแนะเพิ่มเติมของคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) มีประเด็นสำคัญ เช่น การเสนอผลงานทางวิชาการที่ต้องการให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอผลงานทางวิชาการ โดยแบ่งออกเป็น 2 สายหลัก ได้แก่ สายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ประเด็นผลการสอน ผู้ขอควรเริ่มจากการเขียนเอกสารประกอบการสอน พัฒนาไปเป็นเอกสารคำสอน และพัฒนาไปเป็นตำราซึ่งถือว่าเป็นงานเขียนที่มีความสมบูรณ์ที่สุด เพื่อส่งเสริมให้อาจารย์พัฒนาศักยภาพตามระดับตำแหน่ง และประเด็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ต้องการให้กำหนดหลักเกณฑ์ คุณสมบัติสำหรับการคัดสรรกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อทำหน้าที่ประเมินผลงานทางวิชาการออกจากบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงการกำหนดมาตรฐานการรณรงค์ปลูกจิตสำนึกการเป็นผู้ประเมิน และการกำหนดอัตราค่าตอบแทนที่เหมาะสม เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับตำแหน่งทางวิชาการของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา นำความเห็นจากที่ประชุมไปพิจารณาปรับปรุงรายละเอียดตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อนำเสนอที่ประชุม ก.พ.อ.พิจารณาต่อไป