“ซุปเปอร์บอร์ดการศึกษา”ห่วงเร่งรัดผลิตครูคุรุทายาทรุ่นใหม่ปีแรก 3 พันคน แนะรีบเตรียมการ 3 เรื่อง

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และเครือข่ายคุรุทายาท 4 ภูมิภาค จัดเวทีแสดงความเห็นถึงโครงการคุรุทายาท ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นำมาปัดฝุ่นใหม่ เพื่อรวบรวมเป็นข้อเสนอต่อ สกศ. และคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือซุปเปอร์บอร์ดการศึกษา เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรมโนโวเทล เมืองทองธานี

ทั้งนี้ รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า การนำโครงการครุทายาทกลับมาใหม่ตามนโยบายของรัฐบาล เพราะเล็งเห็นว่าโครงการนี้สามารถชักจูงให้คนเก่งและคนดีเข้าสู่ระบบเพื่อกลับสู่ภูมิลำเนา โดยแบ่งเป็นการให้ทุนเพียงอย่างเดียว กับประเภทให้ทุนและประกันการมีงานทำในพื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่เสี่ยงในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งในกลุ่มนี้นักเรียนทุนต้องอยู่ในพื้นที่ใช้ทุนไม่ต่ำกว่า 5 ปี จากนั้นจึงขอย้ายออกได้ สิ่งสำคัญของการผลิตโครงการครูคุรุทายาทนั้น ไม่ต้องการแค่คนเก่งเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการคนดีด้วย หลักสูตรและการฝึกอบรมจึงต้องเน้นการสร้างจิตวิญญาณของความเป็นครู 

โครงการนี้จะเป็นการทำงานในรูปของคณะกรรมการ 2 ชุด คือ คณะกรรมการอำนวยการ และคณะกรรมการคัดเลือก โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่ดูแลเรื่องอัตรากำลังร่วมด้วย พร้อมกับวางแผนอัตราความต้องการและสาขาที่ขาดแคลน โดยจะเริ่มผลิตครูโครงการคุรุทายาทในปีแรกจำนวน 3,000 คน ปีที่ 2 จำนวน 4,000 คน และปีที่ 3 จำนวน 5,000 คน ทั้งนี้ ในการทำให้เกิดความต่อเนื่องนั้น คณะกรรมการอำนวยการต้องไม่มาจากการเมืองหรือไม่ใช่รัฐมนตรี และต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติจะได้มีงบประมาณต่อเนื่อง

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศาสตร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการ ศธ. และหนึ่งในซุปเปอร์บอร์ดการศึกษา กล่าวว่า ที่กังวลคือ มีระยะเวลาเตรียมดำเนินโครงการที่จำกัดเพียง 2 เดือน ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือ 1) การจัดทำแผนข้อมูลว่าตรงไหนขาด ตรงไหนต้องการ เพราะครูที่ไม่อยู่ในภูมิลำเนาไปอยู่ในที่ห่างไกลแล้วจะไปอยู่หรือไม่ ไม่เช่นนั้นจะเหมือนกับโครงการนักวิทยาศาสตร์ที่ผลิตคนเก่งจำนวนมากแต่จบมาแล้วก็ว่างงาน ไม่ถูกบรรจุ 2) ใครผลิต ไม่ใช่เรียนจบแล้วไม่อยากเป็นครู แต่หลักสูตรต้องท้าทาย เปลี่ยนแปลงตามภาวะสังคม และ 3) เจ้าภาพคือใคร ใครเป็นคนจัดการและรับผิดชอบ ไม่เช่นนั้นจะมีแต่แผน แต่ไม่เห็นวิธีการจัดการ

นายศุภโชค ปิยะสันติ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยไร่สามัคคี จ.เชียงราย ในฐานะแกนนำเครือข่ายคุรุทายาท 4 ภูมิภาค กล่าวถึงข้อเสนอของเครือข่ายคุรุทายาท 4 ภูมิภาค ตั้งแต่รุ่นที่ 1-12 ซึ่งมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 5,000 คน มี 4 ประเด็น ดังนี้ 1.) โครงการนี้ควรมุ่งที่ครูในพื้นที่ยากลำบากห่างไกล เพื่อแก้ปัญหาอัตราการไหลเข้าออกในแต่ฤดูกาลการจัดสอบบรรจุครู 2) จำนวนครูนั้นต้องมีการทำฐานข้อมูลปัจจุบัน เพื่อดูความขาดแคลน 3) ต้องทำงานร่วมกับสถาบันผู้ผลิตครู เพื่อสร้างหลักประกันว่า จบแล้วครูเหล่านี้ต้องมีคุณภาพและคุณสมบัติพร้อม ซึ่งจะเชื่อมโยงกับงบประมาณต่อหัวที่สูงขึ้น สิ่งสำคัญคือ การอนุมัติงบประมาณต่อหัวต้องทำให้เพียงพอ ไม่เช่นนั้นจะไม่เกิดคุณภาพ ซึ่งประมาณค่าใช้จ่ายเบื้องต้นต่อหัวตกประมาณ 150,000-200,000 บาท ฉะนั้น การผลิตในระดับพันคนต่อรุ่นจะใช้งบประมาณราวพันล้านบาทภายใน 5 ปี หากงบประมาณมีไม่เพียงพอก็ไม่ควรตั้งเป้าสูง เพราะจะไม่ต่างกับการผลิตครูทั่วไป

และ 4) โครงการฯนี้ต้องมีการบริหารจัดการที่คล่องตัว จึงเสนอให้มีสำนักงานเฉพาะที่ดูแลโครงการนี้อย่างต่อเนื่องในลักษณะวิจัยและพัฒนา (R&D) ขณะเดียวกันต้องมีการสร้างเครือข่ายคนทำงาน เช่น สสค.เข้ามาช่วยสนับสนุนงานในเชิงวิชาการเพื่อให้เกิดการพัฒนาเป็นระยะด้วย