กศน.ปรับหลักสูตรขั้นพื้นฐาน สอดรับสภาพเด็กบนดอย

นายประเสริฐ หอมดี ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคเหนือ (กศน.) เปิดเผยว่า ในพื้นที่ภาคเหนือมีเด็กวัยเรียนที่อยู่บนดอยจำนวนมากที่ไม่ได้เข้าเรียนในระบบโรงเรียน เพราะโรงเรียนอยู่ห่างไกล กศน.จึงจัดตั้งศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวงหรือ ศศช.ขึ้น และได้พัฒนาหลักสูตรการศึกษานอกระบบให้เด็กบนดอยได้เรียนตามสภาพ ซึ่งไม่ได้เรียนตามรายวิชา โดยใช้มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2519 ถึงปัจจุบันเมื่อมีการปรับปรุงหลักสูตร กศน.ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานพ.ศ.2551 โดยให้เรียนเป็นรายวิชา และแต่ละระดับใช้เวลาเรียน 2 ปีจบ จึงพบปัญหาคือเด็กบนดอยที่มาเรียนส่วนใหญ่จะมีอายุ 6-8 ปี จึงเรียนตามหลักสูตรใหม่ไม่ได้ เพราะเด็กที่จะเรียน กศน.ได้ต้องอายุ 15 ปีขึ้นไป

จากปัญหาดังกล่าวทำให้ต้องมีการปรับหลักสูตรพ.ศ.2551 ใหม่ เพื่อนำไปใช้กับ ศศช.ที่อยู่บนดอยได้ โดยยึดแนวทางเดียวกับหลักสูตรมละบริวิทยา ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับสั่งให้จัดทำขึ้นเพื่อให้เด็กเผ่ามละบริได้เรียนหนังสือ และอย่างน้อยถ้าเด็กออกไปเรียนต่อโรงเรียนในระบบ ก็จะมีหลักฐานไปเทียบได้ว่าเรียนอยู่ชั้นไหนแล้ว โดยขณะนี้การจัดทำหลักสูตร คู่มือการสอน การวัดผล และคู่มือลงทะเบียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว และกำลังจะประกาศใช้เป็นหลักสูตรสถานศึกษา โดยจะเริ่มใช้ในภาคเรียนที่ 1/2558 นี้ นอกจากนี้ ยังต้องเร่งหาแนวทางเพื่อเทียบเด็กที่เรียนกับ ศศช.ปัจจุบันให้เข้ากับหลักสูตรใหม่ได้ด้วย