จัดการศึกษาเด็กปฐมวัยให้ถูกต้อง...ต้องไม่สอนตามใจผู้ปกครอง

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับเครือข่ายคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ และครูปฐมวัย จัดงานแถลง “ปฐมวัย : ลงทุนอย่างไรให้คุ้มค่า” ที่อาคารไอบีเอ็ม กรุงเทพฯ

จัดการศึกษาเด็กปฐมวัยให้ถูกต้อง ผศ.ดร.ศศิลักษณ์ ขยันกิจ

โดย ผศ.ดร.ศศิลักษณ์ ขยันกิจ ประธานสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากผลการวิจัยและติดตามพัฒนาการของเด็กปฐมวัยของไทยพบว่า เด็กปฐมวัยกำลังถูกเร่งรัดให้มีพัฒนาการที่เกินวัยอย่างไม่สมดุล ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการพัฒนาทักษะด้านการเรียนรู้ของเด็กในอนาคต เช่น เร่งรัดพัฒนาการด้านวิชาการที่เกินวัยเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนต่อชั้นป.1 ในโรงเรียนประถมชื่อดัง จนเกิดปรากฎการณ์กวดวิชาตั้งแต่อนุบาล เร่งเรียนเขียนอ่านเกินพัฒนาการเด็ก ซึ่งเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของผู้ปกครองที่ต้องการให้เด็กอนุบาลอ่านออกบวกลบเลขได้ ประกอบกับผู้บริหารสถานศึกษาที่ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็ก ทำให้ระบบการเรียนการสอนเด็กในระดับอนุบาลและประถมศึกษาตอนต้นมุ่งเน้นการท่องจำความรู้ ซึ่งเป็นการสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้ของเด็กในช่วงปฐมวัยที่สมองจะเปิดรับการเรียนรู้ได้ดีที่สุด โดยเฉพาะทักษะด้านพฤติกรรม เช่น ทักษะการคิดสร้างสรรค์ ทักษะทางอารมณ์ การพูดและการเคลื่อนไหว ซึ่งจะส่งผลต่อคุณลักษณะความสำเร็จด้านการศึกษาและการทำงานในอนาคตของเด็ก

ผศ.ดร.ศศิลักษณ์ กล่าวต่อว่า จากการระดมความเห็นของเครือข่ายคณาจารย์ครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ ศึกษานิเทศก์ ครูอาจารย์ปฐมวัยและผู้เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาเพื่อเด็กปฐมวัย มี 3 ข้อเสนอในการสร้างความพร้อมสู่การจัดการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ ประกอบด้วย “เด็กพร้อม ครอบครัวพร้อม ระบบการศึกษาพร้อม” โดยการสร้างความพร้อมของเด็ก ประกอบด้วย การขยายโอกาสทางการศึกษาปฐมวัยให้แก่เด็กทุกคน การจัดการเรียนรู้แก่เด็กปฐมวัยให้สอดคล้องกับธรรมชาติตามวัย การจัดสรรงบประมาณให้ครอบคลุมเด็กทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กปฐมวัยด้อยโอกาส ในส่วนของครอบครัวพร้อม มีทั้งการให้ความรู้แก่พ่อแม่และปู่ย่าตายาย สนับสนุนสวัสดิการการดูแลบุตรตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยขยายระยะเวลาการลาคลอดให้ได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เป็นต้น และระบบการศึกษาพร้อม ได้แก่ รัฐกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนาคุณลักษณะของคนไทย โดยกำหนดนโยบายและหลักสูตรในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเหมาะสมกับช่วงวัย การปรับเปลี่ยนการวัดประเมินผลเด็กปฐมวัย (อนุบาล-ประถมต้น) ที่เหมาะสม ไม่ใช้การสอบ รวมถึงการแก้ปัญหาการสอบเข้าเรียนต่อชั้นป.1

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. กล่าวว่า ยังมีเด็กปฐมวัยอีก 12% ที่ขาดโอกาสในการเตรียมความพร้อม จากข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2555 พบว่า มีเด็กจำนวน 365,506 คน จากจำนวนเด็กช่วงอายุ 0-5 ปี 4,585,759 คน หรือ คิดเป็น 12% ของเด็กในช่วงอายุ 2-5 ปี ที่ไม่ได้รับโอกาสในการเข้าเรียนในศูนย์เด็กเล็กหรือโรงเรียนอนุบาลเพื่อเตรียมความพร้อมในช่วงปฐมวัย สถานการณ์ดังกล่าวจะสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมแก่ประเทศไทยในอนาคตเป็นอย่างมาก จากข้อมูลของเจมส์ แฮคแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี 2543 ระบุว่า การลงทุนในเด็กปฐมวัยผ่านการพัฒนาทักษะด้านพฤติกรรม จะสร้างผลตอบแทนคืนกลับทั้งต่อเด็กเยาวชนและต่อสังคมในอนาคตสูงมากถึง 7 เท่า เพราะหน้าต่างแห่งโอกาส ในการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ของมนุษย์ จะเกิดขึ้นอย่างเต็มที่ในช่วงปฐมวัยเท่านั้น

จัดการศึกษาเด็กปฐมวัยให้ถูกต้อง ดร.นฤมล เนียมหอมดร.นฤมล เนียมหอม ครูปฐมวัย โรงเรียนทุ่งมหาเมฆ สังกัด สพป.กทม. กล่าวว่า โรงเรียนต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมากในการจัดการเรียนการสอนตามหลักการจัดการศึกษาปฐมวัย ไม่จัดตามใจผู้ปกครองที่ต้องการให้สอนอ่านเขียนเรียนเลขในวัยอนุบาล การทำงานเช่นนี้ต้องอาศัยการทำความเข้าใจกับผู้ปกครองค่อนข้างมาก เพื่อให้เกิดความยอมรับในการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็ก ซึ่งเด็กวัยอนุบาล 3-5 ปีเป็นวัยที่เรียนรู้ผ่านการเล่นเป็นกิจกรรมที่สำคัญต่อชีวิตของเด็ก การที่ครูจัดกิจกรรมประจำวันให้เด็กได้เล่นอย่างมีจุดมุ่งหมายจะทำให้เด็กได้สังเกต ได้ทดลอง ได้คิดแก้ปัญหา ได้ค้นพบ ได้เล่นและทำงานร่วมกัน จึงเป็นการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับเด็กและทำให้เด็กมีความสุขกับการเรียนรู้ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งวัยนี้เป็นวัยที่เด็กมีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ การที่เด็กได้เสนอความคิด ได้ทำตามที่ตนเองจินตนาการหรือวาดมโนภาพไว้ เด็กจะมีพื้นฐานที่ดีในการเป็นผู้สร้าง เป็นนักคิดในอนาคต หากเด็กเรียนแบบเร่งรัดวิชาการย่อมทำลายพื้นฐานที่มีค่านี้ไป เพียงเพื่อตอบสนองต่อผู้ที่ไม่เข้าใจพัฒนาการเด็ก ให้เกิดความพอใจว่าเด็กอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็นตั้งแต่เล็ก

“เด็กที่โรงเรียนมาจากต้นทุนที่ไม่สูง เพราะเป็นโรงเรียนของรัฐ แต่เมื่อได้รับการส่งเสริมพัฒนาการอย่างเหมาะสมตามวัยและความต่างของเด็กแต่ละคน เด็กทุกคนก็สามารถอ่านออกเขียนได้เมื่อเข้าสู่ชั้นประถม 1 แถมยังมีข้อได้เปรียบที่เด็กเหล่านี้จะเป็นคนรักเรียน ไม่ต้องถูกบังคับให้เรียน และเมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียนก็สามารถเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนมัธยมของรัฐได้” ดร.นฤมลกล่าว