เปิดพิมพ์เขียวปฏิรูปการศึกษาฉบับ สปช. ทลายกำแพงอำนาจแบบรวมศูนย์ของ ศธ.

เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ โฆษกกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้แถลงเรื่องที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ได้นำเสนอร่างรายงานยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนามนุษย์ ต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อขอรับฟังความคิดเห็นทั่วไปก่อนไปจัดทำรายละเอียดมานำเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อขอความเห็นชอบอีกครั้งว่า หลักการของการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลต่อชีวิตคนทั้งประเทศ และต่ออนาคตของสังคมไทย จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ทั้งระบบ เพื่อสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพให้แก่ประเทศในอนาคตที่จะแข่งขันทางเศรษฐกิจสูง และต้องสร้างความมั่นคงทางสังคมไปพร้อมกัน โดยวางเป้าหมายการพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนไทยทั้ง 70 ล้านคน ให้เป็นกำลังในการพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในอนาคต

สาระสำคัญการปฏิรูปที่เน้นการแก้ปัญหาที่ต้อตอ คือ ระบบอำนาจแบบรวมศูนย์ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ขาดทั้งธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อผลการจัดการศึกษา โดยแผนยุทธศาสตร์ที่นำเสนอจะเน้นการกระจายอำนาจเป็นหัวใจควบคู่การปฏิรูปที่เป็นคานงัดสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1) การปฏิรูประบบการบริหารจัดการที่มุ่งกระจายอำนาจสู่ฐานพื้นที่จังหวัด ท้องถิ่น และสถานศึกษา โดยจะผลักดันให้มีเครือข่ายสมัชชาพลเมืองทุกพื้น ที่ร่วมสนับสนุนและตรวจสอบธรรมาภิบาลการจัดการศึกษาทุกระดับ 2) การปฏิรูประบบการเงินการคลัง ที่มุ่งกระจายงบประมาณการศึกษาลงสู่ผู้เรียนและสถานศึกษาโดยตรง ที่จะปูทางไปสู่ระบบการประกันโอกาสการศึกษาเช่นเดียวกับระบบประกันสุขภาพของประเทศ

และ 3) การปฏิรูประบบการเรียนรู้ ที่เน้นทั้งการปฏิรูปหลักสูตรกระบวนการเรียนรู้จากชีวิตจริง เพื่อการเรียนที่มีความหมาย ใช้ประโยชน์ได้ในการใช้ชีวิต และการทำงานตามบริบทของพื้นที่ โดยเน้นเรื่องการปฏิรูประบบการผลิตพัฒนาครู ซึ่งความคาดหวังของประชาชนจากการปฏิรูปครั้งนี้ คือต้องการการศึกษาที่ดี มีคุณภาพ และเท่าเทียม ซึ่งในปัจจุบันมีการก่อตั้งสภาการศึกษาจังหวัดนำร่องขึ้นแล้วในพื้นที่ 15 จังหวัด ที่เริ่มมีการออกแบบการศึกษาที่เหมาะสมกับจังหวัดของตนเอง

ทั้งนี้ ดร.อมรวิชช์ กล่าวด้วยว่า จากการอภิปรายอย่างกว้างขวางของสมาชิก สปช. ส่วนใหญ่เห็นด้วยต่อแนวคิดการปฏิรูปที่คณะกรรมาธิการฯนำเสนอ โดยเฉพาะเป้าหมายการจัดการศึกษาตลอดชีวิตแก่คนไทยทุกช่วงวัย นำหลักศาสนาและคุณธรรม จริยธรรมมาเป็นหลักในการออกแบบการเรียนรู้ใหม่ด้วย นอกจากนี้ สมาชิก สปช.จำนวนมากเน้นย้ำเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในโอกาสผ่านวิธีการจัดสรรงบประมาณใหม่แก่ผู้เรียน การพัฒนาครูรุ่นใหม่และครูประจำการให้เป็นครูชั้นยอด ที่สามารถทุ่มเทเวลาให้แก่การสอนอย่างเต็มที่ การพัฒนาสื่อการเรียนรู้สมัยใหม่แก่ผู้เรียน การแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กในชนบท การพัฒนาเด็กเล็ก ตลอดจนการทุ่มเทพัฒนาการเรียนสายอาชีพร่วมกับเอกชนอย่างจริงจัง

ดร.อมรวิชช์ กล่าวอีกว่า ในการอภิปรายยังได้มีการเสนอประเด็นสำคัญเกี่ยวกับระบบและกลไกที่จะเป็นคานงัดการปฏิรูป โดยเฉพาะการมีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ ขึ้นมากำกับกระบวนการปฏิรูปการศึกษา การปรับเปลี่ยนบทบาทและอำนาจรัฐในการกระจายอำนาจและการวางระบบงบประมาณการศึกษาใหม่ ตลอดจนการผลักดันกองทุนสนับสนุนการปฏิรูป และหน่วยงานอิสระหลายหน่วยให้เตรียมพร้อมรับภารกิจต่างๆ ได้แก่ การวิจัยระบบการศึกษา การพัฒนาเครือข่ายสมัชชาการศึกษาภาคพลเมือง ตลอดจนการหนุนเสริมการทำงานของสภาการศึกษาจังหวัด ที่มีองค์กรอย่างสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ขับเคลื่อนอยู่แล้ว และกำลังรอการผลักดันร่าง พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมคุณภาพการเรียนรู้ พ.ศ. ... ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมทั้งร่าง พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ซึ่งจะเป็นกองทุนสำคัญอีกกองทุนหนึ่งด้วย