หนังสือเรียนขึ้นราคา มิติลี้ลับที่ต้องจับตา

 


 

ร้อนฉ่ากันมาตลอดสัปดาห์เต็มเมื่อ สำนักข่าวการศึกษา สยามเอ็ดดูนิวส์ (siamedunews.com) เปิดประเด็นมีสำนักพิมพ์เอกชนผลิตหนังสือเรียนหลายแห่ง แห่ปรับขึ้นราคาหนังสือเรียนกันแล้วหนีไม่พ้นพ่อ แม่ ผู้ปกครองที่มีลูกหลานเรียนกำลังอยู่ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ในปีการศึกษา 2558 ต้องควักกระเป๋ารับภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อหนังสือเรียนเพิ่มขึ้นทั้งๆที่ เลขาธิการกพฐ.ที่ ชื่อ กมล รอดคล้าย ทำหนังสือขอความร่วมมือจากสำนักพิมพ์เอกชน ให้ตรึงราคาหนังสือเรียนเท่ากับปีที่ผ่านมาก็ตาม

ตามด้วยผู้บริหารสำนักพิมพ์แบบเรียนเอกชนใหญ่รายหนึ่งยืนยันว่าการขึ้นราคาหนังสือเรียนเป็นเรื่องปกติทำได้อยู่แล้ว โดยไม่มีกฎหรือระเบียบข้อใดของ สพฐ.จะมาห้าม เพราะเป็นไปตามกำหนดกรอบเวลา 5 ปี หลังได้ผลิตหนังสือเรียนออกมาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 จำเป็นจะต้องปรับปรุงเนื้อหาใหม่ให้ทันสมัยตรงกับสถานการณ์ปัจจุบัน

จากการเกาะติดของสำนักข่าวการศึกษา สยามเอ็ดดูนิวส์เบื้องต้นพบว่า มีสำนักพิมพ์ใหญ่ที่ครองพื้นที่การตลาด 4 แห่ง จากจำนวน 17 แห่ง ขอปรับเพิ่มราคาจำหน่าย แบบเรียนทั้งหมดประมาณ 50 รายการ จากต่ำสุดขอเพิ่ม 2 บาท สูงสุดขอเพิ่ม 26 บาทราคาปกเดิม 47 บาท ขึ้นเป็น 59 บาท บ้างเปลี่ยนจากฉบับขาวดำเป็นแบบเรียนสี่สี บ้างเพิ่มจำนวนหน้าจาก 228 หน้า เป็น 246 หน้า จากราคา 105 บาท เป็น 115 บาท

ดูจะเป็นการง่ายเกินไปที่สพฐ.อ้างถึงการไร้อำนาจในการคุมราคา เพราะเป็นสื่อเสรีทำได้เพียงขอความร่วมมือจากสำนักพิมพ์ดังกล่าวช่วยตรึงราคาหนังสือเรียนเท่านั้น หากยืนยันขึ้นราคาหนังสือก็จะส่งผลให้เสียเปรียบเอง เพราะโรงเรียนจะเลือกซื้อหนังสือสำนักพิมพ์อื่นที่มีราคาถูกซึ่งอยู่ในวงเงินงบประมาณ นั่นคงมิใช่

เพราะการขอขึ้นราคาหนังสือเรียนทุกระดับชั้นในการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือค่าหนังสือเสริมประสบการณ์ในการศึกษาปฐมวัย เป็นสิ่งที่ห้ามกันไม่ได้กับความจริงที่ต้องยอมรับไม่ช้าก็เร็ว จึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวอีกต่อไป หากเรามีกลไกหรือเครื่องมือเตรียมพร้อมที่จะรับมืออย่างเต็มศักยภาพเพื่อให้นักเรียนมีหนังสือใช้เรียนครบทุกคน

เมื่อดูถึงระเบียบหรือแนวทางในการคัดเลือกหนังสือเรียนที่สพฐ.เองนั่นแหละที่กำหนดไว้ชัดเจนถึง นอกจากครูผู้สอนเป็นผู้คัดเลือกหนังสือเรียนเองแล้ว ยังต้องเสนอผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการฝ่ายวิชาการภาคี 4 ฝ่าย และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานผู้แทนครู ผู้แทนผู้ปกครอง ผู้แทนชุมชนและผู้แทนกรรมการนักเรียนด้วย

แม้กระทั่งการจัดซื้อหนังสือเรียนสามารถทำได้ทั้งการตกลงราคา การสอบราคา การประกวดราคา และวิธีพิเศษ นี่ก็เป็นแครื่องมือสำคัญ

แต่เท่าที่รู้กันในวงการ ระเบียบหรือแนวทางนั้นเป็นเพียงตัวหนังสือกำกับ แต่พฤติกรรมในการใช้อำนาจในการตัดสินใจนั้นอยู่ที่ผู้บริหารสูงสุดของสถานศึกษาและครู ผ่านตัวแทนที่นั่งอยู่ในคณะกรรมการฯนี่คือ จุดอ่อน ที่ทำให้เกิดความอ่อนแอ

ทั้งๆที่ผู้แทนผู้ปกครอง ผู้แทนชุมชนและผู้แทนกรรมการนักเรียน นั้นน่าจะเป็นองค์ประกอบที่ทำให้ได้สิ่งที่เรียกว่าคุณภาพที่แท้จริง กลับกลายเป็นกระบวนการทำให้ให้เกิดความน่าเชื่อถือ ถามว่ามีสถานศึกษาในประเทศนี้สักกี่แห่งได้ทำตามหลักการที่ว่านี้อย่างเข้มข้นและจริงจัง

นอกจากนี้ ผู้บริหารองค์กรในกระทรวงศึกษาธิการเอง ยังขาดเอกภาพในการที่จะก้าวเข้ามาร่วมคิดร่วมแก้ปัญหา ยังลักษณะต่างคนต่างอยู่ ทั้งๆที่ตกอยู่ในสภาพปัญหาเดียวกัน ดูจากการให้สัมภาษณ์ ของ ดร.สุทธศรี วงศ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กรณีที่สำนักพิมพ์เอกชนบางแห่งได้ขอปรับขึ้นราคาหนังสือนั้น ตนเองไม่ทราบว่ามีสำนักพิมพ์เอกชนใดบ้างที่ขอปรับขึ้นราคา นี่คือ ความน่าแปลกใจระดับนี้ไม่ทราบได้อย่างไร

แถมเจ้าตัวออกมารับลูกเกาะกระแสรู้สึกเห็นใจโรงพิมพ์องค์การค้า สกสค.ที่มีการตรึงราคามานานนับ 10 ปีแล้ว แต่ก็ไม่มีโอกาสได้ปรับราคาขึ้น ทั้งที่บางรายการต้นทุนขยับเพิ่มทุกปี ดังนั้นอาจต้องให้ความเป็นธรรมแก่องค์การค้าฯในเรื่องนี้ด้วยหากเขาจะขอปรับราคาเพิ่มขึ้น ไม่เช่นนั้นเขาก็คงอยู่ไม่ได้เช่นกัน

ข้ออ้างของสำนักพิมพ์เอกชน ได้ยกอ้างถึงราคากระดาษที่เป็นต้นทุนหลักและปัจจัยราคาน้ำมันโลกก่อนหน้านี้เช่นกันเป็นเหตุทำให้เกิดต้นทุนสูง ทนแบกภาระต่อไปไม่ไหว

จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เมื่อหันมาพิจารณาถึงช่วงเวลาที่สถานศึกษาส่งใบรายการสั่งซื้อหนังสือให้ร้านค้า ภายในปลายเดือนมีนาคม 2558 เท่ากับสำนักพิมพ์สามารถคำนวณต้นทุนกำไรจากยอดพิมพ์ได้อยู่แล้ว

อีกทั้งการอ้างถึงปรับปรุงเนื้อหาใหม่ให้ทันสมัยนั้น เบื้องต้นทางสพฐ.คงต้องดูกันถึงรายละเอียดกันมีการเพิ่มเนื้อหา รวมถึงจำนวนหน้า การจัดองค์ประกอบ กระดาษที่ใช้พิมพ์ตั้งแต่ปกถึงเนื้อใน ภาพประกอบพิมพ์สี่สีหรือขาวดำ ตลอดตัวเลขจำนวนพิมพ์จริงๆสอดคล้องกับยอดสั่งจองหรือไม่ 

ถามว่าปัจจุบันนี้  มีสักคนไหมในสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ.ที่รู้จริง รู้ทันพอจะต่อกรสำนักพิมพ์เอกชนในเรื่องที่ยกกล่าวได้

อย่างไรก็ตาม การขึ้นราคาแบบเรียนด้วยการอ้างถึงปรับปรุงเนื้อหาใหม่ให้ทันสมัยนั้น เบื้องต้นทางสพฐ.คงต้องดูกันถึงรายละเอียดกันมีการเพิ่มเนื้อหา รวมถึงจำนวนหน้า การจัดองค์ประกอบ กระดาษที่ใช้พิมพ์ตั้งแต่ปกถึงเนื้อใน ภาพประกอบ ระบบพิมพ์สี่สีหรือขาวดำ ตลอดตัวเลขจำนวนพิมพ์จริงๆสอดคล้องกับยอดสั่งจองหรือไม่เพราะจำนวนพิมพ์ที่สูงจะมีความสัมพันธ์ทำให้ต้นทุนถูกลง

และขณะนี้ อะไรไม่สำคัญเท่าสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ.ก็ได้นำรายชื่อหนังสือเรียนที่ขึ้นราคาออกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของสำนักวิชาการฯ เพื่อให้สถานศึกษาต่างๆ เข้ามาดูและใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาเลือกซื้อหนังสือเรียนไปแล้ว

จนถึงวันนี้แล้วก็ยังไม่มีการเอาลง ยังคาตาคาใจชาวบ้านอยู่อย่างนั้น แล้วสำนักพิมพ์เอกชน ผู้อำนวยการโรงเรียนและครู ในฐานะผู้ต้องนำไปสู่การปฏิบัติจะไม่สับสนได้อย่างไงว่า

จะให้ขึ้นราคาหนังสือเรียนหรือไม่ให้ขึ้นราคากันแน่