งามไส้! คุณภาพบุคลากรสพฐ. สอบชิง”รอง-ผอ.”ร.ร.ตกระนาว
  • 2 June 2020 at 00:40
  • 224
  • 0


จากที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ (ผอ.) สถานศึกษา และรอง ผอ.สถานศึกษา โดยจัดสอบข้อสอบภาค ก.ของส่วนกลาง ซึ่งออกโดยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ประสานมิตร และสอบ ภาค ข. ซึ่งดำเนินการจัดสอบโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ที่มีอัตราว่างบรรจุและแต่งตั้งทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 14-15 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่ง “สำนักข่าวการศึกษา สยามเอ็ดดูนิวส์” ได้ติดตามผลการสอบมานำเสนอ โดยในตำแหน่งรอง ผอ.สถานศึกษา เปิดสอบบรรจุและแต่งตั้ง 1,353 ตำแหน่ง มีผู้มีสิทธิ์เข้าสอบคัดเลือก 6,129 คน และตำแหน่ง ผอ.สถานศึกษา เปิดสอบบรรจุและแต่งตั้ง 2,904 ตำแหน่ง มีผู้มีสิทธิ์เข้าสอบคัดเลือก 15,834 คน ผลปรากฏว่า สอบตกกันระนาวในทุกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ทั้งสังกัด สพป. และสพม. โดยเฉพาะข้อสอบภาค ก. ทำให้เขตพื้นที่การศึกษาจำนวนมากไม่ได้คนที่สอบผ่านมาเป็น ผอ.และรอง ผอ.สถานศึกษาได้ครบตามจำนวน เฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีสถานศึกษาว่างอัตรา ผอ.และ รอง ผอ.เป็นจำนวนมาก อย่าง จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์ รวมถึง จ.สระบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.นนทบุรี เช่นที่ สพป.นนทบุรี เขต 1 เปิดสอบบรรจุและแต่งตั้งตำแหน่งรอง ผอ.สถานศึกษา 10 ตำแหน่ง แต่มีคนสอบผ่านแค่ 2 คน ส่วนตำแหน่ง ผอ.สถานศึกษา เปิดสอบบรรจุและแต่งตั้ง 3 ตำแหน่ง แต่ไม่มีคนสอบผ่านเลย เช่นเดียวกับ สพป.นนทบุรี เขต 2 ที่เปิดสอบบรรจุและแต่งตั้ง ผอ.สถานศึกษา แต่ก็ไม่มีผู้ที่สอบผ่านเช่นกัน

“สำนักข่าวการศึกษา สยามเอ็ดดูนิวส์” ได้รับการบอกกล่าวจากผู้เข้าสอบในทำนองว่า ข้อสอบภาค ก.ที่ออกโดย มศว ประสานมิตรค่อนข้างยาก เน้นคำตอบเชิงคิดวิเคราะห์ เช่น คิดว่าคำตอบข้อ ก น่าจะถูกแล้ว แต่คำตอบข้อ ค ยังถูกต้องกว่าอีก เป็นต้น รวมทั้งมีการออกข้อสอบความรู้รอบตัวในสถานการณ์ปัจจุบันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเรื่องการเมือง เช่น คำถามเกี่ยวกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นอกจากนี้ ยังมีข้อสอบเป็นภาษาอังกฤษ 10 ข้อด้วย นัยว่าเพื่อต้อนรับเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในช่วงเดือนธันวาคม ปี 2558 นี้ ผู้เข้าสอบส่วนใหญ่จึงทำไม่ได้

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจําคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเคยศึกษาวิเคราะห์ข้อสอบของจุฬาฯ และ มศว ประสานมิตร ที่เคยใช้ทดสอบบุคลากรของ สพฐ.กล่าวยอมรับว่า ข้อสอบที่ใช้ทดสอบบุคลากรของ สพฐ.ค่อนข้างจะยากจริง แต่ก็อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานความยากง่ายของข้อสอบ และอาจจัดว่าอยู่ในเกณฑ์ระดับค่อนข้างต่ำด้วยซ้ำ เพราะเกณฑ์ความยากง่ายของข้อสอบแข่งขันนั้น คนที่สอบผ่านจะได้ระดับคะแนน 70% ขึ้นไป แต่เกณฑ์สอบบรรจุและแต่งตั้ง ผอ.และรอง ผอ.สถานศึกษาครั้งนี้ ตั้งเกณฑ์คะแนนสอบผ่านไว้แค่ 60% เท่านั้น จึงสะท้อนคุณภาพบุคลากรของ สพฐ.ไม่สู้จะดีนัก ตนไม่อยากใช้คำว่าอ่อน แต่ชี้ให้เห็นว่าบุคลากรของ สพฐ.ขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ และขาดการศึกษาความรู้รอบตัวเพิ่มเติม เฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน จึงสะท้อนให้เห็นไปถึงคุณภาพนักเรียนเกือบทั้งหมดที่สอบตกแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่ง
ชาติ (สทศ.) ที่ออกข้อสอบเชิงคิดวิเคราะห์เช่นกัน ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ สพฐ.จะเอาจริงเอาจังกับการพัฒนาบุคลากรในด้านองค์ความรู้ให้มาก ไม่ใช่ทำแต่เรื่องการปรับโครงสร้างหน่วยงาน หรือการเข้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น ไม่เช่นนั้น คุณภาพการศึกษาของไทยจะล้าหลังที่สุดในอาเซียน ซึ่งทุกวันนี้ก็แพ้ลาว และกัมพูชาไปแล้ว
ด้าน ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยผลการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผอ.สถานศึกษา และรอง ผอ.สถานศึกษาที่เพิ่งจัดสอบเสร็จสิ้นไปว่า มีผู้สอบผ่านไม่ครบตามจำนวนที่เปิดรับบรรจุและแต่งตั้ง โดยตำแหน่งรอง ผอ.สถานศึกษา เปิดรับบรจุและแต่งตั้ง 1,353 ตำแหน่ง มีผู้มีสิทธิ์เข้าสอบคัดเลือก 6,129 คน แต่สอบผ่านภาค ก.เพียง 1,518 คน ส่วนตำแหน่ง ผอ.สถานศึกษา เปิดรับบรรจุและแต่งตั้ง 2,904 ตำแหน่ง มีผู้มีสิทธิ์เข้าสอบคัดเลือก 15,834 คน แต่สอบผ่านภาค ก.แค่ 2,299 คน ยังขาดอีก 605 ตำแหน่ง รวมผู้เข้าสอบทั้ง 2 ตำแหน่ง จำนวน 21,963 คน แต่มีผู้สอบผ่านภาค ก.เพียง 3,817 คน คิดเป็นร้อยละ 17.38 เท่านั้น จากที่ สพฐ.ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีผู้สอบผ่าน ร้อยละ 20 ดังนั้น ตำแหน่งที่ยังเหลือจะมีการเปิดสอบบรรจุและแต่งตั้งครั้งใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2558