ฤาครูยุคนี้...จะโยนภาระให้ผู้ปกครอง?

 

เสวนากับบรรณาธิการ


ผมได้ยินได้ฟังเสียงเล่าขานมาจากบรรดาพ่อ แม่ ผู้ปกครองหลายราย จนอดใจที่จะมาเล่ามาแชร์ข้อเท็จจริงและความคิดเห็นกันไม่ได้ ว่าด้วยพฤติกรรมของคุณครูสมัยนี้ครับ ย้ำว่าน่าจะเป็นเพียงครูส่วนน้อยและในบางโรงเรียนเท่านั้นครับ

ที่ผมฟังมาจากผู้ปกครองหลายคน ท่านว่าส่วนใหญ่เป็นคุณครูในโรงเรียนเอกชนครับ ขยันให้การบ้านเป็นโครงงานกับลูกศิษย์ในวิชาต่างๆ โดยเฉพาะวิชาวิทยาศาสตร์ ให้เด็กๆ แค่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 ไปทำโครงงานกลุ่มละ 6-7 คนที่บ้าน

คราวนี้ก็เดือดร้อนมาถึงพ่อ แม่ ผู้ปกครองกันละสิครับ เพราะคุณครูท่านสั่งงานเรียกว่าเกินกำลังเด็กก็ว่าได้ ทั้งทำรายงาน รูปเล่ม แถมบางรายวิชายังให้ทำพาวเวอร์พ้อยท์ในเครื่องคอมพิวเตอร์ มิหนำซ้ำคุณครูบางโรงเรียนเล่นสั่งงานกลุ่มให้เหล่าลูกศิษย์ไปทำกันที่บ้านเดือนละ 2-3 วิชา

เสียงบ่นประการสำคัญแรก คือ งานกลุ่มที่สั่งเกินกำลังเด็กๆ สุดท้ายผู้ปกครองก็ต้องมาทำให้ เรียกว่าลูกศิษย์ของคุณครูแทบไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย

ประการที่สอง นอกจากเกินกำลังเด็กแล้ว นักเรียนวัยป.5-6 เป็นวัยที่ชอบเล่น ชอบสนุกสนาน ยิ่งมาให้รวมกลุ่มกันที่บ้านผู้ปกครองคนใดคนหนึ่ง ก็แน่นอนครับว่า คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองบ้านนั้นย่อมจะปวดเศียรเวียนเกล้า เพราะทั้งต้องคอยดูแลเด็กๆ ที่วิ่งเล่นกันไม่ให้เกิดอันตราย แล้วยังต้องมาช่วยลูกและเพื่อนๆ ทำโครงงานกลุ่มให้เสร็จตามที่คุณครูสั่งมา ไม่อย่างนั้นลูกหลานตัวเองก็จะพลอยไม่ได้คะแนนเก็บไปด้วย

ประการที่สาม ในเมื่อสภาพการณ์ของพ่อ แม่ ผู้ปกครองเป็นเยี่ยงนั้นแล้ว ก็ย่อมจะเกิดอาการเกี่ยงงอนกับพ่อ แม่ ผู้ปกครองของเพื่อนๆ ลูก ให้รับภาระอันหนักอึ้งดังกล่าวนี้ไปบ้าง พ่อ แม่ ผู้ปกครองบางรายที่เข้าใจก็พอกล้อมแกล้มช่วยกันไปได้บ้าง แต่ในรายที่อ้างแต่ภารกิจของตัวเอง “ไม่ว่างๆ” ก็จะออกอาการคิดแหนงแคลงใจ พาลจะทะเลาะกันก็มี

ประการที่สี่ มีคำถามกลับไปยังคุณครูที่สั่งงานว่า เหตุไฉน? คุณครูถึงไม่จัดชั่วโมงทำโครงงานกลุ่มให้กับบรรดาลูกศิษย์ทำเสียที่โรงเรียน เพราะนอกจากที่โรงเรียนจะเพียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์การเรียนการสอน โดยเฉพาะห้องคอมพิวเตอร์แล้ว ยังมีคุณครูเองที่จะคอยสอนในสิ่งที่ลูกศิษย์ทำไม่ได้ ไม่ใช่โยนภาระในสิ่งที่พ่อ แม่ ผู้ปกครองไม่รู้ จะต้องไปขวนขวายให้รู้ให้ได้ ทั้งที่มีภาระการงานและงานบ้านต้องคอยดูแลจนแทบจะไม่มีเวลากันอยู่แล้ว 

ฟังเสียงบ่นจากพ่อ แม่ ผู้ปกครองหลายรายที่หยิบยกมาเล่าสู่กันเพียงแค่ตัวอย่างเท่านี้ ท่านผู้อ่านคิดเห็นกันอย่างไรบ้างครับ??

ถ้าเป็นข้อเท็จจริงดังว่า ก็น่าเหนื่อยแทนพ่อ แม่ ผู้ปกครองเหล่านี้เหมือนกันนะครับ !!

ผมว่า คุณครูเองก็น่าจะลองทบทวนวิธีการเรียนการสอนของตัวเองว่า เดินมาถูกทางแล้วหรือยัง? หรือระดับผู้บริหารโรงเรียนก็น่าจะมีการติดตามกระบวนการเรียนการสอนของคุณครูในโรงเรียนตัวเองดูบ้างนะครับ เพื่อให้บรรดาลูกศิษย์ได้รับความรู้กันอย่างเต็มที่ และเรียนรู้ไปอย่างสนุกสนาน ไม่เบื่อหน่าย

อย่าไปหวังกับระบบศึกษานิเทศก์ (ศน.) ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา หรือที่เรียกชื่อย่อว่า “สพป.” ทั่วประเทศ กันเลยครับ! ว่าจะคอยเป็นพี่เลี้ยงนิเทศ ติดตามและคอยแนะนำกระบวนการเรียนการสอนของคุณครูทั้งในโรงเรียนรัฐและเอกชนให้เดินไปถูกทิศถูกทาง โดยเฉพาะในโรงรียนเอกชน เพราะผมมักจะได้ยินได้ฟังจากคนใน สพป.อยู่บ่อยๆ ครับว่า ศึกษานิเทศก์ไม่มีงบฯเบี้ยเลี้ยง ค่าน้ำมันรถ ให้ออกไปนิเทศติดตามในโรงเรียนต่างๆ ได้หรอกครับ

ฟังแล้วก็หดหู่นะครับว่า คุณครูในประเทศนี้แทบไม่มีใครมาคอยช่วยดูแล ตรวจสอบ และชี้แนะชี้นำกระบวนการเรียนการสอนที่ถูกต้อง ที่จะทำให้บรรดาลูกศิษย์ได้รับความรู้กันอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

นั่นสิครับ!! ผมถึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมนโยบายการเรียนการสอนแบบการเน้นเด็กเป็นสำคัญ หรือ Child Center ของนักการศึกษาในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ก่อนหน้านี้ ถึงได้ล้มไม่เป็นท่า และเงียบหายไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ??